ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 13-02-2009, 13:54
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,479
ได้ให้อนุโมทนา: 151,127
ได้รับอนุโมทนา 4,404,772 ครั้ง ใน 34,068 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ข้อที่หก ขันติบารมี เราต้องมีความอดกลั้น อดทนต่อความทุกข์ยากลำบาก ที่จะต้องควบคุมกายวาจาใจของเราให้อยู่ในกรอบที่จะต้องเสาะหาให้ได้ว่า สาเหตุของความทุกข์ทั้งปวงเกิดจากอะไร? และท้ายสุดต้องพยายามละให้ได้ วางให้ได้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ต้องใช้ความพยายามอย่างแรงกล้า ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างยิ่ง อดทนชนิดที่เรียกว่าต้องเป็นคนเหนือคนเท่านั้นจึงจะทนได้ ไม่อย่างนั้นแล้วเราจะสู้กิเลสไม่ได้ เหน็ดเหนื่อยแค่ไหนก็ปล่อยวางไม่ได้ ถ้ากิเลสมันยังไม่ตาย ลำบากแค่ไหนก็ต้องต่อสู้ฟันฝ่าไปจนกว่าจะก้าวล่วงไปได้ ขันติบารมีจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเอาไว้

ข้อที่เจ็ดเรียกว่า อธิษฐานบารมี เป็นการมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ ต่อเป้าหมาย ต่อจุดหมายของเรา ตั้งใจแล้วว่าเราจะปฏิบัติเพื่ออะไร แล้วมุ่งไปยังจุดหมายที่เราตั้งเอาไว้ แน่วแน่ไม่แปรผัน โดยเฉพาะถ้าเราตั้งใจว่าทำเพื่อพระนิพพาน เราต้องทุ่มเทเพื่อพระนิพพานจริง ๆ ไม่เปลี่ยนแปลง

ข้อที่แปดเรียกว่า สัจจะบารมี มีความจริงจัง จริงใจ ถึงเวลาต้องปฏิบัติ ให้ละเว้นงานอื่น ๆ มาปฏิบัติทันที ถ้าหากว่าเราไม่มีความจริงจังจริงใจ ไม่มีความเที่ยงตรงต่อตัวเอง เราไม่สามารถที่จะเอาดีได้

ข้อที่เก้าเรียกว่า เมตตาบารมี ให้ซักซ้อมแผ่เมตตาเสมอ ๆ อย่างที่สอนเอาไว้ เพราะว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายก็ย่อมรักสุขเกลียดทุกข์เช่นกัน หวังล่วงพ้นจากความทุกข์เช่นกัน เราต้องเห็นเขาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย ควรแก่การเมตตาปราณี ไม่ใช่เห็นเขาเป็นศัตรูเพราะว่าไม่ว่าเขาจะเป็นศัตรูหรือเขาไม่เป็น เขาก็มีความทุกข์เป็นปกติอยู่แล้ว เมื่อเขามีความทุกข์น่าเวทนา น่าสงสารขนาดนั้นถ้าเราช่วยเหลือเขาให้พ้นทุกข์ได้เราจะช่วย

ข้อที่สิบ ข้อสุดท้าย อุเบกขาบารมี การปล่อยวาง โดยปกติแล้วพวกเราปล่อยวางกันไม่ค่อยจะเป็น มักจะคิดว่าฉันวางแล้ว ฉันวางแล้ว แต่บางเรื่องเราไปวางลงบนหัวของคนอื่นเขา โดยไม่ได้พินิจพิจารณาว่าสิ่งทีเราทำและคิดว่าวางแล้ว มันสร้างความเดือดร้อนแก้ผู้อื่นหรือไม่ ตัวอุเบกขาที่แท้จริงนั้นเป็นการปล่อยวางในความทุกข์ทั้งปวง

ระลึกรู้อยู่ว่าชีวิตที่มีอยู่ไม่เกินร้อยปีนี้ ถ้าหากว่ามันสามารถล่วงพ้นจากความทุกข์ได้ เปรียบกับการเวียนตายเวียนเกิดนับชาติไม่ถ้วนนั้นมันเป็นเพียงเสี้ยวเล็กเท่านั้น ทำไมเราจะอยู่ดีมีสุขกับมันไม่ได้ ดังนั้นถ้าทุกข์ปรากฏขึ้นก็รับรู้ไว้แล้วปล่อยวาง สิ่งไหนไม่เกินกำลังสามารถแก้ไขได้...ก็แก้ไข ถ้าทุ่มเทแก้ไขเต็มที่แล้วแก้ไขไม่ได้...ก็ปล่อยวาง โดยเฉพาะการเห็นจริงผ่านสภาพร่างกายของเรา ว่ามันมีความไม่เที่ยงเป็นปกติ มีความทุกข์เป็นปกติในที่สุดก็เสื่อมสลายตายพังเป็นปกติ ในเมื่อธรรมดาของมันเป็นอย่างนี้ มันอยากจะเป็นก็เชิญเป็น เราดูแลมันดีที่สุดแล้ว ถ้ามันไม่สามารถดำรงอยู่ได้ อยากจะพังอยากจะสลายไปเมื่อไหร่ก็เชิญไปตามสลาย

ทั้งสิบข้อนี้เราจำเป็นต้องทบทวนอยู่เสมอ ข้อไหนบกพร่องก็เสริมสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อที่เราจะได้มีกำลังต่อสู้กิเลสได้ เพื่อที่เราจะเดินได้ถูกต้องและตรงตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งที่เราทุ่มเทกระทำไปจะได้สมกับที่เกิดมาอยู่ในกองทัพธรรม เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพที่จะต่อสู้กับกิเลส เป็นทหารอันเป็นที่รักยิ่งขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นทหารที่อยู่ในกองทัพน้อย ๆ ของหลวงปู่หลวงพ่อของเรา ซึ่งรวมอยู่ส่วนใหญ่ของกองทัพธรรมของพระพุทธเจ้า ดังนั้นอ่อนแอไม่ได้ บกพร่องไม่ได้ ทุกอย่างต้องทุ่มเทจริงจัง จริงใจ พากเพียรพยายาม อดทน อดกลั้น ตั้งมั่นต่อเป้าหมายโดยไม่แปรผัน เป้าหมายของเราคือพระนิพพาน

ดังนั้นท้ายสุดของการปฏิบัติทุกครั้งให้เอาใจเกาะภาพพระบนนิพพานไว้ ตั้งใจว่าถ้าตายเมื่อไหร่เราขอมาอยู่ที่นี้ที่เดียว การเกิดใหม่มามีร่างกายที่เต็มไปด้วยทุกข์นี้เราไม่ต้องการมันอีก การเกิดเป็นเทวดาเป็นพรหมพ้นทุกข์ชั่วคราวเราก็ไม่ต้องการมันอีก เราต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน แล้วเอาใจจดจ่อแน่วแน่เอาไว้ รักษาและประคับประคองอารมณ์ให้อยู่กับเราให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ให้ทุกคนตั้งกำลังใจเอาไว้อย่างนี้จนกว่าจะกว่าจะถึงเวลาที่จะอุทิศส่วนกุศล

พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันเสาร์ที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย วสันต์วิษุวัต : 11-01-2011 เมื่อ 11:55
สมาชิก 39 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา