ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 01-04-2022, 22:33
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,500
ได้ให้อนุโมทนา: 151,364
ได้รับอนุโมทนา 4,405,775 ครั้ง ใน 34,089 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ในส่วนนี้ที่ทำไป ก็เพื่อที่จะฝึกให้สามเณรนั้นมีความเข้มแข็ง สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง และสิ่งต่าง ๆ ที่ฝึกที่หัดไป ไม่ว่าจะเป็นการฉันอาหารด้วยการไปตักด้วยตนเองก็ดี การล้างถ้วยล้างจานหลังจากที่ฉันเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ดี การซักผ้าผ่อนท่อนสไบของตนเองก็ดี ตลอดจนกระทั่งการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำความสะอาดวัด กวาดวัด ถูศาลาก็ตาม

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะสร้างระเบียบ สร้างวินัย ทำให้สามเณรได้รู้ว่าความลำบากนั้นเป็นอย่างไร เมื่อได้รู้ซึ้งถึงความลำบากเหล่านั้นแล้ว ก็จะทำให้มีวุฒิภาวะ มีความเติบโตขึ้นในทางจิตใจ

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา เมื่อสามเณรไปอยู่วัด ภายใน ๓ วันก็เรียบร้อยเป็นผ้าพับไว้ สิ่งที่ไม่เคยทำก็ได้ทำ สิ่งที่เคยทำก็ทำได้คล่องตัวยิ่งขึ้น แต่เมื่อกลับบ้านไปแล้ว บุคคลที่เป็นพ่อเป็นแม่ไม่สามารถที่จะรักษาสภาพเอาไว้ได้ ด้วยความรัก ความเมตตาสงสารต่อลูกต่อหลานของตนเอง ก็ไปบริการด้วยการทำโน่นทำนี่ให้ ซักผ้าให้ เก็บข้าวเก็บของให้ ซึ่งทำให้เด็ก ๆ ที่ได้รับการฝึกฝนไปแล้ว ไม่สามารถที่จะต่อยอดให้ทำได้ตลอดไป เพราะว่าทุกคนย่อมรักความสบายเป็นปกติ

เราต้องเข้าใจว่าไม่มีใครแสวงหาความลำบาก ในเมื่อมีความสบาย ก็ย่อมจะเลือกหาในสิ่งที่สบาย ทำให้การฝึกฝนด้วยความยากลำบากตลอดโครงการอย่างน้อย ๑๐ วันของทางวัดท่าขนุนนั้น ทำให้สามเณรไม่สามารถจะรักษาสิ่งต่าง ๆ ที่ฝึกที่หัดเอาไว้ได้ เพราะว่าไปเสียตรงที่พ่อแม่ของตนเองนั้นรักลูกจนเกินไป

ตรงนี้ขอให้บุคคลที่เป็นพ่อแม่ปู่ย่าตายายทุกคนได้รู้เอาไว้ว่า การที่ลูกหลานของท่านจะเติบโตขึ้นไป แล้วมีจิตสำนึก รู้จักเสียสละ รู้จักรับผิดชอบต่อสังคม รู้จักทำคุณประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตนนั้น ต้องปล่อยให้เด็กทั้งหลายเหล่านี้ ได้เคยพบเคยเจอกับความยากลำบากในชีวิตเสียก่อน ไม่เช่นนั้นแล้วเขาจะไม่สามารถต่อสู้ฝ่าฟันด้วยตนเอง ในเมื่อตนเองยังเอาตัวไม่รอด แล้วจะไปช่วยเหลือสังคมได้อย่างไร ?

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราสามารถใช้ตรรกะคิดกันแบบง่าย ๆ ก็คือต้องนึกถึงคำโบราณที่ว่า "ลำบากก่อนแล้วสบายเมื่อปลายมือ" ถ้าหากว่าเราฝึกหัดให้ลูกให้หลานของเราเผชิญหน้ากับความลำบาก ถ้าหากว่าไปเจอกับสิ่งที่ลำบากน้อยกว่า เขาก็จะรู้สึกว่าสบาย

ดังนั้น...ท่านทั้งหลายจึงควรที่จะฝึกหัด ควรที่จะเข้มงวดกับบุตรหลานของตนเอง ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะกลายเป็นการสร้างลูกสร้างหลานออกไปเป็นภาระต่อสังคม และอาจจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นเป็นอย่างมาก ด้วยความที่ขาดจิตสำนึกต่อส่วนรวม ทำสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามใจของตนเอง บางรายก็ถึงขนาดถามคนอื่นว่า "มึงรู้ไหมว่ากูเป็นลูกใคร ?" เป็นต้น
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 02-04-2022 เมื่อ 21:24
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 37 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา