#1
|
||||
|
||||
![]()
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราเอาไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหล ตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓ ยังคงอยู่ในบรรยากาศความหวาดระแวงว่าจะติดเชื้อไวรัส เรื่องของเชื้อไวรัส COVID–๑๙ นั้น ถ้าทำกันอย่างไม่ประมาท ก็คือป้องกันระวังของเราให้เต็มที่ ด้วยความตระหนัก ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง แต่ไม่ใช่ตระหนก คือแตกตื่นจนกระทั่งไปตุนข้าวของ อย่างเช่นว่าหน้ากากอนามัยหรือว่าเจลล้างมือ จนกระทั่งของขาดตลาด การที่เราจะตระหนักโดยไม่ตระหนก แปลว่าเราต้องมีการฝึกสติมาอยู่ในระดับหนึ่ง ความมีสติก็จะทำให้เรารู้จักยั้งคิด ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาด้วยความรอบคอบระมัดระวัง แล้วก็ทำในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์นั้น ๆ การที่เราจะมีสติได้นั้น ส่วนที่สำคัญที่สุดคืออานาปานสติ คือการระลึกถึงลมหายใจเข้าออก อานาปานสติหรือลมหายใจเข้าออก เป็นพื้นฐานของกองกรรมฐานทั้งปวง เพราะว่ากรรมฐานทั้งหลาย ถ้าต้องการให้ทรงตัวมั่นคง ระดับสมาธิของเราต้องเข้าถึงอัปปนาสมาธิ หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า ทรงฌานได้ การที่เราจะทรงฌานได้นั้น ขาดจากลมหายใจเข้าออก คืออานาปานสติไม่ได้เลย
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-03-2020 เมื่อ 02:36 |
สมาชิก 28 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
![]()
แต่คราวนี้การที่เราตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออกของเรานั้น ถ้าสมาธิเริ่มแนบแน่นมากขึ้น ลมหายใจเข้าออกของเราก็จะเบาลง บางทีก็หายไป ถ้าใช้คำภาวนาควบอยู่ก็หายไปด้วย ส่วนมากพอมาถึงตรงนี้แล้วก็มักจะตกใจ คิดว่าตนเองไม่หายใจแล้ว อาจจะตายได้ แล้วก็ตะเกียกตะกายกลับมาหาลมหายใจใหม่ เปรียบเหมือนกับคนเดินขึ้นบันไดไปแล้ว พอถึงเวลาก็ตะกายกลับลงไปข้างล่างใหม่ โอกาสที่จะก้าวหน้าในสมาธิก็ไม่มี
ส่วนหลายท่านนั้นศึกษามาไม่ทั่วถึง ไม่รู้ว่าจะจัดการกับลมหายใจเข้าออกอย่างไร ให้ดูในมหาสติปัฏฐานสูตร ไม่ว่าจะเป็นมหาสติปัฏฐานสูตร ในทีฆนิกาย พระสุตตันตปิฎกก็ดี มหาสติปัฏฐานสูตร ในมัชฌิมนิกาย พระสุตตันตปิฎกก็ดี หรือว่าอานาปานสติ หรือว่าสติปัฏฐานในวิสุทธิมรรคก็ดี เราจะเห็นว่าท่านใช้คำว่า หายใจเข้ายาว รู้อยู่ว่าหายใจเข้ายาว หายใจออกยาว รู้อยู่ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้าสั้น รู้อยู่ว่าหายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้น รู้อยู่ว่าหายใจออกสั้น ก็แปลว่าลมหายใจของเราจะแรงหรือจะเบา จะยาวหรือจะสั้น ให้เป็นไปตามธรรมชาติของร่างกาย คราวนี้หลายท่านศึกษามาว่า ต้องกำหนดลมหายใจ ๓ ฐาน ๗ ฐาน แล้วไม่สามารถที่จะทำได้ ก็เกิดความเครียดขึ้นมา ถ้าเราศึกษาในวิสุทธิมรรคจะเห็นชัด ท่านกล่าวถึง ผุสนา คือการใช้อานาปานสติประกอบกับฐานลมต่าง ๆ อผุสนา การที่ไม่ต้องจับฐานลมทั้งหลายเหล่านั้น แค่กำหนดรู้ลมหายใจเฉย ๆ ในส่วนอื่น ๆ ที่มากไปกว่านี้จะไม่กล่าวถึง
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-03-2020 เมื่อ 02:37 |
สมาชิก 27 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
![]()
เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ทำให้เห็นว่า ญาติโยมทั้งหลายความจริงแล้วศึกษามามาก แต่ไม่ตรงจุด หรือว่าศึกษาเพียงผ่าน ๆ ไป ถึงเวลาไม่สามารถนำมาใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองได้ ก็กลายเป็นปัญหาในการปฏิบัติ แล้วถ้าหากว่ายิ่งตอนท้าย ๆ ของการเข้าถึงอานาปานสติ ก็จะประกอบไปด้วยองค์ฌานในระดับต่าง ๆ หลายท่านพอคำภาวนาหายไป ลมหายใจหายไป ก็ไปต่อไม่เป็น คำว่า ไปต่อไม่เป็น ก็คือ ลืมไปว่าเราเป็นเพียงผู้ดูเท่านั้น
เมื่อถึงเวลาลมหายใจเบาลง เราก็กำหนดดู กำหนดรู้ ว่าตอนนี้ลมหายใจเบาลง ถ้าลมหายใจหายไป คำภาวนาหายไป เราก็กำหนดดู กำหนดรู้ ว่าตอนนี้ลมหายใจหายไป คำภาวนาหายไป อย่าอยากให้เป็นเช่นนั้น และอย่าดิ้นรนให้หลุดพ้นจากสภาวะเช่นนั้น เรามีหน้าที่เป็นผู้ดูเท่านั้น ถ้าสามารถทำกำลังใจอย่างนี้ได้ สมาธิของท่านก็จะดิ่งลึกลงไปตามลำดับ แล้วก็สามารถเข้าถึงอัปปนาสมาธิในขั้นสูง ตามที่ตนเองต้องการ หลังจากนั้นก็ยังต้องมาจัดการกับสมาธิภาวนาของเราอีก ด้วยการกำหนดให้พินิจพิจารณาในวิปัสสนาญาณรูปแบบต่าง ๆ เพราะว่าไม่เช่นนั้นแล้ว ถึงเวลากำลังใจของเราเมื่อตันแล้ว ไปต่อไม่ได้ ถ้าเราไม่พิจารณาวิปัสสนาญาณ กิเลส รัก โลภ โกรธ หลง จะเอากำลังสมาธินั้นไปฟุ้งซ่านแทน แล้วเราก็จะลำบากเดือดร้อน อย่างที่ประสบพบเห็นกันอยู่เนือง ๆ ดังนั้น..ในเรื่องของไวรัส COVID–๑๙ นั้น ถ้าหากว่าเราตระหนักโดยไม่ตระหนก คือเป็นผู้ประกอบไปด้วยสติ การจะเป็นผู้ประกอบไปด้วยสติปัญญานั้น จะทิ้งอานาปานสติไม่ได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาอานาปานสติ เพื่อที่เราจะได้ใช้ประโยชน์ให้เต็มกำลัง ไม่ว่าจะทางด้านสมถกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐาน แค่อานาปานสติกองเดียว ถ้าท่านทั้งหลายตั้งใจทำจริง ๆ ก็สามารถหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้ ลำดับต่อไปขอให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ วันอาทิตย์ที่ ๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย น้องผักชี)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-03-2020 เมื่อ 02:39 |
สมาชิก 30 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
|
|