ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 02-02-2010, 07:48
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,592
ได้ให้อนุโมทนา: 151,767
ได้รับอนุโมทนา 4,411,928 ครั้ง ใน 34,182 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ข้อต่อไปก็คือ ปีติ เป็นความอิ่มใจ ปลื้มใจที่เกิดขึ้น ถ้าหากว่าเกิดขึ้นกับอาการทางร่างกาย ก็มีอาการแปลก ๆ อย่างเช่นว่า ขนลุก น้ำตาไหล ร่างกายโยกโคลง ลอยขึ้นทั้งตัว หรือรู้สึกว่าตัวพอง ตัวใหญ่ ตัวแตก ตัวรั่ว ตัวระเบิด หรือเห็นแสงเห็นสีต่าง ๆ เป็นต้น

ถ้าถามว่าปีติเป็นการอิ่มใจ ปลื้มใจ แล้วทำไมมีอาการแปลก ๆ เช่นนั้น อรรถกถาจารย์ท่านเปรียบไว้ว่า เหมือนกับพ่อแม่ที่ทิ้งลูกไว้กับบ้าน ตนเองไปทำงานที่ไกล ๆ ตั้งแต่เช้ายันค่ำ เมื่อตกเย็นกลับมาถึงบ้าน ลูกที่เห็นพ่อเห็นแม่ก็ดีใจ กระโดดโลดเต้น ร้องไห้โฮเลยก็มี

ลักษณะของอาการปีติก็เช่นกัน เนื่องจากว่าเราเคยพบกับอาการสงบมาก่อน เมื่อเริ่มทำสมาธิกลับย้อนเข้าไปสู่ความสงบดั้งเดิมที่เคยพบเห็น จิตเกิดความคุ้นชิน ก็มีความปีติเกิดขึ้น ในตัวปีติแต่ละอย่างนั้น เราจะไปอายคนไม่ได้ เพราะถ้าอายคนเราก็ไม่สามารถที่จะก้าวพ้นไปได้

เราต้องปล่อยให้อาการนั้นเกิดขึ้นเต็มที่ไปเลยทีเดียว
บางรายก็อาจจะภายในวันนั้นก็ก้าวพ้นไปได้ บางรายก็เป็นอาทิตย์เป็นเดือนก็มี อาตมาเองเจอปีติบางตัว อย่างเช่น โอกกันติกาปีติ ร่างกายโยกโคลง ดิ้นตึงตังเหมือนผีเจ้าเข้าสิง เป็นอยู่เกือบสามเดือนเต็ม

ในส่วนของปีติที่เกิดขึ้นนั้น จิตจะมีความปลาบปลื้มยินดีมาก สว่างโพลงมาก ทำให้นอนไม่หลับไปนาน ๆ ก็มี หลายท่านก็ไปเครียดว่าไม่ได้นอน ขอให้ทราบว่าถ้าร่างกายนอนลงก็ได้พักผ่อนแล้ว สภาพจิตที่ตื่นอยู่นั้นเป็นเรื่องปกติ เราไม่ต้องไปใส่ใจ จะหลับก็หลับ ไม่หลับก็ช่างมัน เราภาวนาของเราต่อไป ถ้าทำอย่างนี้สักพักเดียวก็หลับ

อีกจุดหนึ่งที่ต้องระวังก็คือ เมื่อเกิดปีติขึ้นจะไม่อิ่ม ไม่เบื่อในการปฏิบัติ ช่วงนี้มารจะแทรกได้ง่าย จะหลอกให้เราปฏิบัติแบบหัวไม่วาง หางไม่เว้น เวลาพักผ่อนไม่มี ร่างกายเครียดเกินไป รับไม่ไหว ก็อาจจะมีสติแตก กรรมฐานแตกก็ได้ จึงควรที่จะกำหนดเวลาของเราอย่างเช่นว่า จะปฏิบัติไม่เกินครั้งละ ๑ ชั่วโมง แล้วก็พักผ่อนเป็นต้น ไม่เช่นนั้นแล้ว สิ่งที่ดีก็อาจจะพาให้เราเสียได้

ในองค์คุณข้อต่อไปของโพชฌงค์นั้น ท่านเรียก ปัสสัทธิ คือ ความสงบเกิดขึ้นกับเรา บางรายพอความสงบเกิดขึ้น เข้าใจว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ไปแล้วก็มี เพราะว่าจิตใจสงบนิ่ง เยือกเย็นมาก รัก โลภ โกรธ หลง ไม่เกิดขึ้นเลย นั่นเกิดจากอำนาจของสมาธิตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นปฐมฌานละเอียด จะยิ่งมีความสุขสงบมากเป็นพิเศษ รู้เท่าทันกิเลสมากเป็นพิเศษ เมื่อการทรงฌานตั้งแต่ปฐมฌานปรากฏขึ้น ไฟใหญ่สี่กอง คือ รัก โลภ โกรธ หลง ที่เผาเราอยู่ จะโดนอำนาจของสมาธิกดดับลงชั่วคราว เราจะมีความสุขความสงบร่มเย็น อย่างที่ไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้ คนที่ถูกไฟเผาอยู่ตลอดเวลา อยู่ ๆ ไฟดับลงไป จะถามเขาว่าสบายแบบไหน ? เขาอธิบายเป็นคำพูดไม่ได้

ตัวปัสสัทธิความสงบนี้ เมื่อเข้ามาถึง ตัวปัญญาจะปรากฏชัด เพราะว่าจิตใจที่สงบนิ่งนั้น เป็นตัวหนุนเสริมให้ปัญญาเกิดขึ้น
ก็จะมองเห็นช่องทางว่าจะรักษากำลังใจของเราอย่างไร เพื่อจะให้ทรงอยู่นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ไม่ให้นิวรณ์เข้ามาแทรกเข้ามาสิง แล้วทำลายอำนาจสมาธิและความสงบของเราไป เพียงแต่ว่าในช่วงนั้น ถ้ารักษาอารมณ์ได้ต่อเนื่องยาวนาน กิเลสเกิดไม่ได้ เราก็อาจจะพลาด คิดว่าเราเป็นพระอริยเจ้า คิดว่าเราเป็นพระอรหันต์แล้ว ซึ่งถ้าหากคิดดังนั้น เข้าใจดังนั้น แล้วทึกทักว่าเราเป็น ก็จะไม่มีการปฏิบัติต่อ เราก็จะติดอยู่แค่นั้น ไม่สามารถหลุดพ้นได้
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 02-02-2010 เมื่อ 08:56
สมาชิก 42 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา