กระดานสนทนาวัดท่าขนุน


กลับไป   กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะพระอาจารย์ > พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) > เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน

Notices

ตอบ
 
คำสั่งเพิ่มเติม
  #1  
เก่า 27-12-2014, 08:52
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,786
ได้ให้อนุโมทนา: 152,275
ได้รับอนุโมทนา 4,421,849 ครั้ง ใน 34,376 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติไว้เฉพาะหน้า รวมความรู้สึกทั้งหมดไว้ที่ลมหายใจเข้าออกของเรา หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ตามอัธยาศัย

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ เป็นการปฏิบัติธรรมประจำเดือนธันวาคมวันสุดท้าย การปฏิบัติธรรมของพวกเรานั้น ขอให้ทุกคนจำให้แม่นว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เราปฏิบัติในไตรสิกขา คือการศึกษาในศีล ในสมาธิ ในปัญญา เรื่องของศีลพวกเราคงไม่มีอะไรหนักใจแล้ว เพราะว่าส่วนใหญ่สามารถรักษาศีล ๕ ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ มีจำนวนไม่น้อยที่รักษาศีล ๘ เป็นปกติ และอีกหลายท่านก็พยายามที่จะรักษากรรมบถ ๑๐ แม้ว่าจะขาดตกบกพร่องบ้าง ก็พยายามที่จะทำให้ได้ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่น่าสรรเสริญ ดังนั้น..ในเรื่องของอธิสีลสิกขา คือการศึกษาในศีลนั้น เราก็แค่ทบทวนศีลทุกสิกขาบทของเราให้สมบูรณ์บริบูรณ์ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล ไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล

ในเรื่องของสมาธิ ส่วนใหญ่แล้วพวกเราจำนวนหนึ่ง มีความชำนาญในการเข้าสมาธิ เมื่อถึงเวลาก็สามารถทรงสมาธิได้เร็ว แต่ไม่สามารถที่จะทรงสมาธิแบบตั้งเวลาได้ และไม่สามารถที่จะออกสมาธิได้ทุกเวลาตามที่ตนต้องการ ตรงจุดนี้จำเป็นที่เราจะต้องซักซ้อมการเข้าออกสมาธิ จนกระทั่งมีความคล่องตัว นึกเมื่อไรก็เข้าหรือออกได้เมื่อนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าฌานตามลำดับ การเข้าฌานสลับไปมา การที่เราจะเข้าฌานในขณะที่เราทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือแม้กระทั่งว่าการที่เราสามารถเข้าฌานได้ ในลักษณะของการดับเสียซึ่งสัญญาและเวทนาทั้งปวง เป็นต้น

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ต้องมีการซักซ้อมอย่างจริงจัง เพื่อที่ถึงเวลา รัก โลภ โกรธ หลง เข้ามา ในชั่วเสี้ยววินาทีที่เรารู้ตัว เราสามารถยกจิตขึ้นสู่ระดับฌานได้ทันทีทันใด ถ้าเป็นดังนั้น รัก โลภ โกรธ หลง ก็จะทำอันตรายเราไม่ได้ ถ้าเป็นดังนี้จึงเรียกได้ว่าเราศึกษาในส่วนของอธิจิตสิกขา คือในส่วนของการปฏิบัติสมาธิภาวนา เพียงพอที่จะรักษาตัวได้
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 27-12-2014 เมื่อ 21:42
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 38 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #2  
เก่า 27-12-2014, 18:28
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,786
ได้ให้อนุโมทนา: 152,275
ได้รับอนุโมทนา 4,421,849 ครั้ง ใน 34,376 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ส่วนในเรื่องของปัญญานั้นมีหลายระดับด้วยกัน ระดับต้น ๆ ก็แค่รู้สึกตัวอยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย ระดับสูงขึ้นไปมากกว่านั้น ก็รู้สึกว่าร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของคนอื่นก็ดี มีแต่ความสกปรกโสโครกเป็นปกติ ไม่มีอะไรน่ารักน่าใคร่ สภาพความเป็นจริงที่โจทย์ฟ้องอยู่ตลอดเวลา ก็คือสภาพร่างกายของเรามีแต่ความสกปรก ต้องคอยขัดสีฉวีวรรณ ทำความสะอาดอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ถ้าไม่ทำความสะอาดสักวัน ๒ วัน ๓ วันเราเองยังทนไม่ได้ แล้วผู้อื่นจะทนได้อย่างไร ?

กำลังใจระดับที่สูงขึ้นมาอีกจะเห็นว่า สภาพร่างกายนี้มีความสกปรกโสโครกเป็นปกติ เราไม่มีความปรารถนาในร่างกายนี้อีก ถ้าหากว่ามีปัญญามากกว่านั้น ก็สามารถที่จะแยกแยะได้ชัดเจนว่า ร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี เป็นเพียงธาตุ ๔ คือดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบกันขึ้นมาเป็นรูปร่างชั่วคราว ให้เราได้อาศัยอยู่ มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนไปในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด ไม่มีอะไรที่ยึดถือมั่นหมายเป็นตัวตนเราเขาได้ ก็จะถอนจิตจากความยึดมั่นถือมั่นในสภาพร่างกายของตน ในสภาพร่างกายของคนอื่น ถ้าสามารถที่จะทำอย่างนี้เรามีสิทธิ์ที่จะหลุดพ้นไปสู่พระนิพพาน ถ้าเราใช้ปัญญาลักษณะนี้ จึงจะเรียกได้ว่าเราศึกษาในปัญญาสิกขา ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเอาไว้

ในส่วนของศีลนั้นเป็นส่วนหนุนเสริมให้สมาธิทรงตัวได้ง่าย เพราะว่าเราต้องใช้สติในการระมัดระวังรักษาสิกขาบทต่าง ๆ จึงเกิดสมาธิขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ เมื่อมีสมาธิขึ้นมาก็จะหนุนเสริมปัญญาให้ชัดเจนแจ่มใสยิ่งขึ้นไป เพราะสภาพจิตซึ่งสงบด้วยอำนาจสมาธิ รัก โลภ โกรธ หลง กวนไม่ได้ ก็สามารถใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงได้ง่าย ดังนั้น..การปฏิบัติในไตรสิกขา หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา จึงต้องปฏิบัติทั้ง ๓ อย่างควบคู่กันไป ไม่สามารถที่จะทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่งได้

ถ้าเราปฏิบัติในไตรสิกขาก็ชื่อว่าเราปฏิบัติอยู่ในมรรค ๘ ซึ่งเป็นหนทางนำเราไปสู่ความพ้นทุกข์ เพราะว่าสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะนั้น จัดอยู่ในส่วนของศีล สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จัดอยู่ในส่วนของสมาธิ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ จัดอยู่ในส่วนของปัญญา เมื่อเราปฏิบัติอยู่ในมรรค ๘ ได้สมบูรณ์บริบูรณ์ ทางพ้นทุกข์ของเราก็จะเปิดกว้าง สามารถที่จะล่วงพ้นได้ในชาตินี้ หรือไม่ก็ตัดหนทางในการเวียนว่ายตายเกิดได้สั้นลง สามารถที่จะบรรลุมรรคผลได้ในชาติต่อ ๆ ไป

ลำดับต่อไปก็ให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยรัตนาวุธ)
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-12-2014 เมื่อ 20:23
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 30 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
ตอบ


ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน )
 
คำสั่งเพิ่มเติม

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 07:45



ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว