#1
|
||||
|
||||
![]()
ให้ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตัวเอง ตั้งกายให้ตรง กำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้า หายใจเข้า..ให้ลมหายใจตลอดจนความรู้สึกไหลเข้าไป ผ่านอก ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออก..ให้ลมหายใจตลอดจนกระทั่งความรู้สึกทั้งหมด ไหลออกจากท้อง ผ่านอก มาที่ปลายจมูก จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม
วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นวันที่ม็อบนกหวีดประกาศเป็นครั้งที่เท่าไรแล้วก็ไม่ทราบว่าจะยึดประเทศ หลายท่านก็อาจจะเกิดความกลัว ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องปกติของปุถุชนทั่ว ๆ ไป เพราะในพระบาลี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า “อาหารนิทฺทํภยเมถุนญฺจ สามญฺญเมตปฺปสุภีนรานํ” อาหาร (อา-หา-ระ) คืออาหาร นิทฺทํ คือการนอน ภย คือการกลัวภัย เมถุน คือการเสพกาม ท่านบอกว่า สามญฺญ ก็คือเป็นลักษณะปกติทั่วไป เมตปฺปสุภีนรานํ ของคนและสัตว์ทั้งหลาย“ธมฺโม หิ เตสํ อธิโก วิเสโส” ธรรมะจึงทำให้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ต่างออกไปได้ “ธมฺเมน วีณา ปสุภิสมานา” ธรรมจึงเป็นเครื่องจำแนกคนออกจากสัตว์ ดังนั้น..ในสิ่งที่เรากลัวก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าเป็นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้แล้ว แต่คราวนี้การกลัวของเรา ขอให้กลัวอย่างมีสติ ก็คือระลึกรู้อยู่เสมอว่า เกิดมาเมื่อไร สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็คุกคามเรา ทำให้เราต้องหวาดสะดุ้งอยู่เป็นนิจ ขึ้นชื่อว่าการเกิดเช่นนี้ไม่สมควรจะมีต่อเราอีก เราควรที่จะก้าวล่วงพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้ไปสู่พระนิพพานดีกว่า โดยเฉพาะกำลังใจของเรา อย่าไปตั้งไว้ในความโกรธ ความเกลียดในบรรดาม็อบต่าง ๆ เขาทั้งหลายเหล่านั้นความจริงเป็นผู้ที่น่าสงสารอย่างยิ่ง ขณะที่บุคคลอื่นแสวงหาฝั่งเพื่อความหลุดพ้น เขาทั้งหลายเหล่านั้นนอกจากไม่ทวนกระแสเพื่อขึ้นสู่ฝั่งแล้ว ยังกำลังตะเกียกตะกายตามกระแสของรัก โลภ โกรธ หลง ออกไปสู่ห้วงทะเลทุกข์ที่หาต้นหาปลายไม่ได้ เขาทั้งหลายเหล่านั้นยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกนับกัปไม่ถ้วน ยังต้องดิ้นรนอยู่ในกองทุกข์อีกนับชาติไม่ถ้วน ดังนั้น..เขาทั้งหลายเหล่านั้นจึงไม่ใช่บุคคลที่น่าโกรธ น่าเกลียด แต่ว่าเขาทั้งหลายเหล่านั้นเป็นบุคคลที่น่าสงสาร เพราะว่าโดนชักนำด้วยรัก โลภ โกรธ หลง ทำให้ไม่สามารถที่จะเข้าถึงหลักธรรมที่แท้จริงได้
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-12-2013 เมื่อ 16:48 |
สมาชิก 57 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
![]()
ในเมื่อเราเองก็กลัวภัย แต่กลัวอย่างมีสติ เราก็ต้องเร่งรัดการปฏิบัติของพวกเราทั้งหลาย ในเบื้องต้นก็ต้องทบทวนศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เมื่อศีลของเราสมบูรณ์แล้ว ก็ดูต่อไปว่า เรายุยงส่งเสริมให้คนอื่นละเมิดศีลหรือไม่ ? เมื่อเรารักษาศีลสมบูรณ์บริบูรณ์ ไม่ยุยงส่งเสริมให้คนอื่นละเมิดศีล เมื่อเห็นคนอื่นละเมิดศีลเรามีความยินดีอยู่หรือไม่ ? การที่เราเอาสติจดจ่อระมัดระวัง ไม่ให้ศีลของเราบกพร่อง สมาธิก็จะค่อย ๆ ทรงตัวขึ้นมา เรียกง่าย ๆ ว่าศีลเป็นเครื่องหนุนเสริมให้เกิดสมาธิ
เมื่อสมาธิทรงตัวขึ้นมา ถ้าเราไม่ได้นำไปใช้งาน ก็จะกลายเป็นมิจฉาสมาธิ คือไปสนับสนุนกำลังของรัก โลภ โกรธ หลง แทน คราวนี้ก็จะรัก โลภ โกรธ หลงไปใหญ่โต ห้ามไม่อยู่ หยุดไม่ได้ เพราะเราไปเสริมกำลังให้เขาเสียแล้ว ดังนั้น..นักปฏิบัติเมื่อภาวนาไปแล้ว เกิดความรู้สึกว่าทำไมรัก โลภ โกรธ หลง มีแต่มากขึ้น ๆ ก็ต้องดูให้ชัดว่าเกิดจากการที่เราภาวนาแล้วไม่ได้เอากำลังไปพิจารณา ปล่อยให้กำลังของรัก โลภ โกรธ หลงดึงเอากำลังในการภาวนาไปใช้งาน หรือว่าสภาพจิตของเราละเอียดมากขึ้นทำให้เห็นรัก โลภ โกรธ หลงต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น แล้วรู้สึกว่ามีมากขึ้นกันแน่ ถ้าเป็นประการหลังก็ถือว่าการปฏิบัติของเราก้าวหน้าขึ้น ถ้าเป็นประการแรกให้รู้ว่าเราแย่แล้ว เพราะเท่ากับเราไปเลี้ยงเสือให้กัดตัวเอง ดังนั้น..เมื่อภาวนาจนสมาธิทรงตัวแล้ว ก็ควรที่จะพิจารณาโดยเฉพาะการพิจารณาวิปัสสนาตามแนวของไตรลักษณ์ คือทุกอย่างเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด ระหว่างที่ดำรงคงอยู่ก็ประกอบไปด้วยความทุกข์เป็นปกติ ท้ายสุดก็ไม่มีอะไรสามารถยึดถือมั่นหมายเป็นตัวตนเราเขาได้ เพราะว่าพังสลายไปหมด ในเมื่อทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา เราจะมัวแต่เวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์เช่นคนอื่น ๆ เขาก็นับว่าเรามีปัญญาน้อยมาก ถ้าเราเห็นทางหลุดพ้นแล้วมีทางเดียวก็คือพยายามที่จะตะเกียกตะกายไปให้เร็วที่สุด
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-12-2013 เมื่อ 11:49 |
สมาชิก 51 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
![]()
สำหรับพวกเราทั้งหมด ส่วนใหญ่มีพื้นฐานของการปฏิบัติมาแล้ว ดังนั้น..ส่วนที่สำคัญที่สุดในปัจจุบันนี้ก็คืออานาปานุสติ คือลมหายใจเข้าออก คือการสร้างเสริมสมาธิให้มั่นคงอย่างแท้จริง ถ้าเราสามารถสร้างเสริมสมาธิให้มั่นคงอย่างแท้จริง อันดับแรก เราก็จะมีกำลังเพียงพอที่จะหยุดยั้งกิเลสไว้ ไม่ไหลตามไปโดยส่วนเดียว
เมื่อเราสามารถหยุดยั้งกิเลสได้ เราก็จะเห็นหน้าตาของกิเลสได้ชัดเจน เมื่อถึงเวลานั้นก็จะรู้ว่าความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดจากสาเหตุใด แล้วเราเว้นจากการทำซึ่งสาเหตุนั้น ๆ รัก โลภ โกรธ หลง ก็เกิดขึ้นไม่ได้ สภาพจิตของเราก็จะผ่องใสมากขึ้น ๆ เมื่อผ่องใสจนถึงที่สุดก็สามารถที่จะยกจิตของตน ให้พ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงเข้าสู่พระนิพพานได้ ดังนั้น..ในปัจจุบันนี้สิ่งที่สำคัญก็คืออานาปานุสติ คือการรู้ลมหายใจเข้าออก การสร้างเสริมฌานสมาบัติให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อเป็นบันไดส่งเราก้าวพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง ลำดับต่อไป ให้ทุกท่านดูลมหายใจเข้าออกของเรา ถ้ายังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ ตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออก ถ้าเผลอสติไปคิดเรื่องอื่น รู้ตัวเมื่อไร ให้ดึงกลับมาอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกทันที ถ้ามีคำภาวนาอยู่ กำหนดคำภาวนาควบคู่กับลมหายใจไปด้วย ถ้าลมหายใจเบาลง คำภาวนาหายไป ให้กำหนดใจดูว่า ตอนนี้ลมหายใจเบาลง ตอนนี้คำภาวนาหายไป ตอนนี้ลมหายใจหายไป อย่ากลัวที่เป็นเช่นนั้น อย่าดิ้นรนให้เป็นเช่นนั้น และอย่าตะเกียกตะกายกลับมาหายใจใหม่ เรามีหน้าที่ตามดูตามรู้ไปเฉย ๆ สภาพจิตจะค่อย ๆ ดิ่งลึกลงสู่สมาธิจนทรงตัวเต็มที่ไปโดยอัตโนมัติเอง ลำดับต่อไป ให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูวิลาศกาญจนธรรม เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี วันเสาร์ที่ ๓๐พฤศจิกายน ๒๕๕๖ (ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยคะน้าอ่อน)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-01-2014 เมื่อ 17:34 |
สมาชิก 38 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|