#1
|
||||
|
||||
![]()
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓ วันนี้มีผู้ถามปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติ ซึ่งก็คือการภาวนา ว่าจะจับเฉพาะลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว หรือว่าจะใช้คำภาวนาไปด้วย
เรื่องนี้จะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องของพื้นฐานเบื้องต้นในการปฏิบัติธรรมของเรา กองกรรมฐานแรกเลยที่เราจะใช้ในการปฏิบัติธรรมก็คือ อานาปานสติ การระลึกถึงลมหายใจเข้าออก คราวนี้การระลึกถึงลมหายใจเข้าออกของเรานั้น เราจะนึกเฉพาะลมหายใจ..ไหลเข้าไปจนสุด..ไหลออกมาจนสุดก็ได้ หรือถ้าสภาพจิตของเรามีความฟุ้งซ่าน นึกถึงลมหายใจอย่างเดียว สภาพจิตจะเผลอไปคิดถึงเรื่องอื่นได้ง่าย ก็ให้ใช้ลมหายใจเข้าออกควบกับคำภาวนา อย่างเช่นคำว่าพุทโธ เป็นต้น หายใจเข้า..พุท..ลมหายใจเข้าไปพร้อมกับคำภาวนาจนสุด หายใจออก..โธ..ลมหายใจไหลออกมาพร้อมกับคำภาวนาจนสุด หรือถ้าใช้ลมหายใจเข้าออกควบกับคำภาวนาแล้ว เรายังสามารถที่จะฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อื่นได้ง่าย ท่านก็ให้จับจุดกระทบของลม เพื่อเพิ่มงานให้แก่จิตให้มากขึ้นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจับลมหายใจเข้าออกพร้อมกับคำภาวนา แล้วดูฐานการกระทบของลมจุดเดียวบ้าง ๓ จุดบ้าง ๗ จุดบ้าง หรือถ้าบุคคลที่มีจิตละเอียดก็รู้ตลอดกองลมหายใจเข้า กองลมหายใจออกบ้าง ซึ่งสิ่งทั้งหลายเหล่านี้นั้น ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานการปฏิบัติธรรมของแต่ละคน ถ้ามีความชำนาญน้อยก็ใช้แค่ลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว ถ้าเริ่มมีความชำนาญมากขึ้น ก็ตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออกพร้อมกับคำภาวนา มีความชำนาญมากขึ้นไปอีกก็ดูลมหายใจเข้าออกพร้อมคำภาวนา และดูฐานกระทบของลมไปด้วย ยิ่งต้องดูฐานกระทบของลมมากเท่าไร สภาพจิตของเราก็ต้องระมัดระวังให้มากขึ้นเท่านั้น ก็จะทำให้จิตของเราสงบอยู่เบื้องหน้าได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-10-2020 เมื่อ 22:01 |
สมาชิก 32 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
![]()
เรื่องของลมหายใจเข้าออกนั้น เป็นพื้นฐานใหญ่ของกองกรรมฐานทั้งปวง ไม่ว่าท่านตั้งใจจะปฏิบัติในกรรมฐานกองใดก็ตาม ถ้าขาดลมหายใจเข้าออกเสียแล้ว อย่างดีที่สุดเราก็จะได้แค่ปฐมฌานหยาบเท่านั้น เพราะว่าเป็นการคิดพิจารณา จนกำลังใจของเรากลายเป็นสมถภาวนา ก็คือทรงการภาวนาได้เองโดยอัตโนมัติ
แต่ถ้าหากว่ามีการควบกับลมหายใจเข้าออก คืออานาปานสติ เราก็สามารถทำกองกรรมฐานนั้นให้เข้าถึงฌาน ๔ ซึ่งมีความมั่นคงแน่นอนในการกดกิเลส และสามารถใช้กำลังฌาน ๔ ไปตัดละกิเลสได้ง่ายกว่า หรือถ้าท่านที่มีความคล่องตัวมาก ๆ ก็ทำประกอบกองกสิณด้วย ก็เพิกภาพกสิณเสีย แล้วก็ใช้การภาวนาประกอบการพิจารณาในส่วนของอรูปฌาน สามารถยังสมาบัติ ๘ ให้เกิดขึ้นได้ง่าย หากการภาวนาของเราไม่มีอานาปานสติ โอกาสที่การภาวนาจะไม่ประสบความสำเร็จก็มีมาก แต่ถึงแม้ว่าจะมีการภาวนาควบกับลมหายใจเข้าออกไปแล้ว บางทีสภาพจิตของเราก็ยังฟุ้งซ่านมาก ประสบความสำเร็จในการภาวนาได้ยาก ท่านก็ให้นับลมหายใจเข้าออกของเรา อย่างเช่นว่าหายใจเข้า..พุท ลมหายใจผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออก..โธ ลมหายใจออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก ถ้าเราไม่คิดอะไรเลยก็นับ ๑ ไว้ แล้วก็หายใจเข้า..พุท หายใจออก..โธ ดูฐานกระทบต่อไป ถ้าสภาพจิตไม่ฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่นในระหว่างนั้น ก็นับ ๒ ไว้ ตอนแรกก็ตั้งเป้าเอาแค่น้อย ๆ ก็คือลมหายใจเข้าออกสัก ๑๐ คู่เป็นประมาณ แต่ถ้าหากมีความฟุ้งซ่านขึ้นมาในระหว่างกลาง อย่างเช่นว่า อาจจะนับไปถึง ๕ ถึง ๖ แล้ว หรือว่าถึง ๗ ถึง ๘ แล้ว เผลอไปคิดเรื่องอื่นในระหว่างภาวนา ก็ให้ท่านทั้งหลายย้อนกลับมานับตั้งต้นที่ ๑ เสียใหม่ สภาพจิตของเราถ้าภาวนาแล้วโดนทรมานแบบนี้บ่อย ๆ ย้อนกลับมาตั้งต้นใหม่บ่อย ๆ รู้ว่าถ้าครบ ๑๐ โดยไม่ฟุ้งซ่านถึงจะเลิก ถ้าไม่ครบเราจะไม่เลิก สภาพจิตท้ายสุดก็จะยอมโอนอ่อนผ่อนตาม กลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออกของเราในที่สุด
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-10-2020 เมื่อ 22:06 |
สมาชิก 33 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
![]()
เมื่อสภาพจิตของเราสงบระงับแล้ว ก็ให้มาพินิจพิจารณาดูศีลทุกข้อของเรา ว่าบริสุทธิ์บริบูรณ์ดีหรือไม่ ? เรารักษาศีลทุกข้อได้แล้ว เรามีการยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีลหรือไม่ ? เรารักษาศีลทุกข้อได้ ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีลได้ เมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล เรามีจิตยินดีด้วยหรือไม่ ?
หลังจากนั้นมาพิจารณาดูว่า ตัวของเรานี้ก้าวเข้าไปหาความตายเป็นปกติ ถ้าหากว่าชีวิตนี้สิ้นสุดลงไป ไม่ว่าจะหมดอายุขัยก็ดี เกิดอุบัติเหตุอันตรายใด ๆ ถึงแก่ชีวิตก็ตาม เราก็จะขอไปพระนิพพานแห่งเดียว แต่การที่จะไปพระนิพพานให้ได้ง่ายนั้น ก็ต้องประกอบไปด้วยคุณพระรัตนตรัย ก็คือทำความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้แน่นแฟ้นจริงจัง ไม่ล่วงเกินทั้งต่อหน้าและลับหลัง แล้วก็น้อมจิตน้อมใจไปว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ในที่ใดเลยนอกจากพระนิพพาน เราอยู่กับพระองค์ท่าน เราภาวนานึกถึงพระองค์ท่าน ก็คือเราอยู่ที่พระนิพพาน ถ้าสามารถโยงกำลังใจของตนเข้าไปได้เช่นนี้ กำลังใจสุดท้ายของเรา ก็จะเกาะอยู่กับพระนิพพานได้ ในอันดับแรกนั้น การเกาะของเรา ก็คือเกาะในลักษณะของการเกาะความดี เมื่อสภาพจิตเคยชินกับความดี ถ้าทำไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งดีถึงที่สุดแล้ว สภาพจิตจะคลายจากการเกาะดีไปเอง เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็สามารถหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้ ลำดับต่อไปขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาหรือพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ วันเสาร์ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๓ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย คะน้า)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 30-10-2020 เมื่อ 01:06 |
สมาชิก 27 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
|
|