#1
|
||||
|
||||
![]() เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๘
|
สมาชิก 36 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ พิชวัฒน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
![]()
วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๘ กระผม/อาตมภาพเดินทางไปร่วมทำวัตรเช้ากับผู้เข้าฝึกซ้อมอบรมเพื่อสอบเป็นพระอุปัชฌาย์ประจำปี ๒๕๖๘ ที่วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) ซึ่งหลวงพ่อเจ้าคุณแย้ม - พระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าคณะภาค ๑๔ เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) ท่านมานำทำวัตรเช้าให้ทุกวัน
โดยที่หลวงพ่อเจ้าคุณแย้มของเรานั้น ท่านพูดกับกระผม/อาตมภาพหลายครั้งว่า "จะให้ข้าไปนั่งสมาธิข้ามวันข้ามคืนอย่างแก ข้าทำไม่ได้ แต่ถ้าหากว่าให้สวดมนต์ไหว้พระเป็นชั่วโมง ๆ ข้าก็ทำได้" แล้วท่านก็ใช้คำว่า "ข้าไม่มีสมาธิ" ซึ่งคำนี้ไม่เป็นความจริง เนื่องเพราะว่าหลวงพ่อเจ้าคุณแย้มท่านไม่เข้าใจคำว่า "สมาธิใช้งาน" การสวดมนต์ทำวัตรนั้นเป็นการสร้างสมาธิโดยตรง สถานเบาเลยก็คือถ้าขาดสติ เราจะสวดผิด ในเมื่อเป็นเช่นนั้น สภาพจิตที่จดจ่ออยู่กับเนื้อหาของธรรมะที่เราจะสวดสาธยาย เพื่อป้องกันไม่ให้ผิดพลาด นั่นก็คือการสร้างสมาธิให้เกิด แล้วถ้าหากว่าต้องการให้มากกว่านั้น ก็ทำอย่างที่กระผม/อาตมภาพเคยแนะนำหลายท่านเอาไว้หลายครั้งแล้วว่า ถ้าต้องการจะสร้างสมาธิให้สูงกว่านั้น ก็ให้สวดสาธยายพร้อมกับจับลมหายใจไปด้วย คำสวดทุกประโยคก็คือคำภาวนานั่นเอง เพียงแต่ว่าเป็นคำภาวนาที่ค่อนข้างจะยาวอยู่สักหน่อย แล้วก็อย่าไปจับสัมผัสว่าต้องคำโน้นลงฐานนั้น ต้องคำนี้ลงฐานนี้ ถ้าทำในลักษณะอย่างนั้น สภาพจิตจะพะวักพะวงแล้วเกิดสมาธิยาก ให้ปล่อยยาวไปเลยว่า ตามลมหายใจเข้าไปจนสุด ตามลมหายใจออกมาจนสุด ถ้าจิตจดจ่ออยู่แค่นี้ ท่านจะสามารถทรงได้จนถึงระดับอัปปนาสมาธิ ก็คือปฐมฌานละเอียด ถ้าไม่มีการซักซ้อมคล่องตัว ท่านจะไปไกลกว่านี้ไม่ได้ เนื่องเพราะว่าถ้าเกินจากจุดนี้ไป สภาพจิตกับประสาทจะแยกออกจากกันแทบจะเด็ดขาดไปเลย สิ่งหนึ่งประการใดที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เราไม่สามารถที่จะบังคับได้ หลายต่อหลายท่านถ้าสวดมนต์ไปเหมือนอย่างกับหลับ หรือว่านิ่ง "ฟิวส์ขาด" ไปเฉย ๆ ก็คือบุคคลที่เริ่มเข้าสู่ระดับนี้ ถ้าขาดการซักซ้อมมาก ๆ แค่ระดับปฐมฌานหยาบก็จะเป็นอย่างนี้แล้ว แต่ถ้าหากว่ามีการซักซ้อมมากขึ้น จนก้าวเข้าสู่ความเป็นปฐมฌานละเอียด ท่านก็ยังสามารถที่จะสวดมนต์ไหว้พระได้ แต่ว่าบางทีการสวดก็จะช้าลงไปโดยอัตโนมัติ
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 02-03-2025 เมื่อ 01:52 |
สมาชิก 36 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
![]()
เมื่อทำการฝึกซ้อมจนคล่องตัวแล้ว หลังจากนั้นไม่ว่าจะเป็นฌานที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ท่านทั้งหลายก็สามารถที่จะสวดมนต์ภาวนา หรือว่าประกอบกิจการงานอื่น ๆ ไปพร้อมกันได้ เนื่องเพราะว่าความชำนาญในการเข้าออกสมาธิที่เรียกว่า วสี ก็คือสมาปัชชนวสี - ความชำนาญในการเข้าสู่สมาธิแต่ละระดับ และวุฏฐานวสี - ความชำนาญในการออกจากสมาธิแต่ละระดับ ตลอดจนกระทั่งความชำนาญในการพิจารณาระดับของสมาธิ คือสามารถที่จะเข้าออกสลับกันได้
ถ้าอย่างนั้น ท่านก็สามารถใช้สภาพจิตของท่านทรงอยู่ในระดับของฌาน ๔ แต่ว่าร่างกายใช้ไม่เกินปฐมฌานละเอียด บังคับให้ทำสิ่งต่าง ๆ หรือว่าสวดมนต์ภาวนาไปพร้อมกันได้ ถ้าลักษณะอย่างนี้ ท่านก็จะอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข โดยทางภายนอกแล้วก็จะเป็นไปตามสังคมเขา แต่ว่าสภาพจิตภายในเหมือนอย่างกับน้ำลึกก้นบ่อ แม้ว่าน้ำปากบ่อจะกระเพื่อมบ้าง แต่ว่าน้ำก้นบ่อจะนิ่งสนิท เย็นอยู่เช่นนั้นเอง ถ้าซักซ้อมไปมาก ๆ แล้ว ต้องการความถนัด ความชำนาญ ความดีงามมากกว่านี้ ก็อาศัยการสวดมนต์นี่แหละสร้างทิพจักขุญาณให้เกิด ก็คือถึงเวลาสวดสาธยายไป ก็นึกถึงอักขระตัวหนังสือที่เราสวดด้วย ให้ขึ้นมาอยู่ตรงหน้าทีละตัว ทีละคำ ทีละประโยค เมื่อนึกไปเรื่อย ๆ ความชัดเจนก็จะมีมากขึ้นเรื่อย จนกระทั่งท้ายที่สุด ก็เหมือนกับเห็นตัวหนังสือวิ่งผ่านตรงหน้าของตนไปทีละคำ ทีละประโยค ทีละบรรทัด ถ้าถึงระดับนี้แล้วซักซ้อมให้คล่องไว้ ท่านสามารถเห็นตัวหนังสือชัดเจนเท่าไร ท่านก็เปลี่ยนไปดูผี ดูเทวดา และเห็นได้ชัดเจนเท่านั้น หรือถ้าเป็นการประกันความเสี่ยงความแน่นอนในคติของตนเอง ท่านจะยกจิตขึ้นไปกราบพระบนจุฬามณีเจดียสถานดาวดึงสเทวโลก แล้วสวดมนต์ถวายพระเขี้ยวแก้วอยู่ที่นั่นก็ได้ หรือว่าจะขึ้นไปยังทุสสเจดีย์ที่พรหมชั้นที่ ๑๖ คือ อกนิฏฐสุทธาวาสพรหม สามารถที่จะไปสวดมนต์ภาวนาอยู่เบื้องหน้าผ้า ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสละในวันออกมหาภิเนษกรมณ์ก็ได้
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 02-03-2025 เมื่อ 01:54 |
สมาชิก 36 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
![]()
หรือถ้าจะเอาให้มากกว่านั้น ก็ยกจิตขึ้นไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพาน ตั้งใจสวดสาธยายถวายเป็นพุทธบูชา กำหนดใจเอาไว้ว่า ถ้าหากว่าจบจากการสวดมนต์นี้ เราก็จะกลับลงไปทำหน้าที่ของเราเหมือนเดิม โดยที่แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งอยู่ที่ภาพพระ หรือว่าอยู่ที่พระนิพพาน หรือว่าถ้าหากว่าหมดอายุขัย ตายลงไปก็ดี หรือเกิดอุบัติเหตุอันตรายใด ๆ ก็ตาม เราก็ขออยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระนิพพานนี้แห่งเดียวเท่านั้น
ดังนั้น..ถ้าหากว่าท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะญาติโยมผู้ปฏิบัติธรรม สามารถทำได้ ทำดี ทำถูก จะเห็นว่าการสวดมนต์ไหว้พระนั้น เป็นสิ่งที่สามารถสร้างสมาธิให้เกิด กด รัก โลภ โกรธ หลง ให้ดับลงชั่วคราวได้ สามารถที่จะสร้างทิพจักขุญาณให้เกิดก็ได้ สามารถที่จะยกจิตของตนขึ้นสู่ภพภูมิอื่น ๆ หรือว่าพระนิพพานก็ได้ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ใครก็ตามที่บอกว่า "ไม่ได้บวชมาเพื่อสวดมนต์ไหว้พระ" กระผม/อาตมภาพก็ว่า "ท่านทั้งหลายน่าจะบวชมาแล้วเสียชาติไปเปล่า ๆ..!" เพราะว่าครูบาอาจารย์ของกระผม/อาตมภาพบอกว่า "การทำหน้าที่ของพระภิกษุสามเณรที่ดีนั้น ก็คือการ "ทำวัตรสวดมนต์ ท่องบ่นภาวนา ศึกษาเล่าเรียน พากเพียรปฏิบัติ" ถ้าท่านทั้งหลายสามารถตีความ และกระทำได้ถูกต้อง ท่านก็จะเป็นกำลังใหญ่ในพระพุทธศาสนาภายหน้า แต่ถ้าหากว่าท่านทำไม่ได้ถูกต้อง แต่ว่าพากเพียรที่จะทำ คุณงามความดีที่ค่อย ๆ สะสมตัวอยู่ ท้ายที่สุดก็จะส่งผลให้ท่านทั้งหลายก้าวไปสู่ภพภูมิที่ดีจนได้ เมื่อสวดมนต์ไหว้พระเสร็จเรียบร้อยแล้ว กราบลาพระ กระผม/อาตมภาพก็ได้เข้าไปกราบหลวงพ่อเจ้าคุณแย้ม ถวายปัจจัยสนับสนุนการฝึกซ้อมอบรมเพื่อเข้าสอบพระอุปัชฌาย์ของคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ครั้งนี้ เป็นจำนวนเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณแย้มท่านบอกว่า "ด้วยความที่รบกวนญาติโยมมาตลอด ๑๕ วัน ในช่วงอบรมบาลีก่อนสอบ ก็เลยทำให้ไม่กล้าที่จะรบกวนโยมในตอนที่ฝึกซ้อมอบรมเพื่อเข้าสอบพระอุปัชฌาย์ ก็ได้แต่อาศัยบรรดาพระสังฆาธิการที่พอมีกำลังร่วมกันถวายปัจจัยมา เพื่อเป็นค่าภัตตาหาร ค่าน้ำปานะ ตลอดจนกระทั่งสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการฝึกซ้อมอบรม อย่างเช่นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ท่านก็ถวายมาครั้งนี้ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้ทุกท่านโมทนา"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 02-03-2025 เมื่อ 01:57 |
สมาชิก 35 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
![]()
กระผม/อาตมภาพเองที่ไปร่วมงาน ถ้าสามารถไปได้ทุกวันก็อยากจะไป เนื่องเพราะว่าส่วนใหญ่แล้ว บรรดาผู้เข้าฝึกซ้อมอบรมเพื่อสอบเป็นพระอุปัชฌาย์ในรุ่นหลัง ๆ นั้น ถ้าหากว่าไม่ใช่เพื่อนฝูงพระสังฆาธิการ ก็มักจะเป็นลูกศิษย์ที่กระผม/อาตมภาพเคยสั่งสอนมา ในสมัยที่สอนหนังสือที่วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี วิทยาลัยสงฆ์สุพรรณบุรีศรีสุวรรณภูมิ หรือว่าวิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรีศรีไพบูลย์ เหล่านี้เป็นต้น
แล้วส่วนใหญ่กระผม/อาตมภาพก็ค่อนข้างจะ "มีเครดิต" ในสายตาของเพื่อนฝูงหรือว่าลูกศิษย์ เพราะว่ามีแบบอย่างความประพฤติที่ค่อนข้างจะเคร่งครัด และมักจะบอกกล่าวตรง ๆ ว่าใครทำอะไรผิดพลาด หรือไม่ถูกต้องต่อพระธรรมวินัย ดังนั้น..เมื่อทุกคนเห็นก็เหมือนกับว่ากำลังใจฟูขึ้นมา เพราะรู้สึกว่ามีที่พึ่งแล้ว จึงทำให้อยากที่จะไปร่วมงานด้วยทุกวัน ไม่เห็นแก่หลับแก่นอน หรือว่าความเหนื่อยยากของตนเอง แต่ว่าบางส่วนของพระสังฆาธิการท่านก็ไม่เข้าใจตรงนี้ว่า ทำไมกระผม/อาตมภาพต้องตะเกียกตะกายออกมาจากวัดตั้งแต่ตี ๓ ตี ๔ เพื่อที่จะมาร่วมทำวัตรเช้ากับบรรดาผู้ฝึกซ้อมอบรมเป็นพระอุปัชฌาย์ หรือว่าผู้ที่เข้ารับการอบรมบาลีก่อนสอบ ? เหล่านี้เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งที่อยากจะกล่าวถึงก็คือ ในวันนี้มีคณะพระธุดงค์จากประเทศเวียดนามเดินผ่านจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อออกไปยังแม่สอด มีโครงการว่าจะเดินผ่านประเทศพม่าเข้าสู่ประเทศอินเดีย ซึ่งคณะพระภิกษุสงฆ์เหล่านี้นั้นบอกว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย ดังนั้น..ท่านทั้งหลายจึงมีผ้าจีวรที่เย็บปะมาสารพัดสี อธิบายให้ผู้ที่สอบถามเพราะเห็นเป็นเรื่องแปลกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ใช้ผ้าบังสุกุล ซึ่งในลักษณะอย่างนี้ก็มีอยู่ ๒ อย่างด้วยกัน อย่างแรกก็คือตีความพระธรรมวินัยผิด เนื่องเพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ใช้ผ้าบังสุกุล ก็คือไปเก็บผ้าที่เขาทอดทิ้งแล้ว เอามาซักมาย้อมใช้งาน โดยเย็บเป็นจีวรตามแบบที่พระอานนท์เถระท่านได้ออกแบบเอาไว้ ซึ่งจะประกอบไปด้วยผ้าชิ้นใหญ่ที่เรียกว่ามณฑล ผ้าชิ้นเล็กหน่อยที่เรียกว่าอัฑฒมณฑล ผ้าที่เย็บขวางที่เรียกว่ากุสิ แล้วผ้าที่เล็กกว่าเย็บขวางประมาณครึ่งหนึ่ง เรียกว่าอัฑฒกุสิ แล้วยังมีชายขอบเพื่อเก็บความเรียบร้อยที่เรียกว่าอนุวาต
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 02-03-2025 เมื่อ 02:00 |
สมาชิก 36 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
![]()
แต่ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ย้อมเป็นสีเดียว ก็คือจะเป็นสีกรัก หรือว่ากาสาวะ ก็คือสีของยางไม้ก็ได้ หรือว่าเป็นสีเหลือง อย่างเช่นว่าเหลืองจากการย้อมด้วยน้ำขมิ้นก็ได้ หรือเป็นสีเหลืองเจือแดงเข้มที่ปัจจุบันกระผม/อาตมภาพเห็นว่าเป็นสีแดงเสียมากกว่า ก็คือตามที่พระอัญญาโกณฑัญญเถระ ที่ท่านหลีกไปจำพรรษาอยู่ที่ฉัตทันตสระกับฝูงช้าง แล้วไม่สามารถที่จะหาไม้มาทำเป็นน้ำย้อมฝาดได้ ท่านจึงใช้ดินลูกรังเอามาต้ม แล้วกรองเอาน้ำมาย้อมจีวร จึงทำให้จีวรออกมาสีค่อนข้างแดง
เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตให้ถึง ๓ สี แต่ว่าจีวรนั้นจะต้องย้อมเป็นสีเดียวกันทั้งผืน ไม่ใช่ว่าอีหลุปุปะสารพัดสีประหนึ่งสายรุ้งแบบนั้น..! ถ้าเป็นในลักษณะนั้นคือ ตีความพระธรรมวินัยผิด หรือไม่ก็ตั้งใจทำเพื่อให้ชาวบ้านเห็นขลังแล้วศรัทธา ถ้าลักษณะอย่างนั้นถือว่าปฏิบัติเพื่ออวดคนอื่น หาใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ไม่..! แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือการเดินธุดงค์นั้น ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่าธุตังคะ คือองค์คุณในการแผดเผากิเลส ไม่ใช่การเดินทาง หากแต่ว่าเป็นการอยู่ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง แล้วก็ปฏิบัติตามหลักธุดงควัตร ๑๓ ประการ ไม่ใช่ว่าเดินทางไปโน่น เดินทางไปนี่ แล้วเรียกว่าธุดงค์ ลักษณะนั้นน่าจะเรียกว่าจาริก คือการเที่ยวไปมากกว่า จึงขออธิบายเอาไว้เผื่อท่านที่ยังไม่เข้าใจ หรือว่าญาติโยมที่เข้าใจผิด แล้วไปเห็นขลังว่า บุคคลที่ครองจีวรสารพัดสีปุปะไปทั้งตัว เป็นบุคคลที่เคร่งครัดตามพระธรรมวินัย ความจริงแล้วท่านกำลังทำผิดพระวินัยต่างหาก..! ความจริงในระยะนี้ยังมีสารพัดเรื่องที่อยากจะกล่าวถึง แต่รู้สึกว่าจะรบกวนเวลาของพวกเรามาพอเพียงแล้ว สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๘ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 02-03-2025 เมื่อ 02:02 |
สมาชิก 38 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|