#1
|
||||
|
||||
![]()
ทุกคนนั่งในท่าสบายของตัวเอง นั่งตัวตรง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั้งหมด หายใจเข้าออกยาว ๆ สักสองสามครั้ง หลังจากนั้นก็กำหนดความรู้สึกทั้งหมดให้ไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา
การปฏิบัติกรรมฐานนั้นสำคัญที่สุดก็คือรู้อยู่ในอารมณ์ปัจจุบัน การที่เราจะรู้อารมณ์ปัจจุบันนั้น ก็คือ การรู้ลมหายใจเข้าออกนั่นเอง ถ้าหากว่าสติสมาธิของเราอยู่กับลมหายใจเข้าออก ก็แปลว่าเรากำลังอยู่กับปัจจุบัน การที่เราคิดถึงอดีตหรือว่าอนาคต ล้วนแล้วแต่สร้างความทุกข์ให้เราทั้งคู่ จึงจำเป็นจะต้องหยุดทุกสิ่งลงในปัจจุบันนี้เท่านั้น สำหรับการตามดูลมหายใจเข้าออกหรืออานาปานสตินั้น เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นหัวใจใหญ่ของการปฏิบัติกรรมฐานทั้งหมด ไม่ว่ากรรมฐานอื่นใดใน ๓๙ กอง ถ้าเว้นเสียจากอานาปานสตินี้แล้ว กรรมฐานต่าง ๆ นั้นก็ไม่สามารถจะทรงตัวได้ ดังนั้น..ให้ทุกคนเห็นความสำคัญของลมหายใจเข้าออก ให้เห็นควบไปด้วยว่า หายใจออก...ไม่หายใจเข้าก็ตายแล้ว หายใจเข้า...ถ้าไม่หายใจออกก็ตายแล้ว ในเมื่อเรารู้ตัวอยู่เสมอว่าจะตายดังนี้ ก็กลับไปเร่งรัดศีลของตัวเองทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์ ตั้งใจว่าถ้าตายเมื่อไรเราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว เพราะว่าเป็นที่เอกันตบรมสุข พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง การที่เราตามดู ตามรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก หรือว่าปัจจุบันนี้ อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายก็จะมีเป็นปกติ บางคนก็รู้สึกว่าขนลุก บางคนก็น้ำตาไหล บางคนก็ร่างกายโยกไปโยกมาหรือดิ้นตึงตังโครมคราม เหมือนกับการเข้าทรงก็มี บางคนก็รู้สึกว่าตัวลอยขึ้น อันนี้ไม่ใช่แค่ความรู้สึกเท่านั้น ในความจริงมันก็ลอยด้วย บางท่านก็รู้สึกว่าตัวพอง ตัวใหญ่ ตัวแตกระเบิด บางทีก็รู้สึกว่าเหลือแต่หน้าตาเท่านั้น บางท่านก็รู้สึกว่าเหลือแต่หน้ากับข้าวของที่เราใช้ส่วนตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น บางท่านยิ่งกว่านั้น รู้สึกว่าร่างกายระเบิดกลายเป็นจุณ ไม่เหลืออะไรเลยก็มี
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 25-12-2009 เมื่อ 09:09 |
สมาชิก 58 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
![]()
คนที่ทำในเรื่องของสมาธิภาวนา ไม่เจอประเภทใดก็ประเภทหนึ่งใน ๕ อย่างนี้ เขาเรียกกันว่า ปีติ ส่วนอารมณ์ใจอีกส่วนหนึ่งนั้น จะเป็นสิ่งที่มาก่อกวนเราอยู่เสมอ ได้แก่นิวรณ์ ๕ ประการ ซึ่งเป็นธรรมในการกั้นเราไม่ให้เข้าสู่ความดี สิ่งที่จะดีหรือชั่วก็ตามพระพุทธเจ้าท่านเรียก ธรรมทั้งหมด ก็คือ การปรากฏขึ้นตามธรรมดาตามธรรมชาติของมัน
นิวรณ์ที่กั้นเราจากความดีก็ประกอบด้วยกามฉันทะ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ เป็นต้น พยาบาท ความโกรธเกลียดอาฆาตแค้นผู้อื่นเขา คิดจะจองล้างจองผลาญ คิดจะทำร้ายเขา ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ชวนให้ขี้เกียจปฏิบัติ คิดว่าพรุ่งนี้ก่อนเถอะ คิดว่าคืนนี้ก่อนเถอะ อุทธัจจะกุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อื่น ๆ หงุดหงิดรำคาญในใจตนเอง จากแรงกระทบต่าง ๆ ท้ายสุดวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลการปฏิบัติ ว่าจะมีขึ้นแก่เราจริงหรือไม่ อย่างไร นิวรณ์ทั้ง ๕ นี้เป็นอุปสรรคกีดขวางกั้นไม่ให้เราก้าวเข้าสู่สมาธิที่สูงขึ้น ถ้าสมาธิไม่สูงพอ กำลังในการตัดกิเลสก็จะไม่มี ดังนั้นในการที่จะตัดกิเลสนั้นท่านทั้งหลายจะต้องทำสมาธิให้ทรงตัวให้ได้ ต่ำสุดต้องได้ปฐมฌานขึ้นไป เพราะว่าปฐมฌานนั้นมีกำลังในการตัดกิเลสบางตัวได้แล้ว โดยเฉพาะกิเลสใหญ่ในสังโยชน์ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สักกายทิฏฐิคือเห็นว่าตัวเราเป็นของเรา แต่ถ้าอารมณ์มันทรงตัว มันนิ่งจริง ๆ พิจารณาภายในตามนัยแห่งวิปัสสนาญาณแล้ว ก็จะเห็นว่าสภาพร่างกายนี้จริง ๆ ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา มันเป็นเพียงธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่มารวมประชุมกันเพื่อให้เราได้อาศัยชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ถึงเวลาก็เสื่อมสลายตายพังไปตามสภาพของมัน ในเมื่อเป็นดังนั้น เรายังมีความปรารถนาในการเกิดอีกหรือไม่ แต่ละวันเมื่อภาวนาจนอารมณ์ใจทรงตัวแล้ว ให้ถอนกำลังใจออกมาเพื่อใช้ในการพิจารณาธรรมต่อไป
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 23-10-2009 เมื่อ 20:28 |
สมาชิก 54 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
![]()
ขอให้ทุกท่านระมัดระวังตรงจุดนี้ให้ดี ตอนที่เราคลายกำลังใจออกมานั้น กำลังใจจะมีกำลังสูงมาก ถ้าทรงเป็นฌานได้ก็มีกำลังสูงในระดับตัดกิเลสขั้นต้นได้เลย ถ้าหากเป็นกำลังใจที่ทรงถึงฌานสี่ คล่องตัวได้ มีสิทธิ์ที่จะตัดกิเลสในระดับอนาคามีได้ ในเมื่อกำลังใจมีกำลังสูงขนาดนี้ ถ้าเราไม่หาวิปัสสนาญาณให้เขาพิจารณา เขาก็จะฟุ้งซ่านไปในรัก โลภ โกรธ หลงแทน คราวนี้จะเป็นรักโลภโกรธหลงที่มีรสชาติเป็นพิเศษ เพราะว่าใช้กำลังสมาธิที่เราฝึกได้มาฟุ้งซ่านแทน
กำลังสมาธินั้นเราเอาไว้พิจารณาวิปัสสนาญาณเพื่อตัดกิเลส ในเมื่อเอามาใช้ในการฟุ้งซ่านแทน กำลังใจก็จะฟุ้งซ่านได้อย่างเข้มข้นมากมายกว่าที่เราคิด ลึกซึ้งกว่าที่เราคิด และพาให้เรายึดติด ไม่สามารถที่จะปล่อย ที่จะคลายออกได้ เมื่อเราระมัดระวังตรงจุดนี้แล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังใจเราก้าวข้ามนิวรณ์ ๕ นี้ไปแล้ว ก็ให้ดูว่ากำลังใจของเราตอนนั้นยินดีในลมหายใจเข้าออกหรือไม่ ระหว่างที่ตามดูลมหายใจเข้าออกมีคำภาวนาอยู่ด้วยหรือไม่ เมื่อตามดูลมหายใจเข้าออกมีคำภาวนาอยู่ด้วยแล้ว อารมณ์ใจต่าง ๆ ที่เป็นรัก โลภ โกรธ หลงเกิดขึ้นแก่เราในขณะนั้นเรารู้เท่าทันหรือไม่ ถ้าหากว่าสามารถรู้เท่าทันมัน เราก็นำกำลังในส่วนนี้มากดกิเลสไว้ก็ตาม มาพิจารณาเพื่อให้ปัญญายอมรับแล้วปล่อยวางก็ตาม ก็นับว่าเป็นหน้าที่ที่เราต้องประพฤติปฏิบัติกัน เป็นสิ่งที่เร่งรัดให้เราก้าวไปสู่ความหลุดพ้นได้ง่าย
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม |
สมาชิก 54 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
![]()
ในปัจจุบัน ณ ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงพระประชวร ยังรักษาพระองค์อยู่โรงพยาบาล ท่านทั้งหลายถ้าภาวนาจนกำลังใจทรงตัว สมบูรณ์ บริบูรณ์ดีแล้ว ให้ตั้งใจอุทิศส่วนกุศลถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่รักยิ่งของเรา ขอให้พระองค์หายจากอาการประชวร ขอให้มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของพสกนิกร คือเราทั้งหลายนี้ ไปตลอดกาลนาน
หลังจากนั้นท่านทั้งหลายที่กำหนดดูลมหายใจเข้าออกอยู่ รู้สึกว่าน้อยไป ก็ให้กำหนดภาพพระขึ้นมาด้วย หายใจเข้าก็ให้ภาพพระไหลเข้าไปอยู่ในท้องของเรา หายใจออกให้ภาพพระไหลออกมาอยู่ตรงหน้าของเราหรืออยู่บนศีรษะของเรา โดยทำกำลังใจให้ตั้งมั่น เชื่อมั่นว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ที่ไหนนอกจากพระนิพพาน เราเห็นท่านคือเราอยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน ให้ประคองรักษาอารมณ์ใจนี้พร้อมกับภาพพระหรือความรู้สึกว่ามีภาพพระนั้น ให้อยู่กับเรานานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ถ้าหากยังมีลมหายใจอยู่ มีคำภาวนาอยู่ให้ดูลมหายใจ ให้กำหนดคำภาวนาไป ถ้าไม่มีลมหายใจไม่มีคำภาวนา ก็กำหนดรู้อยู่ว่าธรรมดาของมันเป็นเช่นนั้น อย่าไปดิ้นรนอยากจะให้มี อย่าไปหวาดกลัวว่าจะเกิดอันตรายขึ้น ถ้าเราทำกำลังใจลักษณะนี้ได้ กำลังใจจะทรงเป็นอัปปนาสมาธิได้โดยง่าย สำหรับตอนนี้ก็ให้ทุกท่าน จับภาพพระพร้อมกับลมหายใจเข้าออกพร้อมกับคำภาวนาไปด้วย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกว่าหมดเวลาจากการปฏิบัติ พระครูวิลาศกาญจธรรม, ดร. เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์ วันเสาร์ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๒
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม |
สมาชิก 58 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
![]() |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
|
|