ดูแบบคำตอบเดียว
  #453  
เก่า 12-06-2020, 14:37
ลัก...ยิ้ม ลัก...ยิ้ม is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 3,361
ได้ให้อนุโมทนา: 23,340
ได้รับอนุโมทนา 187,833 ครั้ง ใน 5,403 โพสต์
ลัก...ยิ้ม is on a distinguished road
Default

เข่นหนัก ด้วยอรรถธรรม

ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้วชุมพล จังหวัดสกลนคร เป็นองค์หนึ่งที่ได้อยู่จำพรรษาในระยะนี้ หนังสือประวัติย่อของท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ได้กล่าวถึงความจริงจังขององค์หลวงตาต่อพระเณรยุคบ้านห้วยทรายว่า
“.. ท่านพระอาจารย์มหาบัว ท่านเข้มงวดกวดขันกับพระเณรที่ไปปฏิบัติกับท่านมาก ยามค่ำคืนท่านอาจารย์มหาบัวจะลงเดินตรวจพระเณรในวัดโดยไม่ใช้ไฟฉาย ว่าพระเณรองค์ไหนทำความเพียรอยู่หรือเปล่า ถ้ามองเห็นจุดไฟอยู่ท่านก็จะไม่เข้าไป ถ้าองค์ไหนดับไฟท่านจะเข้าไป เข้าไปจนใต้ถุนกุฏิแล้วฟังเสียงว่าจะนอนหลับหรือเปล่า หรือนั่งภาวนา เพราะคนที่นอนหลับส่วนมากเสียงลมหายใจจะแรงกว่าธรรมดาที่ไม่หลับ


ถ้าหากว่าองค์ไหนนอนหลับก่อน ๔ ทุ่มแล้ว พอตอนเช้าประมาณตี ๔ ท่านจะเดินตรงไปที่กุฏิองค์นั้นแหละและถ้ายังไม่ตื่น ตอนเช้าลงศาลาจะเตรียมบิณฑบาต ท่านจะเทศน์ว่าให้พระเณรองค์นั้น ถ้าท่านได้เตือนถึง ๓ ครั้งแล้วไม่ดีขึ้น ท่านจะขับไล่ออกจากวัด ให้ไปอยู่วัดอื่นโดยพูดว่า
‘ผมสอนท่านไม่ได้แล้ว นิมนต์ออกไปจากวัดเสีย’


ฉะนั้น พระเณรยุคบ้านห้วยทราย ภายใต้การนำของท่านจึงมีความพากเพียร.. ในด้านการทำสมาธิภาวนาเป็นอย่างมาก ต่างองค์ต่างลักกัน (แอบปฏิบัติ) คือบางองค์เวลาหมู่เดินจงกรม จะขึ้นกุฏิแล้วไม่จุดไฟ ทำท่าเหมือนกับว่านอนแต่ความจริงนั่งภาวนา เวลาหมู่ขึ้นจากจงกรมหมดแล้ว จึงค่อยลงเดินก็มี

ท่านอาจารย์สิงห์ทองเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยนั้นเหมือนกับว่าพระเณรในวัดนั้นจะไม่ค้างโลกกัน พอตื่นนอนขึ้นมามองไปเห็นแต่แสงไฟ.. โคมสว่างไสวตามกุฏิของพระเณรเหมือนกับไม่นอนกัน

เรื่องอาหารการกิน เขามีกบหรือเขียดตัวเดียวอย่างนี้ เขาก็แบ่งใส่บาตรได้ ๔ บาตร ๔ องค์ก็มี ในคราวที่อดอยาก มะเขือลูกเดียวอย่างนี้ เขาจะผ่าใส่บาตรได้ ๔ องค์ ทั้งนี้เนื่องจากทางอีสานนั้นกันดารน้ำ โดยเฉพาะหน้าแล้งบางแห่งต้องได้กินน้ำในสระ พร้อมทั้งไปตักเอาไกลด้วยเป็น ๒-๓ กิโลเมตรก็มี เพราะขุดบ่อไม่มีน้ำ ถึงจะมีบางแห่งน้ำก็เค็ม กินไม่ได้และสิ่งที่ตามมาด้วยก็คือ ความอดอยากเรื่องอาหารการกิน

อาศัยแก่นไม้ รากไม้ ใบไม้มาต้มฉัน นาน ๆ จะมีน้ำอ้อยก้อนทีหนึ่ง ... ก้อนเดียวแบ่งกันฉัน ๓-๔ องค์ก็ยังพอ .. บางปีพระเณรป่วยเป็นไข้มาลาเรียเกือบหมดทั้งวัด ยังเหลือแค่ท่านพระอาจารย์มหาบัวและพระอีกองค์หนึ่งก็มีเป็นผู้ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ปัดกวาดลาดวัด และตักน้ำใช้น้ำฉัน...”

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต วัดภูจ้อก้อ จังหวัดมุกดาหาร เป็นอีกรูปหนึ่งที่อยู่ร่วมจำพรรษาด้วย หลวงปู่หล้าเล่าถึงเหตุการณ์ก่อนเข้าห้วยทราย และบรรยากาศในยุคบ้านห้วยทรายไว้อย่างน่าประทับใจ ดังนี้
“... (ข้าพเจ้า) พักอยู่วัดโพธิสมภรณ์คืนหนึ่ง แล้วท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ก็ส่งขึ้นรถยนต์มาลงสกลนคร พักอยู่สุทธาวาส ๑ คืน ก็เดินทางด้วยฝีเท้ามาพักวัดป่าบ้านโคกกับพระอาจารย์อุ่นหนึ่งคืน แล้วไปพักวัดดอยธรรมเจดีย์ประมาณ ๗ วัน เอาฟืนช่วยหลวงปู่กงมาอยู่บ้าง ลาออกจากนั้นก็ไปพักวัดป่าบ้านนาโสกอยู่ประมาณ ๗ วัน มีเณรโส บ้านนาโสก อยากจะไปห้วยทรายด้วย จึงพูดกับเณรว่า
‘ถ้าเณรอยากไปจงไปทีหลัง อย่าได้ไปพร้อมกัน เพราะจะทับถมข้า คล้ายกับข้ามายักยอกเอาเณรไปด้วย’


เณรกล่าว ‘อยากจะไปศึกษากับพระอาจารย์มหาบัวที่วัดป่าห้วยทราย ได้ยินแต่กิตติศัพท์มาหลายปีแล้ว อยากเห็น อยากรู้’..

ตื่นขึ้นเป็นวันใหม่ ฉันเสร็จเรียบร้อยก็กราบลาหลวงพ่อเตรียมเดินทาง ... แล้วโยมก็ไปส่งสองคน ไปส่งถึงแจ้งตะวัน (แจ้งตะวันเป็นชื่อสถานที่) แล้วก็กลับ ต่อแต่นั้นก็ตั้งหน้าเดินตรงข้ามบ้านโพนแดง ข้ามบ้านดงมอนก้านเหลือง ข้ามห้วยบางทราย ไปพักใกล้บ้านสงเปือย ที่ทุ่งนาแห่งหนึ่ง อยู่กลางดง มีเถียงนาว่าง ๆ อยู่หลังหนึ่งก็พอดีกับค่ำ พักนอนที่นั่น .. ฉันเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ตั้งหน้าภาวนา เดินข้ามบ้านนำคำ บ้านตากแดดเข้าบ้านหนองเอี่ยนทุ่ง แล้วเดินทางตามทางหลวง พอถึงห้วยทรายก็มืดพอดี.. จุดไฟ องค์หลวงปู่มหาก็อยู่ในศาลากำลังเทศน์พระและแม่ชีอยู่

ท่านทักว่า ‘ท่านหล้ามาแล้ว’ ท่านประกาศว่า ‘นี่แหละ..เขียงเช็ดเท้าพระอาจารย์ใหญ่มั่นองค์หนึ่ง

กราบนมัสการแล้วองค์ท่านก็ถามไถ่ทุกประการ ตกลงได้นอนอยู่ที่ศาลาเพราะกุฏิเต็ม..

พอข้าพเจ้ามาพักวัดป่าสุทธาวาส คุณเพ็ง คุณสีหา พอได้รับทราบข่าวว่า ข้าพเจ้ามาถึงวัดป่าสุทธาวาสจะไปหาพระอาจารย์มหาบัว ขณะนั้นคุณเพ็งคงอยู่กับหลวงปู่มั่น คุณสีหาคงอยู่กับพระอาจารย์วัน ก็พากันชวนกันไปหาพระอาจารย์มหาบัว เพื่อจะได้จำพรรษารวมกันหมู่เก่าอีก เพราะเคยได้อยู่ร่วมกันมาแล้วในยุคหนองผือ รู้จักนิสัยใจคอกันแล้วจะปฏิบัติสะดวก

สมัยนั้นเป็นเวลาฤดูเดือนพฤษภาคมข้างแรม หลังวิสาขบูชา ๒๔๙๖ แล้ว พระอาจารย์มหาได้ปรารภลับหลังกับหมู่ว่า
‘ผมไปอยู่กับหลวงปู่มั่น เสนาสนะเต็มหมด องค์ท่านได้พาหมู่ทำกุฏิให้ผมอยู่ มาบัดนี้ ผมจะได้ทำกุฏิให้ท่านหล้าอยู่ละ ผมเป็นเวรกับองค์หลวงปู่ในตอนนี้อีกแล้ว ใช้เวรไปเสีย’


แล้วได้รีบทำกุฏิมุงหญ้า ปูฟากอีกหลังก็เสร็จไปโดยเร็ว ได้ให้อาจารย์สิงห์ทองไปอยู่ แล้วได้สับเปลี่ยนหลังอื่นให้ข้าพเจ้าไปอยู่ แต่อยู่ใกล้พระอาจารย์มหาทางทิศเหนือนั้น กุฏิที่ปลูกใหม่อยู่ใกล้พระอาจารย์มหาทางทิศใต้ สามเณรโสให้อยู่ข้างใกล้โรงไฟ

ปีนั้นมีพระ ๑๑ รูป สามเณร ๔ องค์ คือ ๑. พระอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้า (อาจารย์มหาบัว) ๒. พระอาจารย์สม ๓. พระอาจารย์สิงห์ทอง ๔. พระอาจารย์นิล ๕. ข้าพเจ้า ๖. คุณเพียร ๗.คุณสุพัฒน์ ๘. คุณเพ็ง ๙.คุณสีหา ๑๐.คุณสี ๑๑. คุณสวาส ๑๒. เณรน้อย ๑๓. เณรน้อยอีก ๑๔. เณรบุญยัง ๑๕. เณรโส

ปฏิปทาของหลวงปู่มหา.. พาทำเหมือนสมัยยุคหนองผือหลวงปู่มั่น เพราะสมัยห้วยทรายแขกโยมยังไม่มาก ประวัติยุคห้วยทราย ก็เป็นยุคที่พระอาจารย์มหาตีและเข่นพระเณรโดยมิได้เลือกหน้าเหมือนกัน แต่อย่าลืมว่าสมัยบ้านห้วยทรายในยุคนั้น ในศาลาโรงฉันยังได้ใช้กระโถนกระบอกไม้ไผ่บ้านอยู่นะ แม้อยู่ตามกุฏิเป็นส่วนมากก็เหมือนกัน น้ำมันก๊าดก็มีเพียงปีละสองปีบ ผ้าที่จะทำไตรจีวรก็เหลืออยู่หมดวัดเพียงปีละไม้สองไม้เท่านั้น มูลค่าในวัดทั้งหมดรวมกันในวัด บางทีก็ร้อยสองร้อยเท่านั้น

ปรารภไว้เพื่อให้กุลบุตรสุดท้ายคำนึง จะได้ไม่ลืมตัวในสมัยวัตถุนิยมหรูหรา เพราะเกรงกิเลสจะหรูหราขึ้น

ด้านเสนาสนะก็กั้นใบตองและฟางเป็นส่วนมาก พระอาจารย์มหาก็ยังอยู่กุฏิฟางและมุ่งหญ้า ประตูหน้าต่างก็ทำเป็นวงฝาแถบตองผลักไปมา หรือเวิกออกแล้วก็ค้ำเอา

ด้านทำความเพียรมีเวลามากกว่าทุกวันนี้ คราวหนุ่มอยู่.. หลวงปู่มหายิ่งประเปรียวกว่านี้มาก พวกลูกศิษย์ที่ได้ไปหุ้ม (รุมล้อม) หลวงปู่บ้านตาดในยุคปัจจุบันนั้น องค์ท่านอนุโลมที่สุด อย่าว่าองค์ท่านดุเลย...”

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-06-2020 เมื่อ 12:42
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา