กระดานสนทนาวัดท่าขนุน


กลับไป   กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะพระอาจารย์ > พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) > เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน > เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน ปี ๒๕๖๘ > เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน เดือนมีนาคม ๒๕๖๘

Notices

ตอบ
 
คำสั่งเพิ่มเติม
  #1  
เก่า 20-03-2025, 13:51
พิชวัฒน์'s Avatar
พิชวัฒน์ พิชวัฒน์ is offline
สมาชิก - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Aug 2014
ข้อความ: 500
ได้ให้อนุโมทนา: 3,308
ได้รับอนุโมทนา 24,997 ครั้ง ใน 988 โพสต์
พิชวัฒน์ is on a distinguished road
Default เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๘

เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๘


ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 37 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ พิชวัฒน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #2  
เก่า 21-03-2025, 00:17
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 32,387
ได้ให้อนุโมทนา: 157,933
ได้รับอนุโมทนา 4,479,282 ครั้ง ใน 35,996 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๘ อากาศที่โรงแรม DEL Style Osaka - Shin Umeda ในเขตฟูกุชิมะ เมืองโอซากา อยู่ที่ ๓ องศาเซลเซียส ห้องอาหารยังคงเปิดตรงเวลาเป๊ะเหมือนเดิม แม้ว่าข้าวปลาอาหารของเขาจะมีให้เลือกมากเป็นพิเศษ แต่ด้วยความเคยชิน กระผม/อาตมภาพก็ตักแต่ของซ้ำ ๆ กันกับวันก่อน ฉันแล้วก็ไปนั่งส่งงานรอเวลา

จนกระทั่งทุกคนพร้อม เวลา ๗ โมงครึ่ง พวกเราก็ออกเดินไปยังสถานีรถไฟกลางโอซากา วันนี้พวกเราต้องไปนั่งรถไฟสายชินโอซากา แต่ว่าดวงของพวกเราทำอะไรช้าไม่ได้เพราะว่าที่นี่คือประเทศญี่ปุ่น ไปถึงรถเขาจอดรออยู่บนรางแล้ว วิ่งขึ้นไปยังไม่ทันจะหาที่นั่งได้ รถก็ออกตัวทันที ต้องบอกว่าชีวิตคนญี่ปุ่นค่อนข้างจะเร่งรีบ ต่อให้เป็นผู้สูงอายุ ถ้าขึ้นรถไม่ทันก็แปลว่าจงรอเที่ยวต่อไป..!

พวกเรามาต่อรถไฟด่วนพิเศษที่เรียกกันว่าชินคังเซน หรือที่สมัยแรก ๆ เรียกกันว่ารถไฟหัวกระสุน เพื่อตรงไปยังเมืองฮิเมจิ โดยที่เรานั่งรถเที่ยว ๘ โมงเช้า ใช้เวลา ๒๘ นาทีก็มาถึงเมืองฮิเมจิ ถ้าหากว่าขับรถมาก็ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง นับว่าประหยัดเวลาได้มาก และที่ประหยัดอย่างที่สุดก็คือตั๋วรถไฟเจอาร์พาส ซึ่งเราซื้อเพื่อใช้ในระยะเวลา ๕ วัน ราคา ๑๔,๐๐๐ เยน ถ้าหากว่ามานั่งชินคังเซนแบบนี้ เจอไปเที่ยวละ ๗,๐๐๐ - ๘,๐๐๐ เยน ก็ล่มจมแล้ว แต่เจอาร์พาสเมื่อซื้อแล้วคุณจะนั่งกี่เที่ยว นั่งกี่รอบ เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร..!

เมื่อลงที่สถานีฮิเมจิแล้ว กระผม/อาตมภาพถามถึงระเบียงที่พวกเราจะขึ้นไปถ่ายรูปปราสาทฮิเมจิจากสถานีรถไฟได้ ปรากฏว่าผู้เชี่ยวชาญกลายเป็นกิ้งกือตกท่อ เนื่องเพราะคุณเผือกน้อย (นายเฉลิมเดช รุจิราวรรณ) บอกว่าไม่รู้ว่ามี กระผม/อาตมภาพจึงต้องเป็นคนพาไปเอง ทำให้รู้สึกภูมิใจอยู่นิดหน่อยว่า บางทีผู้เชี่ยวชาญก็ไม่รู้ไปทุกเรื่องเหมือนกัน มุมนี้จะสามารถมองตรง ๆ จากสถานีรถไฟฮิเมจิไปยังปราสาทฮิเมจิเลย

ตอนแรกพวกเราตั้งใจกันว่าถ่ายรูปเสร็จแล้วก็จะไปนั่งรถเมล์ อุตส่าห์ข้ามถนน ๒ รอบ ๓ รอบ เพื่อไปยังท่ารถเมล์ที่ ๖ แต่พอไปถึงแล้ว ดูเวลาปรากฏว่ายังอีกตั้ง ๑๒ นาทีกว่าที่จะรถเมล์จะมา ท้ายสุดกระผม/อาตมภาพก็เลยพาทุกคนเดินดุ่ย ๆ ไปยังปราสาทฮิเมจิเลย..!
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-03-2025 เมื่อ 01:21
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 30 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #3  
เก่า 21-03-2025, 00:25
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 32,387
ได้ให้อนุโมทนา: 157,933
ได้รับอนุโมทนา 4,479,282 ครั้ง ใน 35,996 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

คำว่า ปราสาทฮิเมจิ ในที่นี้ ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่า อันดับแรกเลยก็คือเป็นปราสาทของโชกุน ถ้าเป็นสมัยนี้ก็น่าจะประมาณเจ้าผู้ครองนคร และเป็นปราสาทที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เนื่องเพราะว่ามีความสมบูรณ์กว่าปราสาททุกหลังในประเทศญี่ปุ่น เนื่องเพราะว่าปราสาทอื่น ๆ ส่วนใหญ่ก็เหลือแต่ปราสาทหลักเท่านั้น แต่ว่าปราสาทฮิเมจินี้ยังเหลืออาคารบริวารอยู่อีกเป็นจำนวนมาก และได้รับการบูรณะดูแลเป็นอย่างดี

เมื่อพวกเราเดินไปถึงก็ถ่ายรูปกันที่บริเวณลานด้านหน้าก่อน จากนั้นก็ซื้อตั๋วเข้าไปด้านใน เขามีโบรชัวร์ภาษาต่าง ๆ โดยเฉพาะภาษาไทยให้เลือกด้วย เมื่อเดินเข้าไปทางด้านในจะเห็นว่ามีประตูแล้วประตูเล่า สลับซับซ้อนไปหมด โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลาจะขึ้นบนตัวปราสาทหลัก ต้องถอดรองเท้าใส่ถุง แล้วหิ้วไปด้วย

ตัวปราสาทนั้นด้านล่างก่ออิฐถือปูน แต่ว่าพื้นทุกอย่างและต้นเสาเป็นไม้ทั้งหมด โดยเฉพาะน่าจะเป็นไม้สน ยิ่งเดินก็ยิ่งเย็น ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นเพราะถอดรองเท้า หรือว่าอากาศภายในเย็นกันแน่ โดยเฉพาะถ้าหากว่าบุคคลที่อายุมาก แข้งเข่าไม่ดี ไม่แนะนำให้เดินขึ้นข้างบน เนื่องจากว่าต้องขึ้นบันไดกันชั้นแล้วชั้นเล่า และเป็นบันไดที่ค่อนข้างจะชันเสียด้วย..!

เราจะได้เห็นว่าภายในปราสาทนั้นแบ่งสันปันส่วนอย่างไร ส่วนไหนเป็นที่สำหรับประชุม ส่วนไหนเป็นศาลาว่าการ ส่วนไหนเป็นห้องเก็บอาวุธ ตลอดจนกระทั่งที่พักของบรรดาโชกุนและขุนนางต่าง ๆ โดยเฉพาะบนยอดสุด คือชั้นที่ ๖ นั้น มีศาลเจ้าให้เข้าไปกราบไหว้ทำบุญกันอีกด้วย

พวกเราสามารถที่จะเดินถ่ายรูปได้ทุกซอกทุกมุมโดยไม่มีการหวงห้าม แม้แต่โครงสร้างปราสาทหน้าตาเป็นอย่างไร ลักษณะของบรรดากระเบื้อง ตลอดจนกระทั่งตราประทับต่าง ๆ เป็นอย่างไร เขาก็แสดงเอาไว้ให้ดูทั้งหมด เดินกันจนขาอ่อนดีแล้ว ก็ต้องย้อนลงด้วยความระมัดระวัง เนื่องเพราะว่าบันไดค่อนข้างจะชันมาก ลงมาถึงข้างล่างแล้ว พวกเรายังวนออกทางขวามือไปอีก ทางด้านนี้มีชุดแสดงต่าง ๆ ที่เป็นของโชกุนและขุนนาง ตลอดจนกระทั่งบ่งบอกถึงพิธีกรรมพิธีการในการครองราชย์และข้อห้ามต่าง ๆ

เมื่อวนดูกันเสร็จแล้วก็ยังมีมุมสวยให้ถ่ายรูปด้านนี้เพิ่มเติมอีกด้วย พวกเราออกมาเข้าห้องน้ำกันแล้วก็ไปยังจุดถ่ายรูปที่เขาจัดเตรียมเอาไว้ให้ ไม่ว่าจะมาหมู่มาเดี่ยวอย่างไร ท่านก็ถ่ายรูปตัวเองได้ ถ้ามาคนเดียว เขาก็มีแท่นตั้งกล้องหรือว่าแท่นตั้งโทรศัพท์ ซึ่งเราสามารถตั้งเวลาแล้ววิ่งไปเต๊ะท่าถ่ายรูปตัวเองได้ด้วย เรียกว่าเอื้อเฟื้อกันสุด ๆ ครั้นรับรองเท้าคืนแล้ว พวกเราก็เดินออกมาทางด้านนอก ซึ่งยังมีรูปชายหญิงสวมกิโมโนให้เราเป็นพร็อพถ่ายรูปอีกด้วย เพียงแต่ยื่นหน้าเข้าไปในช่องว่างที่เขาคว้านเอาไว้ก็กลายเป็นตัวเราไปแล้ว
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-03-2025 เมื่อ 01:26
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 31 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #4  
เก่า 21-03-2025, 00:30
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 32,387
ได้ให้อนุโมทนา: 157,933
ได้รับอนุโมทนา 4,479,282 ครั้ง ใน 35,996 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

จากนั้นพวกเราก็เดินย้อนกลับมาทางเดิมมายังร้านอาหาร ซึ่งเปิดตอน ๑๐ โมงเช้า ถือว่าเหมาะสมมาก เนื่องเพราะว่าอีกร้านหนึ่งที่หน้าตาดูดีนั้นเปิดตอนเที่ยงตรง เข้าไปแล้วก็ต้องสั่งรายการอาหารกับตู้อัตโนมัติ แล้วก็มี "อาม่า" ท่านหนึ่งมีหน้าที่ทำอาหารไว้ให้ นอกจาก "อาม่า" จะทำอาหารได้รวดเร็วผิดคนแก่แล้ว ยังอร่อยอีกต่างหาก..! เพียงแต่กระผม/อาตมภาพเจอไป ๓ ชามใหญ่ ๆ ก็เลยต้องคืนบะหมี่ไก่เท็มปุระไป ๑ ชาม แล้วก็ข้าวหน้าเนื้อแบ่งมาแค่ครึ่งเดียว พร้อมกับบะหมี่ไก่เท็มปุระของตนเอง แค่นี้ก็แทบจะไม่มีปัญญาฉันลงไปแล้ว ครั้นอิ่มออกจากร้านค้ามา พวกเราก็เดินทางกันต่อไป

การเดินทางครั้งนี้นั้นเป็นอะไรที่สนุกสนานมาก เนื่องเพราะว่านอกจากรถไฟ รถเมล์แล้ว ก็ยังเน้นการเดินเท้าอีกต่างหาก เมื่อเดินกลับมาสถานีรถไฟฮิเมจิแล้ว พวกเราก็ขึ้นรถไฟเพื่อไปยังสถานีโกเบ เป็นการขึ้นแบบทันท่วงทีหวุดหวิดอยู่เหมือนเดิม แต่ขอโทษเถอะ..เพิ่งจะหย่อนก้นลงนั่งก็ต้องลงรถแล้ว..!

ถึงสถานีโกเบ สิ่งแรกที่พวกเราทำก็คือไปเติมเงินใส่บัตรกันก่อน ซึ่งกระผม/อาตมภาพก็เพิ่งจะเข้าใจคำว่า Charge ภาษาอังกฤษที่นี่ โดยปกติแปลว่า "จ่าย" แต่ที่นี่แปลว่า "จ่ายมาซะดี ๆ" ก็คือจะเติมเงินเท่าไรก็จงใส่เข้าไป เล่นเอาตอนแรกนึกว่าเครื่องพังเสียอีก..!

เมื่อพวกเราเข้าไปภายในสถานีกันแล้ว นั่งรถไฟเพื่อประหยัดเวลานิดเดียวเท่านั้น ไม่เช่นนั้นเราสามารถที่จะเดินไปได้เอง ลงจากรถไฟแล้ว พวกเราก็เดินตรงไปตามกูเกิ้ลแม็พบอก เพื่อที่จะไปยังกราบหลวงพ่อโตไดบุทสึของเมืองโกเบ ซึ่งคนส่วนใหญ่แล้วจะรู้จักแต่หลวงพ่อโตวัดโทไดจิองค์หนึ่ง และหลวงพ่อโตที่คามากุระอีกองค์หนึ่ง ส่วนที่เหลือท่านจะสร้างองค์ใหญ่องค์เล็กอย่างไรก็ตาม ข้อมูลคร่าว ๆ ของทางญี่ปุ่นจะบอกว่ามีพระใหญ่อยู่ ๓ องค์ พูดง่าย ๆ ก็คือองค์ที่ ๓ ใครมีอยู่ก็สามารถมั่วได้เลยว่าของตนเองคือลำดับที่ ๓..!
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-03-2025 เมื่อ 01:30
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 30 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #5  
เก่า 21-03-2025, 00:37
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 32,387
ได้ให้อนุโมทนา: 157,933
ได้รับอนุโมทนา 4,479,282 ครั้ง ใน 35,996 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

หลวงพ่อโตองค์นี้สูง ๑๑ เมตร น้ำหนัก ๖๐ ตัน พวกเราเข้าไปกราบไหว้อธิษฐานทำบุญกัน โดยที่กระผม/อาตมภาพหยอดไป ๑,๐๐๐ เยนตามเดิม รู้สึกเสียดายเหมือนกัน เพราะว่าหยอดแบงค์ลงไปแล้วไม่มีเสียงเหมือนกับคนอื่น คนอื่นเขาหยอดเหรียญลงไปกราว ๆ แล้วก็พนมมืออธิษฐานกันอย่างสนุกสนาน ของตัวเองลงไปแบบเงียบกริบ รู้สึกว่าเทวดารักษาพระน่าจะไม่ได้ยิน..!

ตอนที่ถ่ายรูปหมู่ก็มี "อากง" คนหนึ่งอาสาถ่ายให้ กระผม/อาตมภาพก็ลุ้นขาดใจเลยว่า "เศียรพระจะขาดหรือเปล่า ?" แต่ปรากฏว่างานนี้รอดไปได้ โดยที่ว่าเกือบ ๆ จะขาดเท่านั้น..! โดยที่เหลือพื้นข้างล่างรูปไว้มากทีเดียว

เมื่อกราบทำบุญและเสี่ยงเซียมซีกันเสร็จเรียบร้อย พวกเราก็เดินมายังป้ายรถเมล์สาย ๙๖ เพื่อกลับไปยังสถานีรถไฟโกเบ เนื่องจากว่ามีเวลาตั้ง ๘ นาที และบริเวณนั้นก็ยังมีศาลเจ้าอยู่ด้วย ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเป็นศาลอยู่ในลักษณะ "สมรม" หรือเปล่า ? เนื่องเพราะว่าเห็นมีทั้งรูปวัวและจิ้งจอกอยู่ด้วย ก็อาจจะเป็นศาลเจ้าจิ้งจอกที่กระผม/อาตมภาพรู้จัก หรือว่าเป็นศาลทั่วไปก็ไม่ทราบ ?

พวกเรานั่งรถเมล์กลับมายังสถานีโกเบ จุดที่เดินเข้าไปนั้นเป็นตลาดขายสารพัดสิ่งของ ลักษณะคล้าย ๆ ตลาดโบ๊เบ๊บ้านเรา พวกเราต้องอ้อมซ้ายมือเดินขึ้นฟ้าไปอีก ตอนแรกที่เห็นบันไดขาออกก่อนที่จะเดินไปวัดหลวงพ่อโต พวกเราก็ร้อง "โอ้โฮ" ไปตาม ๆ กัน ตอนนี้เมื่อรู้ตัวว่าต้องขึ้นลงสูงขนาดไหนก็ชักจะเคยชินและไม่ร้องกันอีก

มาประเทศญี่ปุ่น ต้องทำตัวรวดเร็วตามแบบเขา เนื่องเพราะว่ารถไฟจ่ออยู่สถานีตามเคย ขึ้นไปถึง หาที่นั่งยังไม่ทันจะครบรถก็ออก พวกเราขึ้นรถไฟที่เรียกว่า Special Rapid Train ก็คือมีความเร็วกว่าปกติ นอกจากนั้นแล้วก็จอดแค่บางสถานีเท่านั้น ใช้เวลาแค่ ๒๕ นาทีพวกเราก็กลับจากเมืองโกเบมาถึงสถานีกลางโอซากา กระผม/อาตมภาพเดินทางกลับที่พักก่อน ส่วนท่านใดที่ยังเรี่ยวแรงเหลือ พร้อมที่จะสู้ตายกับการช็อปปิ้ง ก็ต้องปล่อยตามใจเขาไป

สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๘
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-03-2025 เมื่อ 01:34
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 34 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
ตอบ


ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน )
 
คำสั่งเพิ่มเติม

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:19



ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว