#1
|
||||
|
||||
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๕
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๕
|
สมาชิก 38 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ พิชวัฒน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๑๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ อากาศตอนเช้าอยู่ที่ ๑๘ องศาเซลเซียส หมอกลงหนักจนมองไม่เห็นทิวทัศน์แม่น้ำโขง กระผม/อาตมภาพออกมาถ่ายรูปทิวทัศน์รอบที่พักท่ามกลางสายหมอกเพื่อรอเวลาฉันเช้า เนื่องจากว่าทางห้องอาหารเซียงแก้ว ซึ่งเป็นห้องอาหารประจำโรงแรมแกรนด์หลวงพระบางได้นัดเวลาฉันเช้าเอาไว้ที่ ๖ โมงเช้า
คำว่า "เซียงแก้ว" นี้เป็นชื่อเล่นของ "เจ้าลุง" (ท่านเจ้าเพชรราช รัตนวงศา) เนื่องจากว่าท่านมีชื่อเล่นว่าแก้ว เมื่อบวชพระแล้วสึกออกมา คนลาวก็เรียกว่า "เซียงแก้ว" ถ้าเป็นคนไทยก็ต้องเรียกว่า "ทิดแก้ว" ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เขาจึงเอาพระนามของท่านมาตั้งเป็นชื่อห้องอาหารของที่นี่ เมื่อรับประทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว พวกเราก็นั่งคุยกันรอเวลา จนกระทั่ง ๘ โมงครึ่งตรงเวลา "ท้าวนุ" มัคคุเทศก์ของเรา ซึ่งเพิ่งทราบว่าเป็นคนใหญ่คนโตในระดับประธานกลุ่มมัคคุเทศก์ประจำหลวงพระบาง หรือว่าประธานกลุ่มมัคคุเทศก์ประจำประเทศลาวเลยก็ไม่แน่ใจ ในเมื่อเป็นประธานกลุ่ม ต้องทำหน้าที่บริหารจัดการ โดยที่บอกว่าได้ดูแบบอย่างจากประเทศไทยและประเทศเวียดนาม พยายามที่จะปรับปรุงคุณภาพของมัคคุเทศก์เมืองลาวให้ทัดเทียมกับทั้ง ๒ ประเทศดังที่ได้กล่าวมาแล้ว "ท้าวนุ" ได้พาพวกเราวิ่งตรงไปยังธาตุพูสี (พระธาตุภูศรี) เมื่อไปถึง ปรากฏว่าพระธาตุภูศรีนั้นอยู่บนยอดเขา ตรงกันข้ามกับพระราชวังเก่าของเจ้ามหาชีวิตแห่งประเทศลาว เมื่อถามว่ายอดเขาพระธาตุภูศรีนี้มีไว้เพื่อตั้งพระธาตุประจำเมืองอย่างเดียวหรือไม่ ? ปรากฏว่า "ท้าวนุ" ให้คำตอบที่แปลกออกไปว่า การสร้างเมืองหลวงหรือว่าวังหลวงของทางล้านช้างนั้น มักจะเลือกให้ภูเขาขวางหน้าไว้ ถ้าหากว่ากองทัพของศัตรูบุกเข้ามา ทหารของล้านช้างไม่สามารถที่จะต่อต้านได้ ศัตรูข้ามผ่านกองทัพล้านช้างแล้ว ก็ยังต้องเสียเวลาในการปีนเขาข้ามมา ทำให้ทางพระราชวังหลวงที่อยู่ริมแม่น้ำโขง มีเวลาจัดให้เจ้ามหาชีวิตล่องเรือหนีศัตรูได้ทัน ก็แปลว่า ถ้าหากว่ากองทัพของล้านช้างพ่ายแพ้ น่าจะมีการส่งสัญญาณให้ทางเจ้ามหาชีวิตได้ทราบ จะได้เสด็จพระราชดำเนินทางเรือออกจากวังหลวงไป ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่กระผม/อาตมภาพไม่เคยคิดมาก่อนว่า การสร้างเมืองนั้นจะมีแนวคิดในลักษณะแบบนี้อยู่ด้วย พวกเราได้ถ่ายรูปกับหอพระบาง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำประเทศลาวหรือว่าประจำเมืองหลวงพระบางนี้ แล้วหลังจากนั้นก็ได้เดินขึ้นสู่พระธาตุภูศรี ซึ่งประกอบไปด้วยบันไดทั้งสิ้น ๓๒๘ ขั้น
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 20-10-2022 เมื่อ 02:48 |
สมาชิก 29 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
คนอื่นอาจจะท้อใจอยู่สักเล็กน้อย แต่กระผม/อาตมภาพที่เคยชินกับยอดเขาพระพุทธเจติยคีรี สูง ๓๙๓ ขั้นของวัดท่าขนุน ตลอดจนกระทั่งยอดเขารอยพระพุทธบาท สูง ๑,๑๗๓ ขั้น จึงตั้งใจเดินให้ถึงยอดภายในรวดเดียว แต่ก็ยังมีรการโดนดึงให้หยุดถ่ายรูปเป็นระยะไป เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าบางคนเดินไม่ไหว แต่อ้างว่าตรงจุดนี้ทิวทัศน์สวยมาก น่าที่จะหยุดถ่ายรูปกันก่อน ซึ่งเป็นการพักไปในตัว..!
เมื่อพวกเราได้ขึ้นไปกราบสักการะพระธาตุภูศรีข้างบนแล้ว เห็นว่ามีหินอธิษฐานอยู่ด้านข้าง ซึ่งกระผม/อาตมภาพไม่ได้อธิษฐานอะไร ก็ยกปลิวติดมือมาตามเคย หลังจากนั้นก็ได้เดินดูทิวทัศน์มุมต่าง ๆ ของเมืองหลวงพระบาง ซึ่งช่วงนี้ฟ้าเปิด ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนมากว่า เมืองหลวงพระบางนั้นไม่สามารถที่จะสร้างตึกสูงได้ เนื่องจากว่าเป็นเขตมรดกโลกทั้งเมือง ซึ่ง "ท้าวนุ" มัคคุกเทศก์ของเราบอกง่าย ๆ ว่า "ห้ามสร้างเรือนสูงเกินยอดมะพร้าว" ซึ่งความจริงคงจะมีการกำหนดระยะความสูงที่ชัดเจนไว้ แต่นี่บอกกล่าวกันในภาษาชาวบ้านเท่านั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ "ท้าวนุ" ตื่นเต้นมากก็คือ ขณะที่พวกเรากำลังถ่ายรูปหมู่อยู่ ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่มาเปิดหอกลองตีบูชาพระธาตุภูศรี เสียงกลองกระหึ่มไปทั้งยอดเขา ทำเอา "ท้าวนุ" รีบถ่ายวิดีโอเป็นการใหญ่ พร้อมกับบรรยายว่า การได้ฟังเสียงกลองนั้น เป็นบุญของพวกเราที่จะทำให้มีชื่อเสียงกึกก้องโด่งดัง เพราะว่าได้ถวายเป็นพุทธบูชาด้วยเสียง เป็นโอกาสที่น้อยคนจะได้พบ เพราะว่าถ้ามาไม่ตรงจังหวะ ก็ไม่มีโอกาสได้ชมอย่างใกล้ชิดแบบนี้ หลังจากนั้น พวกเราก็ค่อย ๆ เดินลง ซึ่งบางคนในคณะบ่นว่า เดินลงยากกว่าเดินขึ้นเสียอีก เพราะว่าต้องใช้กำลังในการยั้งตัวเวลาลง ทำให้เดินแล้วรู้สึกว่าเจ็บหัวเข่า ลงมาถึงข้างล่าง กระผม/อาตมภาพเห็นมีคนที่ขายนกปล่อย ซึ่งอยู่ในกรงที่สานด้วยไม้ไผ่เป็นกรงเล็ก ๆ เหมือนอย่างกับกระปุกหรือว่ากล่อง ใส่นกกระติ๊ดเอาไว้คู่หนึ่ง พอถามราคาแล้วก็ต้องรีบวางโดยด่วน เพราะเขาบอกว่า "๑๐๐ บาท" ยืนยันเป็นเงินไทยอย่างชัดเจน ถ้าอย่างนั้นก็รอคนอื่นปล่อยไปก็แล้วกัน..! พวกเราเดินถ่ายรูปหอพระบางจากมุมต่าง ๆ จนครบถ้วนแล้ว รอจนทุกคนลงมาครบ "ท้าวนุ" ก็พาข้ามไปพระราชวังเดิมของเจ้ามหาชีวิต ซึ่งปัจจุบันนี้ก็คือพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหลวงพระบาง เข้าไปซื้อ "ปี้" คือตั๋วเข้าชม หลังจากนั้นแล้วก็ได้ถ่ายรูปกับหอพระบางทางด้านหน้าข้างล่าง เพราะว่าที่ด้านบนนั้น ไม่สามารถที่จะถ่ายรูปได้ด้วยประการทั้งปวง
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 20-10-2022 เมื่อ 02:51 |
สมาชิก 27 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
กระผม/อาตมภาพขึ้นไปเห็นพระบางแล้วก็รู้สึกทึ่งมากว่า ช่างสมัยโบราณมีความสามารถเหลือเกิน สร้างพระที่ทำให้เราเห็นก็รู้สึกเคารพเลื่อมใสแล้ว เพราะว่าประกอบไปด้วยพุทธลักษณะที่งดงามมากเป็นพิเศษ แค่เห็นก็รู้แล้วว่าเข้มขลังถึงขนาด..!
หลังจากที่ได้กราบสวด อิติปิ โส ฯ ๓ ห้องถวายเป็นพุทธบูชาและอุทิศส่วนกุศลแล้ว "ท้าวนุ" ก็ได้พาพวกเราไปยังหอละครพระลักษณ์ - พระราม ซึ่งสมัยก่อนน่าจะเป็นสถานที่แสดงละครให้เจ้ามหาชีวิตทอดพระเนตร ซึ่งจะต้องเดินผ่านพระบรมราชานุสาวรีย์ของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ พวกเราเข้าไปตรงนั้นเพื่อที่จะได้ฝากของเอาไว้ ข้าวของทุกชิ้นถูกบังคับว่าต้องฝากเอาไว้ที่ "ห้องเคื่อง" คำว่า "เคื่อง" ก็คือ "สิ่งของ" ในภาษาไทยนั่นเอง ถ้ามีโทรศัพท์ติดตัวก็ห้ามเปิด หลังจากนั้นก็ได้ถ่ายรูปหมู่ที่หน้าพระราชวัง แล้วเดินเข้าไปชมสถานที่ข้างใน ห้องแรกก็คือห้องฟังธรรม ซึ่งเจ้ามหาชีวิตจะนิมนต์พระมหาเถระมาถวายพระธรรมเทศนาทุกวันพระ แล้วก็เข้าไปยังห้องรับแขกบ้านแขกเมือง และห้องที่ประกอบไปด้วยสิ่งของต่าง ๆ ที่บรรดามิตรประเทศได้มอบมาให้ วางจัดแสดงเป็นระยะ แม้กระทั่งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ฉลองพระองค์ พระมหามงกุฎ ตลอดจนกระทั่งพระราชอาสน์ พระที่นั่งต่าง ๆ ก็มีอยู่ครบถ้วน โดยเฉพาะพระพุทธรูปงาม ๆ ที่ได้มาจากวัดวิชุนราช ซึ่งได้นำมาเอาไว้ในสถานที่นี้ เนื่องจากว่าได้จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว พวกเราใช้ระยะเวลาในการชมข้างในนานมาก เป็นชั่วโมงทีเดียว เมื่อหลุดออกมาถึงด้านนอก "ท้าวนุ" ยังพาพวกเราเดินไปเพื่อชมบรรดาราชรถ ราชยานต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นรถฟอร์ดสมัยโบราณ เช่น รถฟอร์ดคอนติเนนตัลแล้วก็รถซีตรอง เป็นต้น แต่จุดที่น่าชื่นชมที่สุดก็คือ มีการติดรูปพลขับรถพระที่นั่งพร้อมกับประวัติสั้น ๆ เอาไว้ด้วย
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 20-10-2022 เมื่อ 02:54 |
สมาชิก 27 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
ส่วนหนึ่งที่เป็นประวัติศาสตร์เลยก็คือ มีสถานีบริการน้ำมันแห่งแรกของประเทศลาว ตั้งอยู่ภายในวังนี้เอง แต่ว่าเปิดประตูให้ชาวบ้านเข้ามาใช้บริการร่วมได้ เพราะว่าสมัยก่อนมีแต่เจ้ามหาชีวิตที่มีรถยนต์ มาภายหลังบรรดาเชื้อพระวงศ์ระดับสูง ตลอดจนกระทั่งพ่อค้าประชาชนที่มีฐานะ เมื่อซื้อรถยนต์แล้วก็ต้องเติมน้ำมัน ก็ได้อาศัยประตูข้างกำแพงวังเข้ามาเติมน้ำมันด้วย
เมื่อพวกเราย้อนกลับไปรับข้าวของคืนมาแล้ว ก็เดินออกเลาะโรงเก็บเรือพระราชพิธีมาออกประตูด้านข้างพระราชวัง ซึ่งทางด้านนี้มีร้านขายของที่ระลึกต่าง ๆ มากมายเต็มไปหมด แต่พวกเราไม่มีเวลาซื้อ เพราะว่าเลยเพลไปเล็กน้อยแล้ว..! ทางด้านมัคคุเทศก์ของเราพาตรงไปยังร้านอาหาร ซึ่งตอนแรกกระผม/อาตมภาพคิดว่าเป็นร้านประชานิยม ซึ่งทางเอ็นซีทัวร์แนะนำไว้ แต่ปรากฏว่ากลายเป็นร้านหลวงพระบาง ไบโอ แบมบู (Luang Prabang Bio Bamboo) ซึ่งตกแต่งร้านได้งดงามสุด ๆ ข้าวของแทบทุกอย่างทำขึ้นมาจากไม้ไผ่ ไม่ว่าจะเป็นถ้วย เป็นจาน แก้วน้ำ หรือว่าช้อนส้อม ตะเกียบ ข้าวปลาอาหารต่าง ๆ ก็มาในกระบอกไม้ไผ่ผ่าซีก ทุกอย่างล้วนแล้วแต่เอร็ดอร่อยมาก โดยเฉพาะส่วนหนึ่งก็คือ "หลามอ่อม" ซึ่งจะมีการหลามมาในกระบอก แล้วค่อยนำมาเทให้ กำลังร้อนน่ากินทีเดียว "ท้าวนุ" ชี้ให้ดูฝั่งแม่น้ำคานอีกฝั่งหนึ่ง บอกว่า "ตรงข้ามนั้นคือบ้านของกระผมเอง" ที่แท้เป็นบ้านของตนเอง จึงได้พามาอุดหนุนพรรคพวก แต่ว่าร้านอาหารก็ดูหรูหรามีระดับ ข้าวปลาอาหารก็อร่อยทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปิ้งไก่ ซุปหน่อไม้ ไส้อั่ว หลามอ่อม ตลอดจนกระทั่งต้มซี่โครงหมูใส่ผัก ซึ่งกระผม/อาตมภาพกวาดผักเสียเรียบทุกชิ้น..! และโดยเฉพาะในส่วนที่คล้าย ๆ กับผักสลัด ทำมาได้อร่อยมาก แต่ว่าไม่มีท้องที่จะใส่เสียแล้ว เพราะว่ายังมีผลไม้ตามฤดูกาลอีกครึ่งกระบอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่ กระบอกไม้ไผ่พวกนี้ทางด้านเมืองไทยของเราเรียกว่า "ไผ่หก" หรือว่า "ไผ่ล้อเกวียน" ซึ่งจะมีกระบอกใหญ่มากเป็นพิเศษ ถ้าหากว่าบางกระบอกที่กระผม/อาตมภาพเคยเจอนั้น บรรจุน้ำได้ถึง ๒๐ ลิตรเลยทีเดียว..!
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 20-10-2022 เมื่อ 02:56 |
สมาชิก 26 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
เมื่อพวกเราอิ่มอร่อยกันแล้วก็นั่งรถต่อไป เพื่อที่จะขึ้นรถไฟความเร็วสูงที่สถานีหลวงพระบาง แต่ "ท้าวนุ" ก็ยังขออนุญาตพวกเราพาแวะที่ศูนย์หัตถกรรมผานม ซึ่งเป็นศูนย์ตำแผ่น คำว่า "ตำแผ่น" ของภาษาลาวในที่นี้ก็คือ "การทอผ้า" จะมีผ้าทอมือต่าง ๆ จำหน่ายเยอะมาก ขนาดให้เวลาพวกเราแค่ ๒๐ นาที แต่ปรากฏว่าบางคนจ่ายไปหลายแสนกีบเลยทีเดียว..!
ส่วนกระผม/อาตมภาพนั้น ไม่อยากไปเบียดเสียดกับสุภาพสตรีไทยสารพัดคณะ เมื่อหามุมถ่ายรูปได้แล้ว ก็ข้ามถนนไปยังร้านผลิตเครื่องเงินที่อยู่ฝั่งตรงข้าม แต่บรรดาช่างเงินกำลัง "นอนกลางวัน" กันอยู่ จึงเดินดูสิ่งของต่าง ๆ ในร้าน ไปสะดุดตาตู้เก็บของเก่าใบหนึ่ง ซึ่งมีมีดอุ่ม มีดน้อย ดาบเมืองหลูบเงิน ที่เป็นของเก่าแท้เสียด้วย..! เมื่อขอดูทางร้านก็รีบเปิดตู้เปิดไฟให้ บอกว่า "เล่มไหนถ้ามีราคาติดก็จำหน่าย" แต่ปรากฏว่านอกจากเล่มงาม ๆ จะไม่มีราคาติดแล้ว เล่มที่มีราคาติดก็เป็นเงินไทย ตั้งแต่เล่มละ ๒๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป จึงบอก "ขอบใจ" ทางร้าน แล้วเดินกลับมาขึ้นรถ หลังจากนั้นพวกเราก็ได้เดินทางต่อมาถึงสถานีรถไฟความเร็วสูงหลวงพระบาง ซึ่งประกอบไปด้วยนักท่องเที่ยวไทยเป็นจำนวนมาก หันไปทางไหนก็ได้ยินแต่ภาษาไทย ภาษาลาว โดยมีภาษาญวนแทรกมาเป็นระยะ บรรดาท่านทั้งหลายเข้าคิวเพื่อที่จะเข้าไปภายในสถานี ต้องผ่านการตรวจเอ็กซเรย์ต่าง ๆ แต่ว่าพระได้รับสิทธิพิเศษ เขาเปิดทางพิเศษให้ลัดเข้าไปได้เลย แล้วก็มีที่นั่งเฉพาะพระสงฆ์ให้ด้วย เมื่อถึงเวลาเจ้าหน้าที่ประกาศ ทุกคนก็ต้องไปเข้าแถว แต่ว่านิมนต์พระสงฆ์นั่งรออยู่ก่อน จนได้เวลาเขาก็เปิดให้พระสงฆ์เข้าไปก่อน แล้วไปยืนรอตามลำดับตู้รถไฟ โดยปกติแล้วพวกเราได้จองรถตู้ชั้น ๑ แต่ว่าครั้งนี้ ทางมัคคุเทศก์เขาไม่สามารถที่จะหาตั๋วได้ครบ มีอยู่ ๖ คนที่ต้องหลุดไปนั่งที่ชั้น ๒ ซึ่งทางด้านนี้บอกว่าจะคิดเงินคืนให้ กระผม/อาตมภาพเองนั้นต้องเข้าระบบซูม เพื่อที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณาหัวข้อวิทยานิพนธ์ต่าง ๆ วิพากย์ออกอากาศออนไลน์ให้กับลูกศิษย์ที่เป็นนักศึกษาปริญญาเอก ที่กำลังจะทำการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์อยู่ แต่เนื่องจากว่าอยู่ในระยะเวลาของการเดินทาง คลื่นโทรศัพท์มีบ้างไม่มีบ้าง จึงได้ฟังบ้างหลุดบ้าง เมื่อรถไฟความเร็วสูงมาถึง พวกเราได้ขึ้นไปก่อน แล้วหลังจากนั้นญาติโยมถึงได้ตามขึ้นไป บรรดาท่านผู้เสียสละต้องไปนั่งที่ตู้ชั้น ๒ ซึ่งห่างกันหลายตู้ทีเดียว ถ้าเป็นภาษาของการรถไฟแห่งประเทศไทยคือห่างกันหลาย "คันรถ" หลังจากนั้นก็ออกวิ่งด้วยความเร็วประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง หนึ่งชั่วโมงต่อมา พวกเราก็มาลงที่สถานีรถไฟความเร็วสูงวังเวียง ปรากฏว่ารถตู้ทั้ง ๒ คันที่ข้ามไปรับเราถึงอุดรธานีมารอรับอยู่ที่นี่แล้ว พาพวกเราวิ่งไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างจะเป็นการท่องเที่ยวผจญภัย เรียกว่า "ถ้ำนางฟ้า" พวกเราได้ซื้อ "ปี้" แล้วก็เดินขึ้นสะพานแขวนข้ามแม่น้ำมุดลอดถ้ำเข้าไป
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 20-10-2022 เมื่อ 02:59 |
สมาชิก 24 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#7
|
||||
|
||||
ในสถานที่นั้น ถ้าหากว่าคนไม่เคยเข้าถ้ำก็น่าจะประทับใจมาก แต่ว่าในชีวิตกระผม/อาตมภาพนั้นมุดถ้ำมานับไม่ถ้วนแล้ว แม้กระทั่งถ้ำที่มีเสาหินสูงที่สุดในโลก ชนะเสาหินที่เคยติดกินเนสส์บุ๊ก ออฟ เรคคอร์ดของประเทศจีนมาแล้วก็เคยเข้าไป ถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยเป็นรูปเหมือนถ้วยรางวัลจูลส์ ริเมต์ ขออภัย..ถ้วยรางวัลฟีฟ่า เวิลด์คัพ ซึ่งเป็นถ้วยรางวัลฟุตบอลโลก ซึ่งเรียกว่าสั้น ๆ "ถ้วยเวิลด์คัพ" ก็เคยเข้าไปมาแล้ว จึงไม่มีอะไรให้ตื่นเต้น นอกจากถ่ายรูปเป็นระยะไป
จนกระทั่งวนกลับออกมาเพื่อขึ้นรถ ได้เห็นว่ามีรถตู้ของคณะทัวร์คันหนึ่ง ไม่ทราบว่าต้องการมีประสบการณ์แอดเวนเจอร์หนักหนาแค่ไหน ถึงได้ถอยตกลงไปในแม่น้ำ ทำให้ไม่สามารถที่จะขึ้นมาได้ และดับเครื่องก็ไม่ได้ เพราะว่าน้ำจะเข้าเครื่อง ต้องปล่อยให้ติดเครื่องทิ้งไว้แบบนั้น รอหารถมาลากขึ้นทีหลัง พวกเราเองนั่งรถมาจนกระทั่งถึงที่พัก คือโรงแรมอมารีวังเวียง ซึ่งปรากฏว่าสถานที่หรูหรามาก ตรงนี้พวกเราได้จ่ายค่านั่งบอลลูนลอยฟ้าให้กับทางมัคคุเทศก์ เป็นจำนวน ๗ คน คนละ ๓,๕๐๐ บาทไทย นัดแนะเวลาในการนั่งบอลลูนเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว พวกเราก็รับกุญแจแล้วก็เข้าสู่ห้องพัก ไม่ทราบว่าของคนอื่นจะเป็นอย่างไร แต่ห้องพักของกระผม/อาตมภาพนั้น ต้องบอกว่าหรูจนเกินเหตุ โดยเฉพาะตรงส่วนห้องน้ำนั้นเป็นกระจกทะลุมายังห้องนอนอีกด้วย..! ถ้าพักอยู่หลายคนก็คงต้องให้สัญญาณกันก่อนว่าใครจะเป็นคนอาบน้ำ ใครจะเป็นคนหันหลังให้ เป็นต้น สำหรับวันนี้ ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 20-10-2022 เมื่อ 03:01 |
สมาชิก 36 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|