#1
|
||||
|
||||
![]() เทศน์วันสงกรานต์ วันอาทิตย์ที่ ๑๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๘ https://www.youtube.com/live/e9ebYj_NDPI เทศน์เริ่มนาทีที่ ๕๘.๐๐ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย ติฯ ณ บัดนี้ อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชชนาในปุญญกถา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา เพิ่มพูนบารมี เสริมสร้างกุศลบุญราศีแก่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ซึ่งพร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันสงกรานต์ ณ วัดท่าขนุนแห่งนี้ ญาติโยมทั้งหลาย คำว่า "สงกรานต์" นั้นคือ การข้ามผ่าน คือ เป็นวันที่พระอาทิตย์ข้ามผ่านจากราศีมีนสู่ราศีเมษ จัดว่าเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของฤดูกาลในบ้านเรา ซึ่งความจริงแล้วแต่โบราณมาเรานับเอาวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่ มาภายหลังวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ นั้น มีช้ามีเร็ว มีก่อนมีหลัง ทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ ๑๓ เมษายนเป็น "วันปีใหม่" หรือว่า "วันสงกรานต์" ก็แปลว่า มีการผิดเพี้ยนกันไปหลายวัน แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-04-2025 เมื่อ 01:17 |
สมาชิก 21 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
![]()
แต่ด้วยเหตุที่ว่า ทางโหราศาสตร์ของเรายังถือจันทรคติ คือ การขึ้น - แรม เป็นปกติ ดังนั้น..บุคคลที่เกิดภายในวันที่ ๒๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๘ จึงยังไม่นับเป็นปีมะเส็ง ยังจัดว่าเป็นปีมะโรงอยู่ ต้องวันที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๘ ซึ่งเป็นวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ จึงจะเริ่มนับว่าเกิดปีมะเส็ง
แต่ในสมัยนี้พวกเราก็มักจะนับวันที่ ๑ มกราคม เป็นปีเกิดใหม่ ซึ่งเพี้ยนจากความเป็นจริงไปอย่างน้อยก็ ๓ เดือน ดังนั้น..ถ้าหากว่าเราไปแจ้งว่า เราเกิดปีมะเส็ง ทั้ง ๆ ที่เป็นปีมะโรงอยู่ การที่ไปพึ่งพาโหราศาสตร์หรือหมอดูก็จะมีการผิดเพี้ยนผิดพลาดได้ง่าย เนื่องเพราะว่าการศึกษาโหราศาสตร์นั้น ถ้าเป็นไปโดยลึกซึ้งแล้ว นอกจากวัน - เดือน - ปีเกิดแล้ว ยังต้องการเวลาเกิดและสถานที่เกิดอีกด้วย เพียงแต่ว่าการศึกษาโหราศาสตร์ที่ครอบคลุมละเอียดถึงขนาดนั้น ในปัจจุบันนี้เท่าที่กระผม/อาตมภาพศึกษาดู ในประเทศไทยของเราเหลือแต่โหราศาสตร์ระบบสิบลัคนาเท่านั้น นอกนั้นก็ขาดบ้างเกินบ้าง คำว่า "ขาด" ก็คือ..ส่วนใหญ่ถ้าเป็นตำราไทยก็จะขาด แต่ในส่วน "เกิน" ก็คือ ไปเอาตำราจีนมาบ้าง ตำราอินเดียมาบ้าง แม้กระทั่งระบบยูเรเนียนของยุโรปก็มีมาด้วย จึงทำให้มีทั้งขาดและเกิน โอกาสที่จะถูกต้องอย่างแท้จริงจึงเป็นไปได้ยาก แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-04-2025 เมื่อ 01:19 |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
![]()
เพียงแต่ว่าในเรื่องของสงกรานต์หรือว่าปีใหม่ไทยนั้น ในอดีตของเรามาก็ผูกพันกับระบบทางจันทรคติ หรือว่าในเรื่องของโหราศาสตร์ - ดาราศาสตร์ เมื่อพระอาทิตย์ยกย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษซึ่งเป็นฤดูร้อน ก็มีการกำหนดให้มีการรดน้ำดำหัวเป็นประเพณีขึ้นมา ภายหลังก็เปลี่ยนค่านิยมมาเป็นการสาดน้ำกัน
ประการแรกก็คือ ช่วยให้คลายร้อน ประการที่สอง ความจริงเป็นสิ่งที่งดงามที่สุดก็คือ การไปแสดงออกซึ่งความเคารพต่อผู้ใหญ่ แต่ในปัจจุบันของเราไม่ค่อยจะเน้นกันตรงคุณงามความดี ไปเน้นในเรื่องของความสนุกสนานเฮฮาอย่างเดียว กลายเป็นการลดคุณค่าในวัฒนธรรมประเพณีของเราไปอย่างน่าเสียดาย แต่ว่าในประเพณีส่วนหนึ่งนั้นเรา ก็เอาจากพราหมณ์มาปรับเป็นพุทธ ก็คือ ให้มีการทำบุญใส่บาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม เจริญพระพุทธมนต์ ถวายสังฆทาน เหล่านี้เป็นต้น ท่านทั้งหลายจะเห็นว่าเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีนั้น มีการรับเอามาจากชาติต่าง ๆ แล้วก็ดัดแปลงไปให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมประเพณีเดิม ๆ ของตนเอง จนกลายเป็นสงกรานต์แบบไทยขึ้นมา แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-04-2025 เมื่อ 01:20 |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
![]()
คราวนี้เนื้อหาสาระที่สำคัญก็คือว่า บรรพบุรุษของเรานั้นเน้นในเรื่องของกองบุญการกุศล จึงได้มีการสร้างบุญสร้างกุศลอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน บุคคลที่เคร่งครัด ตั้งแต่ก่อนนอนก็กราบหมอน - กราบพระ รำลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ก่อน แล้วถึงได้เข้านอน
ตื่นขึ้นมาก็กราบหมอน - กราบพระ สวดมนต์ จนกำลังใจทรงตัว บางคนก็นั่งสมาธิภาวนาต่อด้วย แล้วถึงได้ไปล้างหน้าล้างตา แต่งตัว เข้าครัวทำกับข้าวกับปลา ไปรอใส่บาตรหน้าบ้าน ถ้าหากว่าเป็นวันโกน วันพระ ก็มีการหิ้วปิ่นโตเข้าวัด ดังนั้น..ในเรื่องของการสั่งสมบุญกุศล จึงเป็นเรื่องที่บรรพบุรุษของเราได้กระทำต่อเนื่องมายาวนาน เพราะความไม่ประมาท ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ ก็คือ การเวียนว่ายตายเกิดแต่ละชาติแต่ละภพนั้น ถ้าขาดบุญขาดกุศลเสียแล้ว ก็จะประสบพบแต่ความทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ นานา ท่านทั้งหลายก็จะเห็นว่า บุคคลที่ยากจนแทบไม่มีอะไรจะกินก็มี ต้องลำบากทุกข์ยากพิกลพิการก็มี นั่นก็คือ การสร้างกรรมในอดีตไว้มาก แต่สร้างบุญเอาไว้น้อย แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-04-2025 เมื่อ 01:21 |
สมาชิก 19 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
![]()
ดังนั้น..บรรพบุรุษของเราจึงตั้งหน้าตั้งตาสั่งสมบุญกุศล ในทาน ในศีล ในภาวนา เรื่องของทานนั้นก็มีปกติใส่บาตรกันอยู่ทุกวัน เรื่องของศีลนั้นมีการรักษาศีล ๕ เป็นปกติ ถ้าหากว่าเป็นวันพระก็เพิ่มศีลอุโบสถเข้ามา พอเริ่มอายุมาก ๔๐ กว่า ๕๐ ปีก็เริ่มไปถือศีลอุโบสถเป็นโยมวัด ปล่อยวางภาระหน้าที่ต่าง ๆ ให้ลูกหลานรับผิดชอบกันเอง ตนเองเพียงแต่อยู่เป็นมิ่งขวัญกำลังใจและสั่งสมบุญ เพื่อหนทางในการข้ามวัฏสงสารของตนเอง ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราท่านทั้งหลายในปัจจุบันนี้จึงนับว่าเป็นผู้ประมาทมาก เพราะว่าไม่ค่อยที่จะสร้างบุญสร้างกุศลกัน
ในการสร้างบุญสร้างกุศลก็ยังสร้างบาปไปในตัวด้วย อย่างเช่นว่า การใส่บาตร จิตใจก็ไม่ได้มุ่งอยู่ในเรื่องของทาน เรื่องของการสละออก แต่ว่าไปเซลฟี่บ้าง ไปไลฟ์สดบ้าง มุ่งอยู่ตรงที่จะอวดคนอื่นว่าเราทำความดี หรือว่าการรักษาศีล ก็ไม่ได้สนใจที่จะรักษา เนื่องเพราะเห็นว่าในเรื่องของการรักษาศีลนั้นเป็นเรื่องโบราณ ไม่ทันสมัย ในเรื่องของการเจริญภาวนาก็ไม่ค่อยจะปฏิบัติ จึงเป็นบุคคลที่กำลังใจน้อย ถึงเวลาก็ไหลตามกระแสโลกไปได้ง่าย โดนคนชักชวนไปในทางที่ไม่ดี ก็ไม่มีกำลังที่จะหักห้ามตนเอง จึงกลายเป็นความวุ่นวายในสังคมไทยอยู่ในปัจจุบันนี้ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-04-2025 เมื่อ 01:22 |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
![]()
ดังนั้น..การที่ท่านทั้งหลายมาบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันสงกรานต์ที่วัดท่าขนุนของเรา ซึ่งเริ่มด้วยการใส่บาตร ตอนนี้เราก็มาสมาทานศีล และฟังธรรม อีกสักครู่หนึ่งยังมีการฟังการเจริญพระพุทธมนต์ ตลอดจนกระทั่งถวายภัตตาหารสังฆทาน จึงจัดว่าท่านทั้งหลายตั้งใจในการบำเพ็ญกุศลด้วยดี กระทำแบบผู้มีปัญญา ทำบุญที่เป็นบุญจริง ๆ
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เมื่อสะสมไปนานเข้า ก็จะกลายเป็น "ปุพเพกตปุญญต" คือ ผลบุญที่เราสร้างสมไว้ตั้งแต่ต้น เมื่อรวมตัวกันมาก ๆ เข้า ผลกรรมก็จะแสดงออกได้น้อยลง เหตุเนื่องเพราะว่า..ถ้ากรรมเก่าที่เราได้ทำเอาไว้ เปรียบเสมือนอย่างกับเกลือที่มีความเค็ม แล้วเราสร้างบุญสร้างกุศลเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่สร้างกรรมใหม่ เหมือนกับเอาน้ำจืดเติมลงไปเรื่อย ๆ เกลือนั้นก็จะลดความเค็มลงไปทุกที เกลือไม่ได้หายไปไหน ยังคงมีจำนวนเท่าเดิม แต่น้ำจืดที่ท่วมทับมากเข้า ๆ ท้ายที่สุดเกลือก็ไม่สามารถจะแสดงความเค็มออกมาได้ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-04-2025 เมื่อ 01:23 |
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#7
|
||||
|
||||
![]()
ดังนั้น..การสร้างบุญสร้างกุศลจึงไม่ใช่การล้างบาป แต่เป็นการสร้างความดีให้มากกว่าความชั่ว จนกระทั่งเคยชินอยู่กับความดี ความชั่วไม่สามารถที่จะแสดงผลได้อีก จึงทำให้ชีวิตของเราก็จะประสบแต่สิ่งที่ดี ๆ เท่านั้น
แต่ว่าบุคคลทั่วไปนั้น ก็มักจะสร้างคุณงามความดีบ้าง สร้างความชั่วบ้าง อยู่ในลักษณะ "ดีบ้างชั่วบ้าง" สลับกันไป ถึงเวลาที่บุญส่งผลเราก็มักจะเพลิดเพลินจนขาดสติ พอกรรมส่งผลเข้าก็ลำบากเดือดร้อนไปทั่ว ถ้าอยู่ในลักษณะนี้เรายิ่งต้องเร่งสั่งสมบุญกุศลสำหรับตนเองให้มากยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้ว ผลบุญที่มีน้อย ผลกรรมที่มีมาก ก็อาจจะส่งผลให้เราเดือดร้อนไปอีกนาน จึงมีพระบาลีที่กล่าวไว้ว่า "สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย" การสั่งสมบุญนั้นย่อมนำมาซึ่งความสุข เนื่องเพราะว่าบุญนั้นส่งผลให้เราในด้านดีโดยประการเดียวเท่านั้น แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-04-2025 เมื่อ 01:24 |
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#8
|
||||
|
||||
![]()
หลายท่านก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ เห็นคนทำความชั่วแล้วอยู่สุขอยู่สบาย เราก็ไปคิดว่า..ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป ความจริงบุคคลทั้งหลายเหล่านั้นเขากินบุญเก่าอยู่ ถ้าหากว่าบุญเก่าขาดช่วงลงไปเมื่อไร ต่อให้ร่ำรวยขนาดไหน เดี๋ยวก็อาจจะต้องรับโทษ ติดคุกติดตะราง หรือไม่ก็ต้องหนีหัวซุกหัวซุน ไม่มีแผ่นดินจะอยู่..!
เรื่องของบุญเรื่องของกรรมนั้นไม่ใช่ความเชื่อ แต่เป็นความจริงแท้ คือ เราทำอะไรก็ได้สิ่งนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำไม่ช้าก็เร็วย่อมส่งผลให้เกิดแก่ตัวเรา ดังนั้น..ในเรื่องของพระพุทธศาสนาของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงสอนให้เราเชื่อกรรม เชื่อการส่งผลของกรรม เชื่อว่าการกระทำความดีความชั่วนั้นย่อมต้องได้รับผล เชื่อว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของเราเกิดจากกรรมเก่าที่ได้กระทำมาในอดีต ในเมื่อเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ เราท่านทั้งหลายต่อให้ไม่เชื่อ แต่ถ้าหากว่าพินิจพิจารณาเอาโดยปัญญาที่พอมีอยู่ว่า สิ่งหนึ่งถ้าหากว่าเราทำแล้วเสมอตัวกับกำไร สิ่งหนึ่งเราทำแล้วเสมอตัวกับขาดทุน โดยปกติของพวกเราก็ต้องทำในสิ่งที่เสมอตัวและกำไร ดังนั้น..ต่อให้ท่านทั้งหลายไม่เชื่อเรื่องกรรม แต่ถ้าหากว่าท่านทำไปแล้วกรรมดีกรรมชั่วมีจริง ท่านก็ได้กำไร ถ้าไม่มีท่านก็แค่เสมอตัว แต่ถ้าท่านทำกรรมชั่วแล้วผลของกรรมมีจริง ท่านก็ขาดทุนย่อยยับ ถ้าไม่มีท่านก็แค่เสมอตัว ก็แปลว่าท่านทั้งหลายควรที่จะตั้งจิตของตนให้แจ่มใส ตั้งใจของตนให้เป็นสมาธิ จักได้มีสัมมาทิฏฐิ สามารถที่จะพิจารณาว่า สิ่งใดเป็นความดี สิ่งใดเป็นความชั่ว แล้วก็เลือกกระทำในสิ่งที่ดี ละเว้นในสิ่งที่ชั่ว ท้ายที่สุดผลดีทั้งหลายเหล่านั้น ก็ย่อมส่งผลให้เกิดความสุขแก่ตัวของท่านเอง แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-04-2025 เมื่อ 01:26 |
สมาชิก 18 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#9
|
||||
|
||||
![]()
อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชชนามาในปุญญกถา คือ การสั่งสมบุญย่อมนำมาซึ่งความสุข ก็พอสมควรแก่เวลา
ท้ายสุดแห่งพระธรรมเทศนา อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะเป็นประธาน มีบารมีของอดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน คือ หลวงปู่สาย อคฺควํโส เป็นที่สุด ได้โปรดดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายมีความปลอดภัยในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ แม้ว่าประสงค์จำนงหมายสิ่งหนึ่งประการใด ที่เป็นไปโดยชอบประกอบด้วยธรรมแล้ว ขอให้ความประสงค์ของทุกท่านจงสำเร็จสัมฤทธิ์ผล สมดังมโนรถปรารถนาทุกประการ โดยทั่วหน้ากันทุกท่านทุกคนเทอญ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เทศน์วันสงกรานต์ ณ วัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๑๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๘ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-04-2025 เมื่อ 01:27 |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
|
|