#1
|
|||
|
|||
กระบวนพยุหยาตราชลมารค
ประวัติพระราชพิธีการเสด็จฯ กระบวนพยุหยาตราชลมารค ยุคแรกเริ่มของกระบวนเรือ การเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไทยนับแต่บุราณกาลมา นอกจากการเสด็จฯ ทางบก ที่เรียกว่า "พยุหยาตราทางสถลมารค" แล้ว ยังนับว่าการเสด็จฯ ทางน้ำ คือ "พยุหยาตราทางชลมารค" ก็เป็นเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญยิ่งเช่นกัน ตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเป็นราชธานีแรกของไทยเรา ก็ปรากฏว่า พระร่วงทรงใช้เรือออกไปลอยกระทง หรือพิธีจองเปรียง ณ กลางสระน้ำ พร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามคืนเพ็ญเดือนสิบสอง ครั้นต่อมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งเป็นเมืองเกาะ ล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำลำคลองมากมายหลายสาย ชีวิตความเป็นอยู่ริมน้ำของชาวกรุงเก่า จึงต้องอาศัยเรือในการสัญจรไปมา ทั้งในเวลารบทัพจับศึก ก็จะใช้กระบวนทัพเรือเป็นสำคัญ จึงปรากฏมีการสร้างเรือรบมากมายในกรุงศรีอยุธยา ยามบ้านเมืองสุขสงบว่างเว้นจากการงาน ชาวกรุงศรีอยุธยาก็หันมาเล่นเพลงเรือ แข่งเรือเป็นเอิกเกริก โดย เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม เมื่อจะเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่าง ๆ หรือเสด็จฯ ไปทอดผ้ากฐินยังวัดวาอาราม ก็มักจะใช้เรือรบโบราณเหล่านั้น จัดเป็นกระบวนเรือที่ยิ่งใหญ่ ดังในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มี กระบวนเรือเพชรพวง ซึ่งเป็นริ้วกระบวนที่ใหญ่มาก จัดออกไปเป็น ๔ สาย และริ้วเรือพระที่นั่งตรงกลางอีก ๑ สาย ใช้เรือทั้งสิ้นไม่น้อยกว่าร้อยลำ ระหว่างการเคลื่อนกระบวนพยุหยาตราก็มีการเห่เรือพร้อมเครื่องประโคม จนเกิดวรรณกรรมร้อยกรองที่ไพเราะยิ่ง คือ "กาพย์เห่เรือ" ของ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ตอนปลายกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบรรยายถึงความงดงามและลักษณะของเรือในกระบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งนั้น และบทเห่เรือนี้ก็กลายเป็นแม่แบบของการแต่งกาพย์เห่เรือมาจนเท่าทุกวันนี้ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ปรีชาสามารถมากพระองค์หนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา บ้านเมืองในรัชสมัยนั้นจึงเจริญรุ่งเรืองมิใช่น้อย และเนื่องด้วยพระองค์มีการติดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศมากมาย ทั้งทรงสร้างเมืองละโว้หรือลพบุรีให้เป็นราชธานีรอง จึงมีการเสด็จฯ โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ขึ้งล่องตามแม่น้ำป่าสักอยู่เป็นเนืองนิจ และในบางโอกาสก็โปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนเรือหลวง ออกมารับคณะราชทูต และแห่พระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส จากกรุงศรีอยุธยามายังเมืองลพบุรีตามบันทึกของนิโคลาส แชว์แวส์ ราชทูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยสมัยนั้น ได้บรรยายไว้ในหนังสือ "ประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักร สยาม" ถึงขบวนพยุหยาตราชลมารคของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า ในปี พ.ศ.๒๒๒๘ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงส่งลาลูแบร์เป็นราชทูตเข้ามายังประเทศไทยพร้อมกับคณะบาดหลวงเยชูอิต ซึ่งมีบาทหลวงผู้หนึ่ง คือ กวีย์ ตาชาร์ด เป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ไว้ในหนังสือเรื่อง "จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม" ในตอนหนึ่งเล่าถึงขบวนเรือที่ใช้ออกรับเครื่องราชบรรณาการว่า "...มีเรือบัลลังก์ขนาดใหญ่สี่ลำ แต่ละลำมีฝีพายถึงแปดสิบคน ซึ่งเราไม่เคยเห็นเช่นนั้นมาก่อน สองลำแรกนั้นหัวเรือทำเป็นรูปเหมือนม้าน้ำปิดทองทั้งลำ เมื่อเห็นมาแต่ไกลในลำน้ำนั้นดูคล้ายกับมีชีวิตชีวา มีเจ้าหน้าที่กองทหารรักษาพระองค์สองนายมาในเรือทั้งสองลำ เพื่อรับเครื่องราชบรรณาการของสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ครั้นบรรทุกเสร็จแล้วก็ถอยออกไป ลอยลำอยู่กลางแม่น้ำอย่างสงบเงียบ และตลอดเวลาที่ลอยลำอยู่นี้ ไม่มีสุ้มเสียงใดเลยบนฝั่ง และไม่มีเรือใดเลยแล่นขึ้นล่องในแม่น้ำ เป็นการแสดงความเคารพต่อเรือบัลลังก์หลวง แลเครื่องราชบรรณากา ที่บรรทุกอยู่นั้น" บาดหลวงตาชาร์ดยังเขียนถึงขบวนเรือ ที่แห่พระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการ ในวันที่เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยาไปยังลพบุรีอีกว่า "ขบวนอันยืดยาวของเรือบัลลังก์หลวง ซึ่งเคลื่อนไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อยนี้ มีจำนวนถึงร้อยห้าสิบลำ ผนวกกับเรือลำอื่น ๆ เข้าอีก ก็แน่นแม่น้ำแลไปได้สุดสายตา อันเป็นทัศนียภาพที่งดงามหนักหนา เสียงเห่แสดงความยินดีตามธรรมเนียมนิยมของชาวสยาม อันคล้ายจะรุกไล่เข้าประจัญกับข้าศึกนั้น ก้องไปทั้งสองฝั่งฟากแม่น้ำ ซึ่งมีประชาชนพลเมืองล้นหล้าฟ้ามืด มาคอยชมขบวนยาตราอันมโหฬารนี้อยู่" แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 02:55 |
สมาชิก 18 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
|||
|
|||
เข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์
ก่อนจะถึงสมัยรัตนโกสินทร์ อันมีราชธานีอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่มีนามว่า "กรุงเทพมหานคร" ในปัจจุบันนี้ พม่าได้เผาผลาญทำลายกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งเรือรบโบราณ และเรือพระราชพิธีที่งดงามไปแทบหมดสิ้น หลังจากนั้น เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทยคืนมาได้ ก็ทรงสร้างเรือขึ้นใหม่ทั้งชุด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรือที่ใช้ในการรบพุ่ง เพราะรัชสมัยของพระองค์เต็มไปด้วยการศึกสงคราม เมื่อปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชวงศ์จักรี คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงสร้างเรือขึ้นใหม่อีก ๖๗ ลำ ซึ่งมีทั้งเรือพระที่นั่ง เรือกระบวนปิดทอง เรือพิฆาต และเรือแซ ซึ่งเรือที่สำคัญ ๆ เป็นที่รู้จักมาจนเท่าทุกวันนี้ เช่น เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งไกรสรมุข เรือเอกชัยเหินหาว เรือเอกชัยหลาวทอง เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี เรือเสือทะยานชล เรือเสือคำรณสินธุ์ เรือแตงโม และเรืออีเหลือง เป็นต้น ในรัชกาลต่อ ๆ มาก็ยังมีการสร้างเรือเพิ่มขึ้นอีก คือ รัชกาลที่ ๒ ทรงสร้าง ๒ ลำ รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้าง ๒๔ ลำ รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้าง ๗ ลำ รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างเพียงลำเดียว และในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงสร้างอีก ๒ ลำ จากนั้นก็มิได้มีการสร้างเรือพระราชพิธีขึ้นอีกเลย เรือที่สำคัญ ๆ และตกทอดมาถึงปัจจุบันอันได้แก่ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๔ และมาสร้างขึ้นแทนลำเดิมอีกครั้งในรัชกาลที่ ๖ เรืออเนกชาติภุชงค์ สร้างในรัชกาลที่ ๕ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๖ เรือพระราชพิธีในรัชกาลก่อน ๆ คงตกทอดมาถึงรัชกาลปัจจุบันทั้งสิ้น แต่การเสด็จฯ กระบวนพยุหยาตราชลมารค มิได้มีบ่อยครั้งนัก เนื่องจากเมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา อู่เรือพระราชพิธีที่คลองบางกอกน้อย ถูกลูกระเบิดถล่มจนเรือเสียหายไปหลายลำ จากนั้นมาจึงมีการซ่อมแซมเรือ และโอนเรือพระราชพิธีจำนวน ๓๖ ลำ ให้กรมศิลปากรดูแลเก็บรักษาไว้ที่อู่เรือพระราชพิธีปากคลองบางกอกน้อย และส่วนที่เหลืออีกราว ๓๒ ลำ เป็นพวกเรือดั้ง เรือตำรวจ เรือแซง กองทัพเรือคงเก็บรักษาไว้ สำหรับกระบวนพยุหยาตราที่มีในรัชกาลปัจจุบันนี้ ส่วนมากจะเป็นการเสด็จฯ ไปทอดผ้าพระกฐิน ณ วัด อรุณราชวราราม นอกจากนั้น ก็จะเป็นการเสด็จในพระราชพิธีสำคัญ ๆ เช่น เสด็จฯ กระบวนพยุหยาตราชลมารคเพื่อเป็นการเลียบพระนคร กระบวนพยุหยาตราชลมารคคราวงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ.๒๕๐๐ การเสด็จฯ พยุหยาตราทางชลมารค ทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม พ.ศ.๒๕๑๐, พ.ศ.๒๕๓๐ และในโอกาสการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี พ.ศ.๒๕๒๕ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 03:36 |
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
|||
|
|||
เรือพระราชพิธี
แรกเริ่มเดิมที "เรือพระราชพิธี" นั้นหามีไม่ คงมีแต่เรือรบโบราณ ซึ่งใช้ในแม่น้ำและออกสู่ท้องทะเล ต่อมาการรบทัพจับศึกในแม่น้ำหมดสิ้นความสำคัญไปทีละน้อย เรือรบในแม่น้ำซึ่งเป็นเรือยาวทำด้วยไม้ ใช้ฝีพายล้วนเหล่านี้ จึงกลายมาเป็นเรือที่ใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ ที่พระมหากษัตริย์ไทยเสด็จฯ กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคจนเท่าทุกวันนี้ ในประวัติศาสตร์การรบพุ่งของชาติไทยเรา อันมีราชธานีเก่าคือกรุงศรีอยุธยา ซึ่งแวดล้อมด้วยแม่น้ำลำคลองมากมาย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เรือรบในแม่น้ำเป็นสำคัญ และในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ก็ทรงมียุทธวิธีที่จะรักษาพระนครโดยอาศัยกำลังทัพเรือ จึงทรงประดิษฐ์เรือไชยและเรือรูปสัตว์ขึ้น ต่อมาก็ยังประดิษฐ์เรือกราบขึ้นอีกชนิดหนึ่งด้วย เรือรบโบราณเหล่านี้ จึงแบ่งประเภทออกเป็น ๔ ชนิด คือ เรือแซ เป็นเรือโบราณของไทยซึ่งใช้ในแม่น้ำ เหตุที่ชื่อ "แซ" นั่น เข้าใจว่ามาจากคำว่า "เช" หมายถึง แม่น้ำ เรือชนิดนี้ใช้ในการลำเลียงพล ศาสตราวุธ ยุทโธปกรณ์ เสบียงกรัง เป็นเรือที่แล่นค่อนข้างช้า เรือไชย เป็นเรือที่ใช้ลำเลียงพล ศาสตรวุธ ยุทธโธปกรณ์ และเสบียง แล่นเร็วกว่าเรือแซ เรือรูปสัตว์ เรือชนิดนี้จะทำหัวเรือเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ มีครุฑ พญานาค เป็นต้น ใต้รูปสัตว์ก็จะมีช่องวางปืนใหญ่ ใช้เป็นเรือปืนด้วย เรือกราบ มีลักษณะคล้ายเรือไชย แต่แล่นเร็วกว่า เรือรบโบราณของไทยเราที่ตกทอดมาเป็นเรือพระราชพิธีนี้ แม้จะสร้างขึ้นด้วยจุดประสงค์เพื่อใช้ในการสงคราม แต่ก็เป็นเรือที่แกะสลัก ปิดทองเป็นลวดลายวิจิตรสวยงาม โดยเฉพาะหัวเรือและท้ายเรือจะเป็นส่วนที่สวยงามมาก บ้างก็เป็นรูปสัตว์ ยักษ์ และลิง ในวรรณคดีไทย ส่วนลำเรือนั้น ขุดจากซุงทั้งต้น ส่วนใหญ่นิยมใช้ไม้ตะเคียน เรือบางลำทำจากต้นไม้ที่ใหญ่มาก เช่น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มีความยาวถึง ๔๔.๙๐ เมตร และความกว้าง ๓.๑๕ เมตร และเรือทุกลำล้วนใช้ฝีพายจำนวนมาก ในการแล่นเรือให้เคลื่อนไปอย่างคล่องแคล่วราวกับมีชีวิตชีวา อย่างไรก็ดี เรือพระราชพิธี เป็นชื่อที่ใช้เรียกรวมถึงเรือชนิดต่าง ๆ ซึ่งใช้ประกอบในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค โดยที่เรือเหล่านี้ล้วนแบ่งลักษณะหน้าที่ออกไปดังนี้ คือ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 03:36 |
สมาชิก 18 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
|||
|
|||
เรือพระที่นั่ง
เรือที่สำคัญที่สุดในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค คือ เรือพระที่นั่ง ซึ่งเป็นเรือที่พระมหากษัตริย์ประทับ หากจะเทียบประเภทกับเรือรบโบราณแล้ว เรือชนิดนี้ก็คือเรือไชยนั่นเอง เรือพระที่นั่งทุกลำจะประดับประดาและเขียนลวดลายวิจิตรยิ่ง มีข้อที่แตกต่างจากเรือลำอื่น คือ เรือพระที่นั่งจะไม่มีการกระทุ้งเส้าให้จังหวะฝีพาย โดยเปลี่ยนมาใช้ "กรับ" แทน นอกเหนือจากนี้แล้ว เรือพระที่นั่งยังมีชื่อเรียกต่าง ๆ ออกไป คือ เรือต้น คือ เรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ ซึ่งในภายหลังหมายถึง เรือลำที่เสด็จฯ ลำลองเป็นการประพาสต้น เรือพระที่นั่งทรง, เรือพระที่นั่งรอง คือ เรือลำที่พระมหากษัตริย์ประทับ และขณะเดียวกันก็มีเรือพระที่นั่งอีกลำ สำรองไว้ในกรณีที่เรือพระที่นั่งทรงชำรุด เรือพลับพลา คือ เรือที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์เปลี่ยนเครื่องทรง เรือพระที่นั่งกิ่ง เป็นเรือชั้นสูงสุดของเรือพระที่นั่ง ซึ่งจะสวยงามเป็นพิเศษ มีความเป็นมาว่า กษัตริย์ไทยในสมัยอยุธยาพระองค์หนึ่ง ได้รับชัยชนะกลับจากสงคราม มีผู้หักกิ่งไม้มาปักเข้าที่หัวเรือ นับแต่นั้นมา ก็มีการเขียนลายกิ่งไม้ประดับที่หัวเรือด้วย และโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า "เรือพระที่นั่งกิ่ง" เรือพระที่นั่งเอกชัย เป็นเรือพระที่นั่งเกือบเทียบเท่าเรือพระที่นั่งกิ่ง มีการแกะสลักลวดลายสวยงามเช่นกัน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ประทับในเรือพระที่นั่งเอกชัย ร่วมไปในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ก็แทบจะไม่แบ่งแยกชั้นเรือพระที่นั่งกิ่ง และเรือพระที่นั่งเอกชัยเลย เรือพระที่นั่งศรีสักหลาด เป็นเรือที่มักดาดกัญญาด้วยสักหลาดทุกลำ ต่อมาเรียกเพียงสั้น ๆ ว่า "เรือพระที่นั่งศรี" เรือพระที่นั่งชนิดนี้ มักมีลวดลายสวยงามตลอดข้างลำเรือ ใช้สำหรับการเสด็จฯ ลำลอง ไม่ได้นำเข้ากระบวนพระราชพิธี ต่อมาภายหลังได้นำเข้ากระบวนพยุหยาตราด้วยเช่นกัน เรือพระที่นั่งกราบ เรือพระที่นั่งลำเล็กสำหรับใช้ถ่ายลำเสด็จเข้าคูคลองเล็ก เรือพระประเทียบ คือ เรือที่นั่งสำหรับเจ้านายฝ่ายใน สำหรับเรือพระที่นั่งแทบทุกลำ จะต้องทอดบัลลังก์บุษบก ทอดบัลลังก์กัญญา หรือพระที่นั่งกง ในส่วนกลางลำเรืออันเป็นที่ประทับ ส่วนบัลลังก์กัญญา มีหลังคาเป็นประทุนรูปคุ้ม มีม่านทอดและที่สำหรับนั่งราบ หรือนั่งห้อยเท้าอย่างเก้าอี้ได้ ส่วนบัลลังก์บุษบก เป็นรูปบุษบกมีฐานสี่เสา หลังคาบุษบกมี ๕ ชั้น ปลายยอดมีพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ และ พระที่นั่งกง รูปร่างคล้ายเก้าอี้แต่ยกขึ้นสูง ประดับประดาอย่างงดงาม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 03:40 |
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
|||
|
|||
เรือเหล่าแสนยากร
เรือที่ประกอบอยู่ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค นอกจากเรือพระที่นั่งแล้ว ยังมีเรืออีกมากมายหลายชนิด ซึ่งมีลักษณะหน้าที่ต่าง ๆ กันออกไป คือ เรือดั้ง คือ เรือที่ทำหน้าที่ป้องกันกระบวนหน้า เพราะคำว่า "ดั้ง" หมายถึง "หน้า" เรือดั้งเป็นเรือที่มีส่วนหัวตั้งสูงงอนขึ้นไป เป็นเรือไม้ก็มี เป็นเรือปิดทองก็มี เรือพิฆาต เป็นเรือรูปสัตว์ที่เคลื่อนไหวรวดเร็ว ทำหน้าที่นำกระบวนเรือตัวแรก แม้จะเป็นเรือรูปสัตว์เช่นเดียวกับเรืออื่น ๆ แต่เป็นเรือรูปสัตว์ชั้นรอง จึงเขียนรูปด้วยสีธรรมดา ไม่ปิดทอง เรือประตู คือ เรือที่ใช้คั่นระหว่างกระบวนย่อย เรือแซง เรือเล็กและเร็ว จัดเป็นเรืออารักขาพระมหากษัตริย์ เรือกัน เป็นเรือที่ป้องกันศัตรู มิให้จู่โจมมาถึงเรือพระที่นั่ง ใกล้ชิดยิ่งกว่าเรือแซง เรือคู่ชัก คือ เรือไชยหรือเรือรูปสัตว์ ที่ทำหน้าที่ลากเรือพระที่นั่ง ซึ่งใหญ่และหนักมาก แต่ในบางครั้งฝีพายไม่เพียงพอ เรือตำรวจ คือ เรือที่พระตำรวจหรือข้าราชการในพระราชสำนัก ลงประจำทำหน้าที่เป็นองครักษ์ เรือรูปสัตว์ มีหัวเรือเป็นรูปศรีษะสัตว์ เรือเหล่านี้อาจจะเป็นเรือพิฆาต เรือเหล่าแสนยากร เรือพระที่นั่ง ได้ทั้งสิ้น สุดแท้แต่ความโอ่อ่าของเรือ ซึ่งในสมัยต่าง ๆ เคยมีรูปสัตว์ดังต่อไปนี้ คือ ราชสีห์ ม้า เลียงผา นกอินทรี สิงโต มังกร นาค ครุฑ ปักษี หงส์ เหรา กระโห้ ฯลฯ เรือกระบวนปิดทอง เป็นเรือที่มีหัวปิดทองเป็นรูปต่าง ๆ สวยงาม ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นเรือเอกชัย และ เรือศีรษะสัตว์ทั้งสิ้น เรือกลอง คือ เรือสัญญาณ ที่ให้เรืออื่นหยุดพายหรือจ้ำโดยใช้กลอง ต่อมาใช้แตรฝรั่งที่มีเสียงดังไกลกว่าแทน แต่ยังคงเรียกเรือกลองเช่นเดิม เรือพระราชพิธีชนิดต่าง ๆ เหล่านี้ มีหน้าที่สำคัญในกระบวนเรือรบโบราณตั้งแต่ครั้งอดีต อีกทั้งยังมีคุณค่ายิ่งทางด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติไทยเรา เหล่าเรือที่ตกทอดมานี้ จะได้รับการซ่อมแซมขึ้นใหม่อย่างสวยงาม เพื่อใช้ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งไม่เพียงแต่แสดงแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่ของกองทัพเรือไทยเท่านั้น แต่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ ที่ความยิ่งใหญ่แห่งวัฒนธรรมไทย จะได้ประจักษ์ต่อสายตานานาอารยประเทศไปอีกนานเท่านาน แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 03:43 |
สมาชิก 16 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
|||
|
|||
การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค
การจัดรูปกระบวนพยุหยาตราในอดีตนั้น มีตามแบบแผนเดิมอันเป็นกระบวนเต็มรูปยิ่งใหญ่มาก คือ "กระบวนเพชรพวง" ซึ่งมีขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จัดริ้วกระบวนออกเป็น ๔ สาย และยังมีสายพระราชยานอยู่ตอนกลาง อีก ๑ สาย สายใน ซ้ายขวาเป็นริ้วเรือแห่ เรียกว่าสายคู่แห่ สายนอกซ้ายขวาเป็นริ้วเรือกัน เรียกว่าสายกัน นอกจากนี้ ระเบียบการจัดกระบวน ยังแบ่งออกเป็น ๕ ตอน ตอนหน้าเรียกว่ากระบวนนอกหน้า ได้แก่ ทหารกองนอก ถัดไปเรียกว่ากระบวนในหน้า ได้แก่ ทหารรักษาพระองค์ ตอนกลางเป็นกระบวนเรือพระราชยาน ตอนหลังชั้นในเรียกกระบวนในหลัง ได้แก่ กองทหารรักษาพระองค์ ส่วนตอนหลังชั้นนอกเรียกว่า กระบวนนอกหลัง ได้แก่ ทหารกองนอก ทั้ง ๕ ตอนนี้มีประตูคั่นทุกตอน สมัยต่อมา การจัดกระบวนเรือโบราณแบบที่เรียกว่ากระบวนเพชรพวงนี้ หมดสิ้นไปพร้อม ๆ กับที่เรือรบโบราณในแม่น้ำ ได้กลายมาเป็นเรือพระราชพิธี การจัดรูปกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค จึงได้ดัดแปลงเอาแบบแผนโบราณนี้ มาเป็นระเบียบการจัดกระบวนเรือพระราชพิธี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จอมพลเรือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงวางหลักเกณฑ์การจัดริ้วกระบวนเรือพระราชพิธี สำหรับเสด็จฯ พยุหยาตราทางชลมารค ขึ้นเป็น ๕ แบบ คือ กระบวนพยุหยาตราใหญ่ กระบวนพยุหยาตราใหญ่ใช้ในโอกาสถวายผ้าพระกฐินหรือโอกาสสำคัญ เช่น การเสด็จฯ เลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค การจัดกระบวนแห่เป็น ๔ สาย รวมกับ สายกลางคือ เรือกลอง เรือตำรวจ และเรือพระที่นั่ง เป็น ๕ สาย ใช้เรือในกระบวนดังนี้ คือ ๑. เรือพิฆาต ๑ คู่ ๒. สายนอก เรือดั้ง ๑๑ คู่ ๓. สายใน เรือรูปสัตว์ ๔ คู่ เรียงลำดับจากหลังมาหน้า คือ เรือครุฑ เรือกระบี่ เรือพญาวานร เรืออสูร ๔. เรือกลองนอก ๑ เรือกลองใน ๑ ๕. เรือตำรวจนอก ๑ เรือตำรวจใน ๑ ๖. เรือเอกชัย ทรงผ้าไตร พระพุทธรูป พุ่ม แล้วแต่งาน มีเครื่องสูง ธงสามชาย ๗. เรือคู่ชัก ใช้เรือเอกชัยเหินหาว และเรือเอกชัยหลาวทอง มีแตรสังข์ มโหระทึก ๘. เรือเอกชัยพระที่นั่งลำทรง ตั้งพระที่นั่งบุษบก มีเครื่องสูง ธงสามชาย ๙. เรือพลับพลา ใช้เรือพระที่นั่งศรี ทรงบัลลังก์กัญญา ๑๐. เรือพระที่นั่งรอง ใช้เรือศรี ทรงบัลลังก์กัญญา ๑๑. เรือตำรวจตาม ๒ เรือ ๑๒. เรือทหารแซง ๒ คู่ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 03:48 |
สมาชิก 14 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#7
|
|||
|
|||
กระบวนพยุหยาตราน้อย
กระบวนพยุหยาตราน้อย ใช้ในโอกาสเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน การจัดกระบวนแบ่งออกเป็น ๒ สาย ถ้านับสายกลาง คือ เรือกลอง เรือตำรวจ และเรือพระที่นั่งด้วย ก็นับว่ามี ๓ สาย ใช้เรือในกระบวน ดังนี้ ๑. เรือพิฆาต ๑ คู่ ๒. เรือดั้ง ๗ คู่ ๓. เรือรูปสัตว์ ๔ คู่ ลำดับจากหลังไปหน้า คือ เรือครุฑ เรือกระบี่ เรือพญาวานร เรืออสูร ๔. เรือกลองนอก ๑ เรือกลองใน ๑ ๕. เรือตำรวจนำนอก ๑ ใน ๑ ๖. เรือเอกชัย ทรงผ้าไตรหรือพระพุทธรูป หรือพุ่ม แล้วแต่งาน มีเครื่องสูง ธงสามชาย แตรสังข์ ๗. เรือคู่ชัก ใช้เรือเอกชัยเหินหาว และเรือเอกชัยหลาวทอง มีแตรสังข์ มโหระทึก ๘. เรือพระที่นั่งลำทรง ใช้เรือศรีหรือเรือกิ่ง ทรงบัลลังก์กัญญา มีเครื่องสูง ธงสามชาย ถ้าเป็นเรือศรี งดธง เครื่องสูง ๙. เรือพระที่นั่งรอง ใช้เรือศรี ทรงบัลลังก์กัญญา ๑๐. เรือตำรวจตาม ๒ เรือ ๑๑. เรือทหารแซง ๒ คู่ กระบวนราบใหญ่ กระบวนเรือราบใหญ่ เป็นการจัดกระบวนที่ใช้ในพระราชพิธีเสด็จถวายผ้าพระกฐินที่ไม่ใหญ่โตนัก ไม่มีเรือรูปสัตว์เลย จัดกระบวนออกเป็น ๒ สาย ถ้านับสายกลาง คือ เรือกลอง เรือ พระที่นั่ง เรือตำรวจด้วยก็เป็น ๓ สาย มีเรือดังนี้ คือ ๑. เรือพิฆาต ๑ คู่ ๒. เรือดั้ง ๑๑ คู่ ๓. เรือกลองนอก ๑ กลองใน ๑ ๔. เรือตำรวจนำนอก ๑ ใน ๑ ๕. เรือเอกชัย มีหรือไม่แล้วแต่งาน ใช้เครื่องสูง ธงสามชาย แตรสังข์ ๖. เรือคู่ชัก ใช้เรือกระบี่ ๑ ครุฑ ๑ มีมโหระทึก ๗. เรือพระที่นั่งลำทรง ใช้เรือศรี ไม่มีเครื่องสูง ๘. เรือพระที่นั่งรอง ใช้เรือศรี ๙. เรือตำรวจตาม ๒ คู่ ๑๐. เรือทหารแซง ๒ คู่ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 03:50 |
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#8
|
|||
|
|||
กระบวนราบน้อย
กระบวนราบน้อยใช้ในโอกาสเดียวกับกระบวนราบใหญ่ จัดกระบวนเรือเป็น ๒ สายเท่านั้น ใช้เรือดังนี้ คือ ๑. เรือพิฆาต ๑ คู่ ๒. เรือดั้ง ๑๑ คู่ ๓. เรือกลองนอก ๑ ใน ๑ ๔. เรือตำรวจนำนอก ๑ ใน ๑ ๕. เรือเอกชัย มีหรือไม่แล้วแต่งาน เครื่องสูง ธงสามชาย แตร สังข์ ๖. เรือคู่ชัก ใช้เรือทองขวานฟ้า เรือทองบ้าบิ่น มีมโหระทึก ๗. เรือพระที่นั่งลำทรง ใช้เรือกราบ ๘. เรือพระที่นั่งรอง ใช้เรือกราบ ๙. เรือตำรวจตาม ๒ เรือ ๑๐. เรือทหารแซง ๒ คู่ กระบวนราบย่อ กระบวนราบย่อเป็นการจัดกระบวนรับช่วงต่อในเส้นทางที่จะเสด็จฯ ไปในลำคลองที่คับแคบ มีเรือดังนี้ คือ ๑. เรือกลอง ๑ เรือ ๒. เรือตำรวจนำ ๑ เรือ ๓. เรือคู่ชัก ๑ คู่ ใช้เรือดั้งหรือเรือทองขวานฟ้า เรือทองบ้าบิ่น ๔. เรือพระที่นั่งโถง ตั้งพระราชยานกง ใช้เรือกราบขนาดย่อม ๕. เรือพระที่นั่งรอง ใช้เรือกราบขนาดย่อม ทรงบัลลังก์กัญญา ๖. เรือตำรวจตาม ๑ เรือ ๗. เรือทหารแซง ๑ คู่ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 03:52 |
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#9
|
|||
|
|||
ระเบียบพิธีที่ถือปฏิบัติ
นอกเหนือจากการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในแบบต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วนี้ ยังมีระเบียบหรือพระราชพิธี ที่ถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน เช่น - เรือที่ติดอาวุธได้ มีเฉพาะแต่เรือรูปสัตว์เท่านั้น - เรือลำใดที่ไม่มีผ้าคลุมหลังคา และไม่มีผ้าหน้าจั่ว คือ เรือกลองนอก กลองใน เรือแซง เรือตำรวจ เรือพวก นี้จะใช้หลังคากระแชงเปี๊ยะ - เรือลำใดทอดบัลลังก์กัญญาแล้ว จะทอดบุษบก และพระราชยานกงมิได้ - พลฝีพายในเรือพระที่นั่งทรง เรือพระที่นั่งรอง และเรือทรงผ้าไตร ๓ ลำนี้ หากกรมพระราชวังสั่งให้ข้าราชการแต่งกายเต็มยศ หรือครึ่งยศรับเสด็จฯ ต้องแต่งกายเต็มยศอย่างพลฝีพาย (ใช้พายเงินพายทอง) หากแต่งกายปกติ จะแต่งกายดำ สวมหมวกกลีบลำดวน ใช้พายทาน้ำมัน - ท่าพายเรือแบ่งไว้เป็น ๓ ท่า คือ ๑. พายธรรมดา ๒. พายกระเดียด ๓. พายท่านกบิน สำหรับเรือพระที่นั่งต้องพายท่านกบินเสมอ จะเปลี่ยนท่าพายต้องขอพระบรมราชานุญาต - การเห่ในกระบวนพยุหยาตราใหญ่ ต้นบทเห่ เห่ในเรือพระที่นั่ง กระบวนพยุหยาตราน้อยและกระบวนราบ ใหญ่ ราบเล็ก ต้นบทเห่ เห่ในเรือทรงผ้าไตร - การเห่ก็ดี ขานยาวก็ดี ฝีพายจะรับข้ามที่ประทับไม่ได้ เช่น เห่และขานยาวตอนหัวเรือ ฝีพายตอนหัวเรือรับ ฝีพายตอนท้ายเรือรับไม่ได้ ถือกันว่าเสียงข้ามพระเจ้าอยู่หัว - การเสด็จฯ กลับ ถ้าพระอาทิตย์อัสดงค์แล้ว ต้องโห่ ๓ ลาเสียก่อน จึงออกเรือพระที่นั่งได้ - การใช้โคมไฟ ห้ามใช้ในเรือพระที่นั่ง เรือรูปสัตว์ใช้โคมเพชร เรืออื่น ๆ ใช้โคมบัว แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 03:54 |
สมาชิก 14 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#10
|
|||
|
|||
กระบวนพยุหยาตราชลมารคในงานพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน
วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๙ เรือพระราชพิธี ๕๒ ลำ ชื่อเรือ และ กำลังพล เอกชัยเหินหาว (๔๔) เอกชัยหลาวทอง (๔๔) พาลีรั้งทวีป (๔๑) สุครีพครองเมือง (๔๑) กระบี่ปราบเมืองมาร (๕๓) กระบี่ราญรอนราพณ์ (๕๓) ครุฑเหินเห็จ (๔๑) ครุฑเตร็จไตรจักร (๔๑) อสุรปักษี (๕๗) รวม ๙ ลำ กำลังพล ๔๑๕ นาย อีเหลือง (๓๑) ดั้ง ๖ (๓๙) ๑๒ (๓๗) ๑๓ (๓๗) ๑๙ (๓๗) ๒๐ (๓๗) ๒๑ (๓๗) รวม ๗ ลำ กำลังพล ๒๕๕ นาย แตงโม (๓๒) ทองขวานฟ้า (๔๔) ทองบ้าบิ่น (๔๔) ดั้ง ๕ (๓๙) ๒๒ (๓๗) ๒๑ (๓๗) รวม ๖ ลำ กำลังพล ๒๒๔ นาย เสือทะยานชล (๓๓) เสือคำรนสินธุ์ (๓๓) รวม ๒ ลำ กำลังพล ๖๖ นาย ดั้ง ๑ (๔๓) ๒ (๔๑) ๓ (๔๑) ๔ (๔๑) รวม ๔ ลำ กำลังพล ๑๖๖ นาย ดั้ง ๗ (๓๙) ๘ (๓๙) รวม ๒ ลำ กำลังพล ๗๘ นาย ดั้ง ๑๔ (๓๗) ๑๕ (๓๗) ๑๖ (๓๗) ๑๗ (๓๗) ๑๘ (๓๗) รวม ๕ ลำ กำลังพล ๑๘๕ นาย แซง ๑ (๒๔) ๒ (๒๔) ๓ (๒๘) ๔ (๒๘) ๕ (๒๘) ๗ (๓๔) รวม ๖ ลำ กำลังพล ๑๖๖ นาย ตำรวจ ๑ (๒๔) ๒ (๒๖) รวม ๒ ลำ กำลังพล ๕๐ นาย ตำรวจ ๓ (๒๘) รวม ๑ ลำ กำลังพล ๒๘ นาย อนันตนาคราช (๗๒) ดั้ง ๑๐ (๓) ๑๑ (๓๘) รวม ๓ ลำ กำลังพล ๑๕๐ นาย สุพรรณหงส์ (๖๔) อเนกชาติภุชงค์ (๗๕) นารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ (๖๔) รวม ๓ ลำ กำลังพล ๒๐๓ นาย อสุรวายุภักษ์ (๕๗) รวม ๑ ลำ กำลังพล ๕๗ นาย ดั้ง ๙ (๓๙) รวม ๑ ลำ กำลังพล ๓๙ นาย รวมกำลังพลทั้งหมด ๒,๐๘๒ นาย แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 03:57 |
สมาชิก 14 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#11
|
|||
|
|||
การจัดรูปกระบวนเรือฯ พร้อมตำแหน่งเรือ
กระบวนพยุหยาตราชลมารคในงานพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ๑. การจัดรูปกระบวนเรือ การจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในงานพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ในวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ นั้น เป็นการจัดกระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) ซึ่งจะจัดกระบวนเรือตามแบบอย่าง เมื่อครั้ง พ.ศ.๒๕๓๐ ทุกประการ กล่าวคือ กระบวนเรือจะประกอบไปด้วยริ้วกระบวน ๕ ริ้ว ใช้เรือรวมทั้งสิ้น ๕๒ ลำ ระยะต่อระหว่างลำ ๔๐ เมตร เว้น ระหว่างเรือพระที่นั่ง ๕๐ เมตร ระยะเคียงระหว่างริ้ว ๒๐ เมตร ความยาวของกระบวนยาว ๑,๑๑๐ เมตร กว้าง ๙๐ เมตร กำลังพลทั้งหมด ๒,๐๘๒ นาย เรือประเภทต่าง ๆ ที่ใช้ในกระบวนพยุหยาตรา มีดังนี้ ๑.๑ เรือประตูหน้า เป็นเรือนำริ้วกระบวน ประกอบด้วยเรือ ๒ ลำ เป็นเรือลำหน้าสุดของริ้วที่ ๑ และ ๕ (นับจากขวา) ใช้ เรือทองบ้าบิ่น (ขวา) และ เรือทองขวานฟ้า (ซ้าย) ๑.๒ เรือพิฆาต เป็นเรือรบที่อยู่ในริ้วที่ ๑ และที่ ๕ ถัดจากเรือประตูหน้า เข้ามาในกระบวนหัวเรือ เป็นรูปเสือ มีปืนจ่ารงตั้งที่หัวเรือ ได้แก่ เรือเสือทะยานชล (ขวา) และ เรือเสือคำรณสินธุ์ (ซ้าย) เรือดังกล่าวนี้ปกติจะแล่นส่าย โดยเรือเสือทะยานชล แล่นส่ายนอกด้านขวา และ เรือเสือคำรณสินธุ์ แล่นส่ายนอกด้านซ้าย ๑.๓ เรือดั้ง เป็นเรือไม้ทาน้ำมัน บางลำทาสีทอง (ดั้ง ๒๑ และ ๒๒) ไม่มีลวดลาย ใช้สำหรับเป็นเรือรอบนอกของกระบวน โดยอยู่ในริ้วขวาสุดและริ้วซ้ายสุด ริ้วนอกด้านหน้าของกระบวนมี ๑๑ คู่ หรือ ๒๒ ลำ ได้แก่ เรือดั้ง ๑ - ๒๒ เลขคี่ อยู่ด้านขวา เลขคู่อยู่ด้านซ้าย ๑.๔ เรือกลองใน-กลองนอก เป็นเรือกราบ อยู่ในริ้วกลาง หรือริ้วที่ ๓ มีปี่ชวาและกลองแขกสำหรับบรรเลง มี ๒ ลำ ได้แก่ เรือกลองใน (ใช้เรือแตงโม) อยู่บริเวณกลางกระบวน ข้างหน้าเรือพระที่นั่ง เรือสำหรับผู้บัญชาการกระบวนเรือ เรือกลองนอก (ใช้เรืออีเหลือง) อยู่หน้าสุดของริ้วกลาง เป็นเรือสำหรับรองผู้บัญชาการกระบวนเรือ ๑.๕ เรือตำรวจใน-ตำรวจนอก เป็นเรือกราบ มีพระตำรวจหลวงชั้นปลัดกรมนั่งคฤห์ มี ๒ ลำ ได้แก่ เรือตำรวจใน อยู่ในริ้วกลางหน้าเรืออนันตนาคราช เรือตำรวจนอก อยู่หน้าถัดจากเรือตำรวจใน ๑.๖ เรือรูปสัตว์ เป็นเรือแกะสลัก หัวเรือเป็นรูปขุนกระบี่ รูปอสูร รูปพญาวานร และครุฑ ปัจจุบันมีอยู่ ๘ ลำ หรือ ๔ คู่ จัดให้อยู่ในริ้วกระบวนที่ ๒ และที่ ๔ อยู่ถัดระดับเรือตำรวจนอกเข้ามา โดยมีตำแหน่งเรือ ดังนี้ ริ้วที่ ๒ ริ้วที่ ๔ อสุรปักษี อสุรวายุภักษ์ กระบี่ปราบเมืองมาร กระบี่ราญรอนราพณ์ สุครีพครองเมือง พาลีรั้งทวีป ครุฑเตร็จไตรจักร ครุฑเหินเห็จ ๑.๗ เรือพระที่นั่ง จัดว่าเป็นเรือสำคัญที่สุด และสง่างามที่สุดในกระบวน มีเรือพระที่นั่งทรง ได้แก่ เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ มีเรือพระที่นั่งรอง ได้แก่ เรือสุพรรณหงส์ ในกระบวนพยุหยาตราครั้งนี้ เรืออนันตนาคราช จะเป็นเรือทรงผ้าไตร เรือเอนกชาติภุชงค์ เป็นเรือทรงผ้าไตรสำรอง ๑.๘ เรือคู่ชัก เป็นเรือที่ทำหน้าที่นำเรือพระที่นั่ง โดยอยู่ทางเบื้องขวาเฉียงไปข้างท้ายลำหนึ่ง ได้แก่ เรือเอกชัยเหินหาว และอยู่ทางเบื้องซ้ายเฉียงไปข้างท้ายอีกลำหนึ่ง ได้แก่ เรือเอกชัยหลาวทอง ๑.๙ เรือตำรวจตาม ใช้เรือกราบกัญญา ใช้เป็นพาหนะของพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ที่ตามเสด็จในกระบวน มีตำแหน่งเรืออยู่ในริ้วกลางต่อจากเรือผ้าไตรสำรอง (เรืออเนกชาติภุชงค์) ๑.๑๐ เรือแซง ใช้เรือกราบกัญญา เป็นเรือทหาร เรือแซงเสด็จทั้ง ๒ ข้างของเรือพระที่นั่ง โดยอยู่ในริ้วนอกสุดของกระบวน มี ๖ ลำ หรือ ๓ คู่ โดยแซงด้านขวา ๓ ลำ ได้แก่ เรือแซง ๑, ๓, ๕ และแซงด้านซ้าย ๓ ลำ ได้แก่ เรือแซง ๒,๔, ๖ นอกจากนั้นยังจัดเรือแซง ๗ อีก ๑ ลำ ปิดท้ายริ้วกลางของกระบวน ต่อจากเรือตำรวจตาม ๑.๑๑ เรือประตูหลัง ใช้เรือกราบกันยา คือ เรือแซง ๕ และแซง ๖ เรือทั้งหมดที่เตรียมไว้มี ๕๓ ลำ แต่จะใช้ในกระบวนพยุหยาตรา ๕๒ ลำ ๒. การเคลื่อนกระบวนเรือ มีการปฏิบัติในการเคลื่อนกระบวนดังต่อไปนี้ คือ : ๒.๑ การเคลื่อนกระบวนเรือพระราชพิธีจากท่าวาสุกรีไปวัดอรุณราชวราราม ๒.๒ การปฏิบัติระหว่างการเดินทางจากท่าวาสุกรีไปวัดอรุณราชวราราม ๒.๓ การปฏิบัติเมื่อเรือพระที่นั่งทรงเข้าเทียบท่าวัดอรุณราชวราราม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 04:03 |
สมาชิก 14 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#12
|
|||
|
|||
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือสร้างใหม่ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ (เรือเดิมมีนามว่า เรือศรีสุพรรณหงส์ สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) นาวาสถาปนิก (naval Architect) ต่อเรือสุพรรณหงส์ คือ พลเรือตรี พระยาราชสงคราม รน. (กร หงสกุล) จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง หัวเรือเป็นรูปหงส์ ลงรักปิดทองประดับกระจก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือภายในทาสีแดง มีความ ยาว ๔๔.๙๐ เมตร ความกว้าง ๓.๑๔ เมตร ลึก ๐.๙๐ เมตร กินน้ำลึก ๐.๔๑ เมตร กำลัง ๓.๕๐ เมตร (พายครั้งหนึ่งแล่นไปได้ไกล ๓.๕๐ เมตร) ใช้ฝีพาย ๕๐ คน นายท้าย ๒ คน นายเรือ ๒ คน คนถือธงท้าย ๑ คน พลสัญญาณ ๑ คน และคนเห่เรือ ๑ คน แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 04:04 |
สมาชิก 14 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#13
|
|||
|
|||
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือสร้างใหม่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ แทนลำเดิม ซึ่งสร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หัวเรือปิดทองประดับกระจก เป็นรูปพระยานาค ๗ เศียร จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ลำเรือภายนอกทาสีเขียว ท้องเรือภายในทาสีแดง ยาว ๔๒.๙๕ เมตร กว้าง ๒.๙๕ เมตร ลึก ๐.๗๖ เมตร กินน้ำลึก ๐.๓๑ เมตร กำลัง ๓.๐๒ เมตร (พายครั้งหนึ่งแล่นไปได้ไกล ๓.๐๒ เมตร) ฝีพาย ๕๔ คน นายท้าย ๒ คน นายเรือ ๒ คน คนถือธงท้าย ๑ คน พลสัญญาณ ๑ คน คนเห่ ๑ คน แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 04:05 |
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#14
|
|||
|
|||
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือสร้างใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ หัวเรือจำหลักปิดทองเป็นรูปพญานาคเล็ก ๆ จำนวนมาก จัดเป็นเรือพระที่นั่งศรี ลำเรือภายนอกทาสีชมพู ท้องเรือภายในทาสีแดง ยาว ๔๕.๕๐ เมตร กว้าง ๓.๑๕ เมตร ลึก ๑.๑๑ เมตร กินน้ำลึก ๐.๔๖ เมตร กำลัง ๓.๕๐ เมตร (พายครั้งหนึ่งแล่นไปได้ไกล ๓.๕๐ เมตร) ฝีพาย ๖๑ คน นายท้าย ๒ คน นายเรือ ๒ คน คนถือธงท้าย ๑ คน พลสัญญาณ ๑ คน คนเห่ ๑ คน แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 04:06 |
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#15
|
|||
|
|||
เรือเอกชัยเหินหาว และเรือเอกชัยหลาวทอง
เรือเอกชัยเหินหาว และเรือเอกชัยหลาวทอง เรือทั้งสองลำนี้เป็นเรือคู่ชัก ใช้นำหน้าหรือชักลากเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในกรณีที่ฝีพายไม่เพียงพอ เรือทั้งสองเป็นเรือกระบวน ลงรักปิดทอง วาดลายเป็นรูปเหราหรือจระเข้ สร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ เรือทั้งสองลำมีความยาวประมาณ ๒๗.๕๐ เมตร กว้าง ๑.๙๙ เมตร ใช้ฝีพาย ๓๘ คน เรือครุฑเหินเห็จ และเรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือครุฑเหินเห็จ และเรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือทั้งสองลำนี้มีหัวเรือเป็นรูปพญาครุฑยุดนาค จัดเป็นเรือกระบวน เขียนสีลงรักปิดทอง สร้างในรัชกาลที่ ๑ เรือทั้งสองลำนี้มีความประมาณ ๒๗ เมตร กว้าง ๑.๙๐ เมตร ฝีพาย ๓๔ คน เรือพาลีรั้งทวีป และเรือสุครีพครองเมือง เรือพาลีรั้งทวีป และเรือสุครีพครองเมือง เรือทั้งสองลำนี้หัวเรือเป็นรูปพญาวานร หรือขุนกระบี่ เรือพาลีรั้งทวีปเป็นขุนกระบี่สีเขียว ส่วนเรือสุครีพครองเมืองเป็นขุนกระบี่สีแดง จัดเป็นเรือกระบวนปิดทอง สร้างในรัชกาลที่ ๑ เรือทั้งสองลำมีความประมาณ ๒๗.๔๕ เมตร กว้าง ๑.๙๕ เมตร ฝีพาย ๓๔ คน เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ และเรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ และเรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือสองลำนี้หัวเรือเป็นรูปพญาวานรหรือขุนกระบี่ เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เป็นขุนกระบี่สีดำ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เป็นขุนกระบี่สีขาว จัดเป็นเรือกระบวนปิดทอง สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๑ มีความยาวประมาณ ๒๖.๘๐ เมตร กว้าง ๒.๑๐ เมตร ฝีพาย ๓๖ คน เรืออสุรวายุภักษ์ และเรืออสุรปักษี เรืออนุรวายุภักษ์ และเรืออสุรปักษี เรือทั้งสองลำนี้เป็นเรือกระบวนปิดทอง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ มี รูปหัวเรือเป็นนกหน้ายักษ์ เรืออสุรวายุภักษ์ จะเป็นตัวที่ใส่เสื้อสีม่วงมือและเท้าเป็นสีคราม ส่วนอสุรปักษี จะใส่เสื้อข้างหน้าสีม่วง ข้างหลังสีเขียว มือและเท้าเป็นสีเขียว มีความยาวประมาณ ๓๐.๐๐ เมตร กว้าง ๒.๐๐ เมตร ฝีพาย ๔๐ คน เรือเสือทะยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เรือเสือทะยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เรือทั้งสองลำนี้ล้วนเป็นเรือพิฆาต สร้างมาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ หัวเรือเขียนสีเป็นรูปเสือ ลำเรือภายนอกทาสีเหลืองลายเสือ ไม่ลงรักปิดทอง ภายในท้องเรือทาสีแดง ยาว ๒๒.๒๗ เมตร กว้าง ๑.๗๔ เมตร ลึก ๐.๕๗ เมตร กำลัง ๒.๔๕ เมตร (พายครั้งหนึ่งแล่นไปได้ไกล ๒.๔๕ เมตร) ฝีพาย ๒๖ คน นายท้าย ๑ คน นายเรือ ๒ คน นั่งคฤห์กัญญา ๓ คน พลสัญญาณ ๑ คน มีปืนบรรจุปากกระบอก ๑ กระบอก แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 04:11 |
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#16
|
||||
|
||||
อย่างน้อยมี ๒ มหาราชของไทย ทรงพระปรีชายิ่งในการยุทธทางน้ำ ปรากฎเกียรติประวัติยุทธนาวีไทยอย่างโดดเด่น
สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้ทัพเรือเข้าปะทะโจมตีทัพเจ้าเชียงใหม่ที่แขวงวิเศษไชยชาญ แตกพ่ายดุจพลิกฝ่ามือ สมเด็จพระเจ้าตากสินนอกจากจะทรงใช้ทัพเรือยกเข้ามาตีค่ายโพธิสามต้นแล้ว ยังทรงแสดงพระปรีชาในการยุทธทางทะเล ยกทัพเรือปราบปรามตีหัวเมืองท่าแถบเขมรและเวียดนามอย่างราบคาบ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 04:11 |
สมาชิก 16 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ คนเก่า ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#17
|
|||
|
|||
เสริมพี่คนเก่าครับ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราช ได้ทรงเรือพระที่นั่งเสด็จไปจับกุมตัวพระยาจีนจันตุ ขุนนางเขมรเชื้อสายจีน และได้ทรงปืนบนเรือพระที่นั่ง ยิงตอบโต้กับทางเรือสำเภาของพระยาจีนจันตุด้วยครับ
แต่เนื่องด้วยเรือพระที่นั่งเป็นเรือที่ใช้กับแม่น้ำลำคลอง ไม่เหมือนเรือสำเภาที่ใช้เดินทะเล ทำให้พระองค์ไม่สามารถตามไปจับตัวพระยาจีนจันตุได้ครับ นอกจากนี้ สมเด็จพระอนุชาธิราช (พระเอกาทศรถ) ก็ทรงเกรงว่า สมเด็จพระเชษฐาจะทรงได้รับอันตราย จึงทรงให้เรือพระที่นั่งของพระองค์ (สมเด็จพระเอกาทศรถ) ไปขวางเรือพระที่นั่งของพระเชษฐาไว้อีกชั้นหนึ่งครับ ส่วนพระยาจีนจันตุ ภายหลังได้เสียชีวิตในสงครามที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกทัพไปตีกรุงละแวก เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๖ ครับ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 04:13 |
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เด็กเมื่อวานซืน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#18
|
|||
|
|||
สำหรับปืนใหญ่เรือที่ใส่ในช่องข้างใต้รูปสัตว์นั้น จะเป็นปืนประเภท ปืนจ่ารง ครับ
ที่มาของรูป : http://www.vcharkarn.com/vcafe/52183/5 ปืนจ่ารงนี้ใช้ในหลายงานพระราชพิธี ถ้าเป็นพระราชพิธีเสด็จเลียบพระนครเมื่อมีการเสด็จขึ้นครองราชย์นั้น จะนำปืนจ่ารงมาใส่อยู่ในเกวียน (สำหรับลาก) เรียกปืนแบบนี้ว่า ปืนจ่ารงรางเกวียน ครับ ซึ่งจะอยู่ปิดท้ายกระบวน แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 04:14 |
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เด็กเมื่อวานซืน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#19
|
|||
|
|||
สำหรับรายละเอียดของปืนจ่ารง ขอยกไว้ก่อนนะครับ สักประมาณวันเสาร์ หรือ อาทิตย์จะพิมพ์ให้อ่านกันครับ
ปืนหามแล่นนี้ มหาดเล็ก , สนมทหาร , สนมตำรวจ จะใช้งานเมื่อถึงเวลาเป็นผู้ไปจุกช่องล้อมวง ทั้งบนบกและลอยเรืออยู่ตามจุดต่าง ๆ ตามทางเสด็จพระราชดำเนินผ่าน (ทั้งทางสถลมารค และ ทางชลมารค) เพื่อถวายการอารักขาครับ นอกจากนี้ ในราชการสงคราม ปืนหามแล่นนี้ ก็ยังถูกนำไปใช้ในการรบแบบกลางแปลงด้วยเช่นกันครับ ที่มา : หนังสือวิวัฒนาการศาสตราวุธของกองทัพไทย แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 04:16 |
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เด็กเมื่อวานซืน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#20
|
|||
|
|||
เรือดั้งปิดทองทึบ
เรือดั้งปิดทองทึบ ลักษณะเป็นเรือขุดธรรมดา แต่ปิดทองทึบทั้งลำ รวม ๒ ลำ หมายเลข ๒๑ และ ๒๒ เรียกว่า เรือโขมดยา (เรือตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช) เรือดั้ง เรือกราบ เรือดั้ง ลักษณะหัวท้ายงอนขึ้น เป็นเรือขุดธรรมดาทาน้ำมัน เรือกราบ ลักษณะหัวเรือเชิดขึ้นเหนือแนวน้ำ เป็นเรือขุดธรรมดาทาน้ำมัน หมายเลข ๑๔ - ๒๐ รวมประมาณ ๔๐ ลำ เรือดั้งทองขวานฟ้า เรือดั้งทองบ้าบิ่น เรือดั้งทองขวานฟ้า ลักษณะเป็นเรือดั้งทาน้ำมันเกลี้ยงทั้งลำ ยอดดั้งปิดทอง เรือดั้งทองบ้าบิ่น ลักษณะเป็นเรือดั้งทาน้ำมันเกลี้ยงทั้งลำ ยอดดั้งปิดทอง แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 04:17 |
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|