#1
|
||||
|
||||
เทศน์วันมาฆบูชา ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต ติ. ณ โอกาสบัดนี้ อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชนาในขันติกถา เพื่อเป็นเครื่องโสรจสรงองคศรัทธาบารมี ของบรรดาท่านทานิสสราธนบดีทั้งหลาย ที่พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันมาฆบูชา ณ วัดท่าขนุนแห่งนี้ ญาติโยมทั้งหลาย วันมาฆบูชานี้จัดเป็นวันที่สำคัญยิ่งวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา เนื่องจากว่าเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประกาศพระโอวาทปาติโมกข์ คำว่าโอวาทปาติโมกข์นั้น ก็คือโอวาทอันเป็นที่รวมหลักคำสอนของพระองค์ท่าน ทั้งในส่วนของอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการในพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเมื่อออกไปประกาศพระศาสนาแล้ว จะได้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน พระองค์ได้ทรงประกาศพระพุทธพจน์บทพระบาลี ดังที่ได้ยกขึ้นมาในเบื้องต้นว่า ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา เป็นต้น ซึ่งอาตมภาพขอแยกออกให้เห็นง่าย ๆ ว่า ในส่วนแรกนั้นคือ อุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา พระองค์ประกาศว่า ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา ความอดทนอดกลั้นนั้นเป็นตบะ (เครื่องเผากิเลส) อย่างยิ่งของนักปราชญ์ นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้รู้ทั้งหลายนั้น ต่างก็กล่าวถึงพระนิพพานว่า เป็นที่สุดแห่งธรรมด้วยกันทั้งสิ้น นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี ผู้ใดยังเข่นฆ่ากำจัดผู้อื่นอยู่ พระองค์ท่านไม่ทรงเรียกว่าผู้นั้นว่าบรรพชิต (ผู้ชนะตนเอง) สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต ผู้ใดยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ พระองค์ท่านไม่ทรงเรียกผู้นั้นว่าเป็นสมณะ (ผู้สงบและพ้นจากบาปแล้ว) เลย เหล่านี้แหละเป็นอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นเป้าหมายสูงสุด เป็นแนวทางของพระศาสนาของเรา ท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้านั้น ตรัสถึงขันติคือความอดทนอดกลั้นเป็นอันดับแรก ก็แสดงว่า การจะประสบความสำเร็จตามหลักของพระพุทธศาสนานั้น ไม่ว่าจะเป็นทางโลกก็ดี ทางธรรมก็ดี ท่านทั้งหลายต้องมีความอดทน อดกลั้น มาก่อนสิ่งใดทั้งหมด
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-05-2010 เมื่อ 03:31 |
สมาชิก 56 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
เช่นว่า ท่านทั้งหลายที่ยังศึกษาเล่าเรียนอยู่ ถ้าไม่มีความอดทน อดกลั้นแล้วไซร้ ก็ไม่สามารถที่จะศึกษาจนจบได้
ท่านทั้งหลายที่ทำการทำงานอยู่ ถ้าไม่มีความอดทน อดกลั้นที่จะต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบกระทั่งแล้ว ท่านก็ไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ในวงการนั้นได้ ท่านทั้งหลายที่ตั้งใจปฏิบัติธรรม เพื่อความสุขความสงบในชีวิต ถ้าไม่อดทนอดกลั้นต่อแรงกระทบของกิเลสต่าง ๆ ก็ไม่สามารถจะเกิดความสงบขึ้นมาได้ ท่านทั้งหลายที่ตั้งใจปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ถ้าปราศจากความอดทนอดกลั้นที่จะต่อสู้กับ รัก โลภ โกรธ หลง แล้ว ชีวิตนี้ก็ตายเสียเปล่า หาความดีไม่ได้ เป็นต้น ดังนั้น..เราจะเห็นได้ว่า อุดมการณ์สูงสุดของพระพุทธศาสนา เพื่อการเข้าถึงพระนิพพานนั้น พระพุทธเจ้าทรงยืนยันไว้ชัดเจน และกล่าวขึ้นเป็นสิ่งแรกว่า ท่านทั้งหลายจะต้องมีขันติ คือ ความอดทน เป็นเครื่องดำเนินชีวิตทั้งในทางโลกและทางธรรม จึงจะสามารถต่อสู้ฝ่าฟัน และยืนหยัดต่อต้านกระแสโลกได้ สามารถที่จะทวนกระแสโลก และข้ามกระแสโลกได้ในที่สุด ในส่วนต่อไป พระองค์ท่านได้ทรงตรัสถึงหลักการของพระพุทธศาสนา ไว้ว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง จงเว้นจากการทำความชั่วทั้งปวง ก็คือเว้นจากการทำชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กุสะลัสสูปะสัมปะทา ให้เราทั้งหลาย ทำความดีให้ถึงพร้อม คือทำความดีด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจเช่นกัน ในส่วนของการทำความชั่วด้วยกายเรียกว่า กายทุจริต ก็ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การดื่มสุราเมรัย เป็นต้น ในส่วนของการประพฤติชั่วด้วยวาจาเรียกว่า วจีทุจริต ได้แก่ การพูดโกหก การพูดคำหยาบ การพูดส่อเสียด และการพูดวาจาเหลวไหลไร้ประโยชน์ เป็นต้น ในส่วนของการประพฤติชั่วด้วยใจเรียกว่า มโนทุจริต ได้แก่ การที่โลภอยากได้ของเขาจนเกินพอดี การโกรธเกลียดอาฆาตพยาบาทผู้อื่น ไม่รู้จักแล้วไม่รู้จักเลิกก็ดี ตลอดจนกระทั่งการมีความเป็นมิจฉาทิฐิ ไม่เห็นความดีในสิ่งที่พระพุทธเจ้าสั่งสอน สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เรียกรวมกันว่า มโนทุจริต ก็คือความชั่วทางใจ ท่านทั้งหลายจำเป็นที่จะต้องละเว้นทั้งหมด ตามพระบาลีที่ว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง สัพพะ คือทั้งหมด ปาปัสสะ คือความชั่ว ต้องละเว้นจากการกระทำความชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-05-2010 เมื่อ 14:21 |
สมาชิก 54 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
หลังจากนั้นก็ให้ปฏิบัติใน กุสะลัสสูปะสัมปะทา ทำความดีให้ถึงพร้อม กุศล แปลว่า ความดี ความฉลาด เราต้องฉลาดจึงจะรู้จักทำความดี ท่านให้ทำความดีด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เช่นกัน
ทำความดีด้วยกายเรียกว่า กายสุจริต คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม และเว้นจากการดื่มสุราเมรัย เป็นต้น การทำความดีด้วยวาจา เรียกว่า วจีสุจริต ก็คือการไม่พูดโกหก ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด และไม่พูดวาจาไร้ประโยชน์ ถ้าท่านสามารถทำได้ครบทั้ง ๔ อย่างนี้ ก็เรียกว่าท่านทำความดีทางวาจา เป็นวจีสุจริตครบถ้วนแล้ว ในส่วนของการทำความดีทางใจนั้น ท่านเรียกว่า มโนสุจริต ได้แก่ การไม่คิดโลภอยากได้ของเขาจนเกินพอดี ถ้าหากว่าอยากได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็หามาให้ถูกต้องตามตามศีลตามธรรม ไม่ไปหยิบฉวย ลักขโมย ช่วงชิง ล่อลวงใครเขามา การไม่คิดโกรธเกลียดอาฆาตพยาบาทคนอื่น ความโกรธมีได้เป็นธรรมดา แต่โกรธแล้วอย่าผูกโกรธ พ้นจากตรงนั้นไปแล้วก็ลืมให้เสีย จะได้ไม่เอาไฟมาเผาใจตัวเอง บางท่านแม้กระทั่งลูกหลานตัวเองก็โกรธ โกรธแล้วเห็นหน้าเมื่อไรก็ไม่สบายใจเมื่อนั้น บุคคลที่โกรธนั้นเป็นผู้ที่มีมโนทุจริต พระพุทธเจ้าท่านไม่สรรเสริญ พระองค์ท่านให้ปฏิบัติในมโนสุจริต ก็คือทำความดีทางใจ ด้วยการไม่โกรธ เกลียด อาฆาต พยาบาทคนอื่น และให้มีสัมมาทิฐิ คือให้เห็นว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนั้นดีแล้ว ถูกแล้ว พระองค์สอนให้ปฏิบัติในทาน ในศีล ในภาวนา ในความดี ปฏิบัติเมื่อไรเราก็ได้ความดีเมื่อนั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนเพื่อความสุขของเราแท้ ๆ ไม่ได้สอนเพื่อใครเลย พระองค์ท่านสอนเอาไว้ว่า ถ้าเราไม่อยากให้ใครมาฆ่าเรา เราก็ไม่ควรจะไปฆ่าใคร ไม่อยากให้ใครมาลักขโมยของ ๆ เรา เราก็ไม่ควรไปลักขโมยของ ๆ ใคร ไม่อยากให้ใครมาแย่งคนที่เรารัก ของที่เรารัก เราก็อย่าไปแย่งของรักของใคร ไม่อยากให้ใครมาพูดเรื่องโกหกมดเท็จ เราก็อย่าไปโกหกหลอกลวงใคร อยากมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ก็อย่าดื่มสุรา อย่าใช้ยาเสพย์ติด เป็นต้น สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ถ้าเราทำได้เมื่อไร เราจะเป็นคนที่มีเสน่ห์มาก เพราะว่าเพื่อนฝูงตลอดจนคนทั่วไป รู้ว่าเราไปเป็นคนดี ก็ให้ความรัก ความเชื่อถือ ไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็เป็นผู้ที่บุคคลอื่นเขายินดีต้อนรับ ก็แปลว่าท่านทั้งหลายจะมีความสุขในปัจจุบันนี้
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 19-05-2010 เมื่อ 02:47 |
สมาชิก 50 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
ประโยชน์ต่อไปนั้นเป็นความสุขในอนาคตเบื้องหน้า พระพุทธเจ้าหมายเอาการตายไปแล้ว ถ้าท่านทั้งหลายปฏิบัติในทาน ศีล ภาวนา เป็นปกติ ตายเมื่อใดก็มีสุคติ คือมีที่ไปที่ดี เกิดเป็นมนุษย์ใหม่ก็เป็นคนที่ดี มีฐานะร่ำรวย มีรูปสวย มีปัญญาดี
เกิดเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า เป็นพรหม ก็เสวยแต่อมตสุขอยู่ข้างบน เป็นระยะเวลาที่ยาวนานตามกำลังความดีที่เราทำไว้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ก็เพื่อประโยชน์สุขในอนาคตของเรา คือหลังจากละโลกนี้ไปแล้ว ตายจากโลกนี้ไปแล้ว เราสั่งสมความดีไว้ ต้องได้ไปดีแน่นอน ท้ายสุดพระองค์ท่านกล่าวเพื่อประโยชน์สูงสุด คือการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง เข้าสู่พระนิพพานได้ เราจะได้เห็นได้ว่า ในส่วนของการละเว้นความชั่วทั้งปวงก็ดี การทำความดีให้ถึงพร้อมก็ดี พระพุทธเจ้าสอนเพื่อประโยชน์สุขของเราทั้งนั้น คือประโยชน์สุขในปัจจุบันนี้ ประโยชน์สุขในอนาคตข้างหน้า และประโยชน์สูงสุด คือการที่เราสามารถหลุดพ้นไปสู่พระนิพพานได้ ในหลักการข้อสุดท้ายพระพุทธเจ้าตรัสว่า สะจิตตะปะริโยทะปะนัง ให้ชำระจิตของตนให้ผ่องใสจากกิเลส ก็คือให้พ้นจากความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง การที่เราจะชำระจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลสนั้น สำหรับท่านที่ไม่มีพื้นฐานเลยก็ยากเป็นที่สุด แต่ถ้าท่านมีความพากเพียรพยายามจริง ๆ ก็ไม่ใช่ของที่ยากจนเกินกำลัง เพราะถ้าเราประกอบในกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตแล้ว ในส่วนของความชั่วที่จะมาทำให้จิตใจของเราเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ก็เหลือน้อยเต็มที แค่ท่านทั้งหลายเห็นความไม่เที่ยงของโลกนี้ เห็นความเป็นทุกข์ของโลกนี้ เห็นความตั้งอยู่ไม่ได้ของโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเราก็ดี คน สัตว์ วัตถุธาตุ สิ่งของ แม้กระทั่งต้นไม้ ภูเขา ทั้งหลายก็ดี ในที่สุดก็เสื่อมสลายตายพังลงไปทั้งสิ้น ขณะที่ดำรงชีวิตอยู่ก็มีแต่ความทุกข์ตลอดเวลา ถ้าท่านทั้งหลายเห็นชัดเจนว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์ โลกนี้เป็นทุกข์ ถอนกำลังใจออกเสียได้ ไม่ยินดีที่จะมาเกิดในความทุกข์ทั้งหลายนี้อีก ท่านก็จะสามารถที่จะหลุดพ้น เข้าสู่พระนิพพานได้
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 19-05-2010 เมื่อ 02:49 |
สมาชิก 50 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
บุคคลที่จะหลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพานได้ ต้องชำระจิตใจของตนให้ผ่องใสจนถึงที่สุด ประกอบความดีด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ นอกจากจะรักษาศีลด้วยตนเองแล้ว ยังช่วยคนอื่นรักษา คือไม่ยุยงให้คนอื่นเขาทำให้ศีลขาด ต่อให้เห็นคนอื่นทำศีลขาดอยู่เบื้องหน้าก็ไม่ยินดีด้วย
ส่วนการเจริญสมาธิภาวนา ก็สามารถที่จะสร้างฌานสมาบัติต่าง ๆ ให้เกิดกับเราได้ ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป เพื่อเป็นกำลังในการกดกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ให้นิ่งสงบชั่วคราว เพื่อที่จะได้เกิดปัญญาขึ้นมา ในเมื่อมีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างหาความเที่ยงไม่ได้ มีแต่ความทุกข์ ท้ายสุดก็ไม่มีอะไรดำรงคงอยู่ มีแต่ความเสื่อมสลายไปทั้งสิ้น ท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็จะเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หมดความปรารถนาในการเกิด ชำระใจของตนผ่องใสจนถึงที่สุด ก็หลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพาน นี่คือหลักการในพระพุทธศาสนาของเรา ที่ว่าต้องละเว้นจากความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม และท้ายสุดชำระจิตใจของตนให้ผ่องใสจากกิเลส ในส่วนสุดท้ายของโอวาทปาติโมกข์นั้น เป็นวิธีการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศ เพื่อใช้ในการยึดถือปฏิบัติ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ที่ออกไปสั่งสอนญาติโยม ได้สอนให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน วิธีการทั้งหลายเหล่านั้นประกอบไปด้วย ๑. อะนูปะวาโท เป็นบุคคลที่ไม่ว่าร้ายใคร กล่าวถึงผู้อื่นแต่ในด้านดีอยู่เสมอ ไม่กล่าวในส่วนของความบกพร่อง หรือความผิดพลาดของใคร ๒. อะนูปะฆาโต ไม่เบียดเบียน ไม่เข่นฆ่า ไม่ทำร้ายใคร จะเห็นว่าการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของเรานั้น เป็นไปโดยสงบ ไม่มีการเบียดเบียนศาสนาอื่นมาตั้งแต่ต้นจนถึงบัดนี้ จนกระทั่งทางโลกตะวันตกยอมรับว่า พระพุทธศาสนาของเราเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ เป็นศาสนาของโลกจริง ๆ ๓. ปาติโมกเข จะ สังวะโร แปลว่าให้สำรวมในศีลเอาไว้ ถ้าใครที่รักษาศีล ๕ ได้ ก็ให้ระมัดระวังรักษาศีลให้ครบถ้วน ๕ ข้อ ผู้ใดรักษาศีล ๘ ได้ก็ระมัดระวังรักษาศีล ๘ ให้ครบถ้วน ท่านที่รักษาศีล ๑๐ อย่างสามเณร สามเณรี เป็นต้น ก็รักษาศีล ๑๐ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ผู้ที่รักษาศีล ๒๒๗ อย่างพระภิกษุสงฆ์ ก็ระมัดระวังให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ถ้าหากว่าเราทำอย่างนี้ นับเป็นวิธีการหนึ่งในพระพุทธศาสนา ที่จะช่วยให้ตนเองนั้นมีความสุขทั้งในปัจจุบัน ทั้งในอนาคต และได้รับประโยชน์สูงสุดคือพระนิพพาน
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 19-05-2010 เมื่อ 14:18 |
สมาชิก 47 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
๔. มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง แปลเป็นใจความว่า รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร ไม่กินจนเกินพอดี ร่างกายของเรานั้นโดยระบบแล้ว จะต้องมีระยะเวลาในการกำจัดสิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ ในร่างกายของเราออกไป เพื่อทำให้ร่างกายผ่องใสกระปรี้กระเปร่า มีอายุยืนยาวได้
แต่ท่านใดเอาแต่กินอย่างเดียวเช้ายันค่ำ ร่างกายจะมีสารอาหารตกค้างอยู่เยอะมาก ท้ายสุดเมื่อไม่สามารถจะกำจัดออกไปได้ ก็ไปตกค้างอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้ปวดข้อปวดเข่าบ้าง เป็นโรคโน้นโรคนี้บ้าง อย่างเช่นว่าเส้นเลือดอุดตัน อาจจะถึงแก่ชีวิตได้ การประมาณในการกินนั้น ถ้าสารอาหารในร่างกายถูกใช้หมดแล้ว ก็จะมีกายเบา เลือดลมปลอดโปร่ง จะปฏิบัติภาวนาก็สามารถเจริญสมาธิภาวนาได้ง่าย พระองค์ท่านจึงประกาศเอาไว้ชัดเจนว่า ให้รู้จักประมาณในการกิน อย่างเช่นว่าพระภิกษุสงฆ์ก็จะฉันมื้อเดียวบ้าง สองมื้อบ้างแล้วแต่ว่าวัดไหนนิยมอย่างไร แต่มื้อที่สามไม่มี เมื่อเป็นดังนั้น ร่างกายสามารถขจัดสารตกค้างในร่างกายออกไปได้หมด ถึงเวลาร่างกายปลอดโปร่ง ก็สามารถที่จะตื่นขึ้นมาทำความดีตั้งแต่เช้ามืดได้ ลุกขึ้นมาสวดมนต์ทำวัตร นั่งกรรมฐานได้ ขณะที่ญาติโยมทั้งหลายยังเมาอาหารอยู่ไม่เลิก หลับเพลินอยู่ เป็นต้น ๕. ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง แปลว่า รู้จักอาศัยในอยู่ในที่สงบสงัด ชีวิตของเรานั้นมีแต่ความวุ่นวาย เหนื่อยยากอยู่ตลอดเวลา ญาติโยมทั้งหลายที่ได้พักผ่อน ก็พักผ่อนแต่เพียงร่างกายเท่านั้น สภาพจิตไม่ได้พักเลย เพราะวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา ถ้าเป็นดังนี้ไปนาน ๆ ท้ายสุดท่านทั้งหลายก็จะเกิดความล้าขึ้นในชีวิต เหนื่อยจนบอกไม่ถูก เป็นความเหนื่อยชนิดที่ฝังลึกอยู่ข้างใน เป็นความเหนื่อยที่ไม่อยากจะทำอะไรต่อไปแล้ว ก็เพราะว่าท่านทั้งหลายไม่ได้เข้าถึงความสงบอย่างแท้จริง เราพักแต่ร่างกาย ใจไม่ได้พัก ท่านทั้งหลายจึงจำเป็นต้องหาที่อันสงบสงัด ชำระจิตใจเราด้วยสมาธิ ให้สงบนิ่งจึงจะได้พักบ้าง จะได้ไม่เหนื่อยมาก ไม่อย่างนั้นแล้วจิตใจที่ไม่ได้พักก็เหน็ดเหนื่อยตลอดเวลา เมื่อไม่สามารถจะทนต่อไปได้ ก็จะเกิดอาการที่เรียกว่าสติแตก หรือที่เรียกว่าบ้า เนื่องจากว่าสภาพจิตของเราไม่ได้พักอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอน พระองค์ท่านจึงให้เราพักในที่อันสงัดคือ สงัดทั้งกาย ทั้งวาจา และทั้งใจ สงัดทางกายก็คืออยู่ในที่ห่างจากผู้คน สงัดในทางวาจาก็คือ เว้นจากการกล่าวในสิ่งที่ไม่ดี ในเมื่อไม่พูดในสิ่งที่ไม่ดี เราก็ต้องไม่คิดในสิ่งที่ไม่ดีด้วย ก็สงัดทางวาจาด้วย สงัดทางใจด้วย และความสงัดทางใจที่แท้จริงนั้นก็คือ เราทั้งหลายได้บำเพ็ญสมาธิภาวนา ชำระจิตใจของตนให้ผ่องใสนั่นเอง
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 20-05-2010 เมื่อ 20:12 |
สมาชิก 48 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#7
|
||||
|
||||
ข้อสุดท้ายพระองค์ท่านตรัสเอาไว้ว่า อะธิจิตเต จะ อาโยโค ต้องหมั่นทำสมาธิให้จิตทรงตัวตั้งมั่น เพื่อชำระจิตของตนให้ผ่องใส ตั้งมั่นอยู่ในความดี บุคคลที่มีสมาธิทรงตัว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ก็จะสำเร็จลงด้วยดี สำเร็จลงโดยง่าย
ในขณะเดียวกัน ก็มีปัญญาเห็นชัดเจน อย่างเช่นว่า ญาติโยมทั้งหลายดำเนินชีวิตอยู่ บางทีท่านทั้งหลายมีปัญหาเกิดขึ้นในชีวิต ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ เพราะว่าท่านเอาปัญหาทั้งหลายทั้งปวงมานั้นรวมกัน ก็เลยกลายเป็นงานใหญ่กองอยู่ตรงหน้า ไม่สามารถจะชำระสะสางได้ เพราะเห็นว่าเกินกำลัง แต่ถ้าท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติในสมาธิภาวนา ชำระใจตนให้ผ่องใส ให้สติตั้งมั่นอยู่เฉพาะหน้า เราจะแยกแยะได้ว่า ปัญหาทั้งหลายเหล่านั้น จริง ๆ แล้วมีลำดับเร็วช้า มีลำดับก่อนหลังด้วยกัน เราก็เลือกเอาปัญหามาถึงก่อน มาถึงเร็วกว่า เอาขึ้นมาเพียงเรื่องเดียว แล้วแก้ไขไป ก็จะไม่เกินกำลังของเรา แม้จะก่อนหลังเร็วช้าสักห้านาที สิบนาทีหรือครึ่งชั่วโมง ก็ยังดี ถ้าสมาธิจิตของท่านตั้งมั่นอยู่ตรงหน้า ก็สามารถที่จะหยิบเอาแต่ละปัญหา ขึ้นมาแก้ไขตามสถานการณ์ ตามเวลา ก็ไม่ต้องเอาปัญหามากองสุมรวมกันจนเป็นภูเขา เกินกำลังที่จะแก้ได้ เป็นต้น เมื่อท่านทั้งหลายมีจิตที่สงบอย่างแท้จริง สภาพจิตที่สงบ จะสะท้อนให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างรอบข้างอย่างชัดเจน โดยเฉพาะถ้าเกิดความสงบ ตัวปัญญาก็จะปรากฏขึ้นชัด ท่านที่ตั้งใจปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ก็จะเห็นแนวทางว่า จะควบคุม กาย วาจา หรือใจของตนเองได้อย่างไร ดังนั้น..ในความสำคัญของวันมาฆบูชา ก็คือวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ทรงประกาศอุดมการณ์ในพระพุทธศาสนา มีเป้าหมายสูงสุดคือพระนิพพาน และขณะเดียวกันก็บอกชัดว่า จะต้องมีความอดทนอดกลั้น จึงสามารถที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นได้ การจะเป็นบรรพชิตผู้ชนะตัวเอง ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ หรือการจะเป็นสมณะผู้ที่สงบอย่างแท้จริง ต้องไม่เบียดเบียน ไม่เข่นฆ่าผู้อื่น เป็นต้น ได้ประกาศหลักการในพระพุทธศาสนา คือละชั่ว ทำดี ชำระให้ผ่องใส และประกาศวิธีการในพระพุทธศาสนาคือ การไม่ว่าร้ายใคร ไม่ทำร้ายใคร สำรวมในศีลของแต่ละคน และขณะเดียวกัน ให้รู้ประมาณในการกิน รู้จักสร้างความสงบทางกาย ทางวาจา ทางใจ ของตน จนกระทั่งสมาธิตั้งมั่น เกิดตัวปัญญานำทางของเรา ในขณะที่ยังเป็นโลกียบุคคล ก็สามารถที่จะทำงานทำการทุกอย่างได้ด้วยความคล่องตัว เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า ถ้าตั้งใจปรารถนาความหลุดพ้น จิตใจที่ผ่องใสก็จะมีปัญญาในการตัดกิเลส ทำให้ท่านทั้งหลายสามารถหลุดพ้นเข้าถึงพระนิพพานได้
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-05-2010 เมื่อ 15:20 |
สมาชิก 46 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#8
|
||||
|
||||
ในวันมาฆบูชาอันสำคัญนี้ วัดท่าขนุนของเราก็มียังมีการปิดทองพระประจำปี ก็คือการปิดทองพระพุทธรูป ปิดทองรูปหล่อหลวงปู่พุก รูปหล่อหลวงปู่สาย ตลอดจนกระทั่งพระพุทธบาทจำลองทั้งสี่รอย ให้ญาติโยมทั้งหลายได้ทำความดีเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง
ท่านทั้งหลายที่ตั้งใจมาในวันนี้ ได้เตรียมเอาข้าวปลาอาหารทั้งหลายมา เพื่อถวายเป็นภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ จัดว่าท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติในทานบารมี ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะฟังเทศน์นั้นก็ได้สมาทานศีล จัดว่าท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติในศีลบารมี และท้ายสุดท่านทั้งหลายได้ฟังธรรม เพื่อชำระจิตใจตนให้ผ่องใส ก็หมายความว่าท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติในปัญญาบารมี เป็นอันว่าหลักการในพระศาสนาที่พระพุทธเจ้าประกาศมา ตลอดจนกระทั่งอุดมการณ์และวิธีการต่าง ๆ นั้น ญาติโยมทั้งหลายก็ได้เป็นผู้ที่กระทำตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสคำสอนไว้แล้ว แปลว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้ที่ทรงไว้ซึ่งความดี ความดีที่ท่านทั้งหลายได้ทำนั้น ก็จะทำให้ท่านที่ความปรารถนาความสุขในชาติปัจจุบัน ก็สามารถที่จะมีความสุขได้ มีความปรารถนาความสุขในอนาคต ก็สามารถที่จะมีได้อย่างใจที่ปรารถนา ท้ายสุดท่านทั้งหลายต้องการความสุขสูงสุดในชีวิต คือ หลุดพ้นไปสู่พระนิพพาน ก็จะสามารถเข้าถึงได้ เทสนาวสาเน ในท้ายสุดแห่งพระธรรมเทศนา อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ เป็นประธาน มีบารมีขององค์หลวงปู่สาย อคฺควํโส อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนนี้เป็นที่สุด ขอได้โปรดดลบันดาลให้ญาติโยมทั้งหลาย เป็นผู้ที่ประสบแต่ความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผลด้วยจตุรพิธพรชัยทั้ง ๔ ประการ มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดจนปฏิภาณ ธนสาร ธรรมสาร คุณสารสมบัติทั้งปวงอันเป็นที่พึงใจ ขอให้ท่านทั้งหลายเป็นผู้มีอายุยืนยาวนาน ปราศจากสรรพโรคาพาธ พ้นจากอุปัทวันตรายใด ๆ ทั้งปวง ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และบารมีของครูบาอาจารย์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชนามาในขันตีกถา ก็พอสมควรแก่เวลา จึงขอสมมติยุติธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ เทศน์วันมาฆบูชา ณ วัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๓
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-05-2010 เมื่อ 15:22 |
สมาชิก 47 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
Tags |
เทศน์, ปาฏิโมกข์, วันมาฆบูชา, โอวาท |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|