กระดานสนทนาวัดท่าขนุน


กลับไป   กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะพระอาจารย์ > พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) > เทศน์ในวาระสำคัญต่าง ๆ

Notices

กระทู้ถูกปิด
 
คำสั่งเพิ่มเติม
  #1  
เก่า 21-02-2011, 23:30
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 31,421
ได้ให้อนุโมทนา: 154,231
ได้รับอนุโมทนา 4,444,541 ครั้ง ใน 35,026 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์วันมาฆบูชา ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔




นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง กุสะลัสสูปะสัมปะทา สะจิตตะปะริโยทะปะนัง เอตัง พุทธานะสาสนัน..ติ

ณ บัดนี้ อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชนา ในโอวาทปาติโมกข์คาถา เพื่อเป็นเครื่องโสรจสรงองคศรัทธาบารมี ของบรรดาท่านทานิสราธนบดีทั้งหลาย ที่พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันมาฆบูชา ณ วัดท่าขนุนแห่งนี้

ญาติโยมทั้งหลาย เมื่อเวลา ๒,๕๙๘ ปีที่ล่วงมานั้น ได้เกิดเหตุอัศจรรย์อย่างหนึ่งขึ้นในพระพุทธศาสนา คือ วันนั้นตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ หรือที่เรียกว่า พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์

ในวันนั้นหลังจากที่ออกพรรษาแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ได้เสด็จไปสู่เวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ปรากฏว่าได้มีพระสงฆ์จากทิศต่าง ๆ ซึ่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาของเรา ได้ทำการบวชให้นั้น พากันมาเฝ้าองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นจำนวนถึง ๑,๒๕๐ รูปด้วยกัน อย่าลืมว่าในสมัยนั้น ยังมีพระภิกษุเป็นจำนวนน้อยอยู่ ๑,๒๕๐ รูปนั้น คือจำนวนพระภิกษุทั้งหมดที่มีอยู่ในช่วงนั้น

ถ้าหากเราสงสัยว่า ทำไมถึงมี ๑,๒๕๐ รูป เราแค่นึกดูว่าบริวารของท่านชฏิลทั้ง ๓ องค์ ก็คือท่านอุรุเวลกัสสปเถระ ท่านนทีกัสสปะเถระ และท่านคยากัสสปเถระ ทั้ง ๓ นั้น ก็มีบริวารรวมกันถึง ๑,๐๐๐ รูปแล้ว ส่วนที่เหลืออีก ๒๕๐ รูป ก็คือ ส่วนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงเมตตาประทานการอุปสมบทให้ในช่วงแรก ก่อนที่จะเสด็จไปโปรดชฏิลทั้ง ๓ นั่นเอง

ในวาระอันสำคัญนั้น ภาษาบาลีเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต คือการประชุมอันประกอบด้วยองค์สำคัญ ๔ ประการคือ

๑. ภิกษุทั้ง ๑,๒๕๐ รูปนั้น มาประชุมรวมกันโดยมิได้นัดหมายกันมาก่อน ต่างฝ่ายก็อยากจะมาเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเดินทางมาพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย

๒. พระทั้ง ๑,๒๕๐ รูปนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์ผู้ปราศจากกิเลสทั้งสิ้น ถือว่าเป็นการประชุมสังฆกรรมพระผู้บริสุทธิ์อันยิ่งใหญ่ ที่ไม่มีการประชุมสังฆกรรมครั้งใดเหนือไปกว่านั้นอีกแล้ว

๓. พระภิกษุทั้ง ๑,๒๕๐ รูป ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานการบวชให้ด้วยพระองค์เอง ซึ่งเรียกว่า บวชโดยเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือการบวชโดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เอหิภิกขุ ซึ่งมีความหมายว่า ขอเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด ดังนี้เป็นต้น

๔. เป็นวันที่ดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ คือตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓
รูป
ชนิดของไฟล์: jpg มาฆะ ๕๔.jpg (86.8 KB, 401 views)
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 24-02-2011 เมื่อ 09:49
สมาชิก 103 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #2  
เก่า 22-02-2011, 12:36
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 31,421
ได้ให้อนุโมทนา: 154,231
ได้รับอนุโมทนา 4,444,541 ครั้ง ใน 35,026 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ในเมื่อวาระสำคัญทั้ง ๔ ประการประกอบกันขึ้นมา องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงพิจารณาย้อนหลังไปว่า เมื่อเหตุการณ์สำคัญอย่างนี้ปรากฏขึ้น พระพุทธเจ้าในอดีตแต่ละพระองค์ทรงกระทำสิ่งใดบ้าง ?

ก็ได้รู้ตลอดไปว่า ในวาระสำคัญเช่นนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตแต่ละพระองค์นั้น จะทรงประทานโอวาทปาติโมกข์แก่พระภิกษุทั้งหมด

คำว่า โอวาทปาติโมกข์นั้น ก็คือ คำสอนที่เป็นหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนา ซึ่งเนื้อหาของโอวาทปาติโมกข์นั้น พระองค์ท่านเริ่มต้นว่า ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา แปลว่า ขันติ คือ ความอดทนอดกลั้นนั้น เป็นตบะคือเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่งของนักปราชญ์

แปลว่า การที่เราจะปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญานั้น องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงตรัสแก่พุทธศาสนิกชนทั้งหมด ผ่านพระภิกษุทั้ง ๑,๒๕๐ รูปว่า บุคคลที่ตั้งใจปฏิบัติธรรมนั้น อันดับแรกต้องมีความอดทน ถ้าไม่มีความอดทน เราก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติธรรม ต่อสู้ฟันฝ่ากิเลสให้ประสบความสำเร็จได้

พระองค์ตรัสต่อไปว่า นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ก็ล้วนแล้วแต่สอนให้บุคคลเข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือพระนิพพานด้วยกันทั้งสิ้น

ลำดับต่อไปพระองค์ท่านตรัสว่า นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี บุคคลที่ยังฆ่าผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต คือไม่ใช่นักบวชเลย

สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต บุคคลที่ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ แม้ด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจก็ตาม ก็ยังไม่เรียกว่าสมณะ คือถึงต่อให้นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์อยู่ ก็ไม่นับว่าเป็นนักบวชนั่นเอง

หลังจากที่ได้ประกาศอุดมการณ์ ก็คือเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาไว้ว่า บุคคลเราถ้าหากว่าตั้งใจปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ต้องกระทำให้ถึงพระนิพพาน ด้วยความอดทนอดกลั้น เป็นผู้ที่ไม่ฆ่าผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจแล้ว

พระองค์ท่านยังประกาศหลักการในพระพุทธศาสนา ต่อไปว่า อะนูปะวาโท เราต้องไม่ว่าร้ายใคร อะนูปะฆาโต เราต้องไม่ทำร้ายใคร ปาติโมกเข จะ สังวะโร ให้สำรวมในศีลของเราไว้

ถ้าหากว่าทุกคนตั้งใจรักษาศีลตามสภาพของตนเอง คือ พระภิกษุสงฆ์ก็รักษาศีล ๒๒๗ ข้อ สามเณรรักษาศีล ๑๐ ข้อ อุบาสกอุบาสิการักษาศีล ๘ ข้อ ญาติโยมที่เป็นพุทธมามกะทั่วไป รักษาศีล ๕ ข้อ

ถ้าพวกเราทำได้อย่างนี้ ก็แปลว่าสังคมจะประกอบไปด้วยความสงบสุขร่มเย็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเอง พระองค์ท่านจึงสอนว่า เราต้องสำรวมระมัดระวังรักษาศีลของตนเอาไว้ ยอมให้ตัวตายดีกว่าศีลขาด ถ้าใครทำได้ดังนี้ โอกาสที่บรรลุมรรคผลก็จะมีแก่ตน
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-02-2011 เมื่อ 15:56
สมาชิก 93 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #3  
เก่า 23-02-2011, 00:21
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 31,421
ได้ให้อนุโมทนา: 154,231
ได้รับอนุโมทนา 4,444,541 ครั้ง ใน 35,026 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ลำดับต่อไป พระองค์ท่านกล่าวว่า ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง ให้นอนให้นั่งในที่อันสงัด หมายความว่า ที่อยู่ที่อาศัยของนักปฏิบัตินั้น ไม่ควรที่จะเกลื่อนกล่นไปด้วยผู้คน ควรจะเป็นที่สงัดจากผู้คน เพื่อที่เราจะได้ปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่

แล้วหลังจากนั้นพระองค์ก็ตรัสหลักการข้อต่อไปว่า มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง แปลว่า เป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค กินแค่พอดี คำว่าพอดีในที่นี้ ไม่ใช่เต็มที่เหมือนอย่างกับฆราวาสทั่วไป ซึ่งเขากินกันวันละ ๓ มื้อ

นักบวชของเรา ท่านให้ฉันได้มื้อสุดท้ายไม่เกินเวลาตะวันตรงหัว ก็แปลว่าไม่เกินเที่ยงนั่นเอง ถ้าหากว่าเราลดการกินลงไปมื้อหนึ่ง นอกจากจะประหยัดแล้ว ยังไม่ต้องไปกังวลว่า จะต้องเสียเวลาไปหามากิน หามาใช้ หามาทำเป็นอาหาร

และในขณะเดียวกัน ร่างกายของบุคคลที่ว่างจากอาหารแล้วไซร้ เลือดลมก็เดินได้สะดวกปลอดโปร่งมาก ทำให้สามารถปฏิบัติภาวนาได้ดี มีความเบากาย ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดความเบาใจได้

ข้อสุดท้ายพระองค์ตรัสหลักการไว้ว่า อะธิจิตเต จะ อาโยโค แปลว่า จะต้องหมั่นรักษาจิตของตนเองให้ตั้งมั่น คือไม่ฟุ้งซ่านไปด้วยอำนาจของนิวรณ์ หรือรัก โลภ โกรธ หลง เป็นต้น

เราจะเห็นได้ว่า โอวาทปาติโมกข์นั้น เป็นการประกาศอุดมการณ์สูงสุดของพระพุทธศาสนา โดยมีเป้าหมายอยู่ที่พระนิพพาน บุคคลต้องปฏิบัติด้วยความอดทนอดกลั้น ฝืนใจตัวเองไม่ให้ทำร้ายใคร ไม่ให้คิดร้ายใคร และหลักการต่าง ๆ ที่ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ เริ่มจากการที่ไม่ว่าร้ายใคร เป็นการสำรวมทางวาจา การไม่ทำร้ายใคร เป็นการสำรวมทางกาย เป็นผู้สำรวมในศีลของตัวเอง คือสำรวมทางใจนั่นเอง เป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค เป็นผู้อยู่อาศัยในที่สงัดเพื่อที่จะได้ปฏิบัติได้เต็มที่ และเป็นผู้ทรงสมาธิเป็นปกติ ทั้งสามอย่างนี้เป็นการหักห้ามใจของตนเอง ไม่ให้คล้อยตามกิเลส เราจึงมีกำลังพอที่จะสู้กับกิเลสได้
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 23-02-2011 เมื่อ 10:37
สมาชิก 85 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #4  
เก่า 23-02-2011, 00:24
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 31,421
ได้ให้อนุโมทนา: 154,231
ได้รับอนุโมทนา 4,444,541 ครั้ง ใน 35,026 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

หลังจากนั้น องค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังประกาศวิธีการปฏิบัติของพระพุทธศาสนาต่อไปว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง ให้ละเว้นจากความชั่วทั้งปวง ก็คือ ละเว้นความชั่วที่จะกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจนั่นเอง

ความชั่วที่กระทำทางกายเรียกว่า กายทุจริต ประกอบไปด้วย การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การดื่มสุราเมรัย เป็นต้น

ความชั่วที่ประกอบทางวาจา เรียกว่า วจีทุจริต ก็คือ การที่เราพูดโกหก พูดคำหยาบ การพูดส่อเสียด และการพูดวาจาไร้ประโยชน์ เป็นต้น

ความชั่วที่เกิดขึ้นทางใจเรียกว่า มโนทุจริต คือ โลภมากอยากได้สิ่งของของคนอื่นก็ดี โกรธเกลียดอาฆาตพยาบาทเขาก็ดี มีความเห็นเป็นมิจฉาทิฐิค้านกับคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เรียกว่า มโนทุจริต เป็นความชั่วทางใจ

เมื่อพระองค์ท่านตรัสว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง ให้ละเว้นจากความชั่วบาปทั้งปวง ก็คือละเว้นความชั่วที่จะเกิดขึ้นทางกาย ทางวาจาและ ทางใจนั่นเอง

วิธีการที่ ๒ พระองค์ท่านตรัสว่า กุสะลัสสูปะสัมปะทา ขอให้ทำความดีให้ถึงพร้อม ซึ่งตรงข้ามกับข้อเมื่อครู่นี้ ได้แก่ การทำความดีด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ

การทำความดีด้วยกาย เรียกว่า กายสุจริต ก็คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม และเว้นจากการดื่มสุราเมรัย

การทำความดีด้วยวาจา เรียกว่า วจีสุจริต คือ งดเว้นจากการโกหก งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากคำพูดส่อเสียดให้ผู้อื่นเขาแตกร้าวกัน และงดเว้นจากคำพูดที่เพ้อเจ้อไร้ประโยชน์

ในส่วนการทำความดีด้วยใจ เรียกว่า มโนสุจริต ก็คือ ข้อที่ ๑ ไม่คิดโลภอยากได้ของของคนอื่นจนเกินพอดี เห็นว่าอะไรที่เราชอบ เราอยากได้ ก็หามาให้ถูกต้องตามตามศีลตามธรรม
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 24-02-2011 เมื่อ 10:54
สมาชิก 83 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #5  
เก่า 24-02-2011, 09:17
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 31,421
ได้ให้อนุโมทนา: 154,231
ได้รับอนุโมทนา 4,444,541 ครั้ง ใน 35,026 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ข้อที่ ๒ ก็คือ งดเว้นจากการโกรธเกลียด อาฆาตพยาบาทผู้อื่น ความโกรธสามารถมีได้เป็นปกติ ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอนาคามีก็ยังโกรธผู้อื่นอยู่ แต่องค์สมเด็จพระบรมครูทรงสอนให้เราไม่ขังความโกรธไว้ โกรธแล้วเมื่อถึงเวลาหันไปจากที่นั้น ก็ให้ลืมไปเสียเลย

ถ้าเราไปขังความโกรธเอาไว้ เท่ากับเราเอาความชั่วมาเก็บไว้ในใจเราเอง ถ้าหากว่าจิตใจของเราเศร้าหมอง ก็แปลว่าเราจะต้องลงสู่อบายภูมิ คือไปเกิดเป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง เป็นต้น

ข้อที่ ๓ ของการปฏิบัติในมโนสุจริตก็คือ เป็นผู้มีสัมมาทิฐิ เห็นว่าศีล สมาธิ และปัญญา ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนเรามานั้น เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องปฏิบัติตาม เพราะว่าผู้ที่ปฏิบัติตามนั้นจะประกอบไปด้วยประโยชน์สุข ๓ สถานด้วยกัน

สถานแรกเรียกว่า ทิฏฐธรรมมิกัตถประโยชน์ เป็นประโยชน์ในชาติปัจจุบัน เราเป็นผู้มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ปฏิบัติตนเป็นคนดี เป็นบุคคลที่สังคมให้การเคารพยกย่อง เราจะไปที่ไหนก็ตาม มีแต่คนยินดีต้อนรับ ก็เท่ากับว่าเราจะมีความสุขในปัจจุบัน เพราะคนให้การนับหน้าถือตา ให้ความเคารพ ให้ความเชื่อถือในความดีของเรา จะอยู่ที่ไหนก็ต้องเป็นผู้นำเขา คือนำในการสั่งสอนให้ผู้อื่นให้เป็นคนดี

สถานที่ ๒ เรียกว่า สัมปรายิกัตถประโยชน์ เป็นประโยชน์ในชาติถัดไป ถ้าท่านสามารถดำรงความดีด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจนี้ให้มั่นคงได้ ท่านก็จะเกิดในสุคติ คือถ้าเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ชั้นดี หรือเกิดเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า ถ้ากำลังใจมั่นคงกว่านั้นท่านก็จะไปเกิดเป็นพรหม

แต่ถ้าท่านไม่นิยมในการเกิดเลย เห็นว่าสภาพร่างกายนี้ไม่ดี มีแต่ความทุกข์ สภาพของโลกนี้มีแต่ความทุกข์ ท่านไม่ต้องการการเกิดอีกแล้ว ถ้าสามารถขุดถอนรากเหง้าของกิเลสออกจากใจได้ ท่านก็จะได้ประโยชน์ในสถานที่ ๓ เป็นข้อสุดท้าย ที่เรียกว่า ปรมัตถประโยชน์ คือประโยชน์สูงสุด ได้แก่การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง เข้าสู่พระนิพพาน
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย วสันต์วิษุวัต : 24-02-2011 เมื่อ 15:39
สมาชิก 78 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #6  
เก่า 24-02-2011, 09:27
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 31,421
ได้ให้อนุโมทนา: 154,231
ได้รับอนุโมทนา 4,444,541 ครั้ง ใน 35,026 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ญาติโยมทั้งหลายจะเห็นว่า ในวันมาฆบูชา เมื่อ ๒,๕๙๘ ปีที่ผ่านมานั้น องค์สมเด็จพระภควันต์ได้ประกาศโอวาทปาติโมกข์เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ทั้ง ๑,๒๕๐ รูป ได้นำเอาอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการในพุทธศาสนาไปประกาศต่อประชาชนทั้งหลาย

ถ้าหากว่าเราจะนึกย้อนไปถึงวันแรก ที่องค์สมเด็จพระศาสดาส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูปแรกออกไปประกาศพระศาสนานั้น พระองค์ท่านใช้คำว่า จรถ ภิกฺขเว จาริกํ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ขอพวกเธอจงเที่ยวไป พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย เพื่อประโยชน์เพื่อความสุข ของชนเป็นจำนวนมาก โลกานุกมฺปาย เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขสิ้นกาลนานของทั้งมนุษย์และเทวดา

เราจะเห็นได้ว่า นี่เป็นความปรารถนาดีอันยิ่งใหญ่เพียงไหน ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ไม่ได้เอาแต่พระองค์รอด หากแต่ว่ายังทรงประกอบไปด้วยพระเมตตาคุณอันยิ่งใหญ่ ประกอบไปด้วยพระกรุณาคุณอันไพศาล ความรักความเมตตาที่มีต่อสรรพสัตว์ อยากให้ทุกรูปทุกนามพ้นทุกข์เหมือนกับพระองค์ท่าน จึงได้ส่งพระภิกษุสงฆ์ออกไปประกาศพระพุทธศาสนา

จนกระทั่งมาถึงวันจาตุรงคสันนิบาต ก็ได้ประกาศโอวาทปาติโมกข์ ให้พระภิกษุทั้งหลายได้นำเอาพระธรรมคำสอน ไปสอนให้เป็นแนวทางเดียวกัน ให้ทุกท่านได้มอบความรักความเมตตาให้แก่บรรดาประชาชนทั้งหลายโดยเสมอหน้ากัน ประกาศวิธีการเว้นจากการทำความชั่วทั้งปวง ประกอบความดีให้ถึงพร้อม และชำระจิตใจของตนให้ผ่องใสจากกิเลส ด้วยสมาธิภาวนา และปัญญานั้น

องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงประกอบไปด้วยความรักความเมตตาในมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายแล้วยังไม่พอ บรรดาพระอรหันต์ทั้ง ๑,๒๕๐ รูปก็ยังประกอบไปด้วยความรักอันยิ่งใหญ่ ตนเองพ้นทุกข์แล้ว ก็อยากให้ผู้อื่นได้พ้นจากความทุกข์ด้วย

ดังนั้น...ถ้าจะกล่าวไปแล้ว วันแห่งความรักในพระพุทธศาสนานั้น ก็ควรจะเป็นวันมาฆบูชานี้เอง เพราะเป็นวันที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ประกาศหลักการอันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย คือ ทั้งมนุษย์และเทวดา ตลอดจนกระทั่งสรรพสัตว์ในภพภูมิอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้ทุกคนมีส่วนในประโยชน์ในความสุขที่พระองค์ท่านได้ทรงเข้าถึงแล้ว
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย วสันต์วิษุวัต : 24-02-2011 เมื่อ 15:42
สมาชิก 82 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #7  
เก่า 25-02-2011, 00:28
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 31,421
ได้ให้อนุโมทนา: 154,231
ได้รับอนุโมทนา 4,444,541 ครั้ง ใน 35,026 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

เช่นเดียวกับญาติโยมทั้งหลาย ที่วันนี้ได้มาบำเพ็ญกุศลกัน ณ วัดท่าขนุนแห่งนี้ ไม่ว่าท่านจะได้รับคำสั่งสอนจากหลวงปู่ หลวงพ่อก็ดี จากปู่ย่าตายาย หรือพ่อแม่ของเราก็ดี ว่าการสั่งสมความดีในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นทาน เป็นศีล เป็นภาวนา นี่คือหลักการคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงให้ไว้ เพื่อประโยชน์ในปัจจุบันของเรา เพื่อประโยชน์ในอนาคตของเรา และท้ายที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดคือให้เราล่วงพ้นจากความทุกข์เข้าสู่พระนิพพานนั่นเอง

ในเมื่อทุกท่านสามารถที่จะรักษาคำสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า สืบทอดกันมาได้ถึง ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว และขณะเดียวกัน ก็ยังปฏิบัติได้กันจนเป็นปกติ ท่านทั้งหลายเมื่อมาที่วัดท่าขนุนแห่งนี้ ก็ได้นำเอาวัตถุทานมา ไม่ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นจะเป็นข้าวปลาอาหารก็ดี เครื่องสังฆทานก็ดี หรือว่าจะเป็นในส่วนของอามิสทานในส่วนอื่น ๆ ก็ดี ท่านทั้งหลายก็ได้ชื่อว่า ปฏิบัติในการให้ทานตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ขณะเดียวกัน เมื่อท่านมาแล้วก็ทราบว่าต้องมีการสมาทานศีล ทุกท่านก็ตั้งใจสมาทานศีลด้วยความเคารพ อีกสักครู่หนึ่งเมื่อพระสงฆ์เจริญพุทธมนต์เสร็จแล้ว ยังมีญาติโยมอีกคณะหนึ่งตั้งใจสมาทานอุโบสถศีล แล้วหลังจากนั้นก็จะมีญาติโยมที่ตั้งใจบวชเนกขัมมะบารมี เพื่อที่จะปฏิบัติธรรมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็จะรับศีล ๘ อันเป็นปาฏิหาริยอุโบสถอีกส่วนหนึ่ง ก็แปลว่าท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติตามคำสอนลำดับที่ ๒ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือเป็นผู้ประกอบไปด้วยศีลนั่นเอง

ส่วนท่านที่มาถึงวัดแล้วก็ทราบดีว่า ที่วัดจะมีการแสดงพระธรรมเทศนา ทุกท่านตั้งใจมาฟังธรรม ขณะที่เราฟังธรรม จิตของเราประกอบไปด้วยสมาธิ ขณะเดียวกันเมื่อคิดพิจารณาตามไปแล้ว เห็นว่าคำสอนขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วส่วนใดก็ตาม ที่เราสามารถกระทำตามได้ เราตัดสินใจเดี๋ยวนี้ว่าเราจะทำตาม ก็แปลว่าท่านเป็นผู้ที่ประกอบไปด้วยปัญญา

ญาติโยมทั้งหลายเป็นผู้ที่ประกอบไปด้วยทาน ด้วยศีล ด้วยภาวนา คำว่า ภาวนา แปลว่า ทำให้เจริญ คือเป็นผู้ที่มีปัญญา ประกอบกรรมความดีโดยส่วนเดียวนั่นเอง ก็แปลว่าท่านเป็นผู้ที่ทรงในศีล สมาธิ ปัญญา ตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้ทรงประกาศทั้ง อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการไว้ ตั้งแต่ ๒,๕๙๘ ปีที่ล่วงมาแล้ว
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-02-2011 เมื่อ 10:20
สมาชิก 62 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #8  
เก่า 25-02-2011, 13:52
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 31,421
ได้ให้อนุโมทนา: 154,231
ได้รับอนุโมทนา 4,444,541 ครั้ง ใน 35,026 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

องค์สมเด็จพระประทีปแก้วดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ๒,๕๕๔ ปี แต่ว่าพระธรรมคำสอนขององค์พระชินศรีบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ายังคงสืบทอดมา ให้พวกเราได้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขทั้ง ๓ สถานนั่นเอง

ญาติโยมทั้งหลายเมื่อมาถึงวัดท่าขนุนและได้ปฏิบัติธรรมดังนี้แล้ว ก็ขอให้ทราบว่า ท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติตามวิธีการที่องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงให้ไว้ ซึ่งพระองค์ตรัสว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง คือ ให้เว้นจากการทำความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจทั้งปวง กุสะลัสสูปะสัมปะทา ให้กระทำความดีให้ถึงพร้อมด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ

สะจิตตะปะริโยทะปะนัง พยายามชำระจิตใจของตนเองให้ผ่องใสบริสุทธิ์ เพื่อความหลุดพ้นของเราในโอกาสเบื้องหน้า ก็แปลว่าญาติโยมทั้งหลายนั้น เป็นผู้ถึงพร้อมในทาน ในศีล ในภาวนา ตามคำขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาที่ทรงประกาศโอวาทปาติโมกข์เอาไว้ตั้งแต่ในสมัยพุทธกาลนั่นเอง

จะได้เห็นว่าญาติโยมทั้งหลายเป็นผู้ที่ประกอบกรรมความดี ตามคำสอนขององค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยครบถ้วนแล้ว ก็ขอให้ทุกท่านรักษาความดีนี้เอาไว้ และนำเอาความดีนี้ไปเผยแผ่ต่อบุคคลรอบข้าง โดยเฉพาะคนในครอบครัว บุคคลที่เป็นลูกเป็นหลาน เราต้องสอนเขาให้เข้าถึงความดีเช่นเดียวกันกับเราด้วย

อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชนามาในโอวาทปาติโมกข์คาถา ก็พอสมควรแก่เวลา ท้ายสุดแห่งพระธรรมเทศนา อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ แลพระสังฆรัตนะ เป็นประธาน โดยมีบารมีของหลวงปู่สาย อคฺควํโส อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของญาติโยมทั้งหลายเป็นที่สุด

ขอได้โปรดดลบันดาลให้ทุกท่านเป็นผู้ที่มีความเป็นอยู่คล่องตัว มีความปรารถนาที่สมหวังทุกประการ เป็นผู้มีอายุยืนยาวนาน ปราศจากสรรพโรคาพาธ พ้นจากอุปัทวันตรายใด ๆ ทั้งปวง อาตมภาพรับทานวิสัชนามาก็พอสมควรแก่เวลา จึงขอสมมติยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้


พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์บนศาลาการเปรียญวัดท่าขนุน
วันมาฆบูชา ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-02-2011 เมื่อ 14:16
สมาชิก 61 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
กระทู้ถูกปิด

Tags
เทศน์, ปี ๕๔, มาฆบูชา


ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน )
 

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:13



ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว