ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 15-12-2010, 23:21
หยาดฝน's Avatar
หยาดฝน หยาดฝน is offline
ผู้สนับสนุนเว็บวัดท่าขนุน - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Mar 2009
ข้อความ: 3,523
ได้ให้อนุโมทนา: 317
ได้รับอนุโมทนา 73,848 ครั้ง ใน 3,669 โพสต์
หยาดฝน is on a distinguished road
Default

พิธีการลงยันต์

ดังที่ได้เรียนไปแล้วข้างต้นว่า หยาดฝนอ้างอิงจากสองตำรา คือเอกสารที่ไม่ได้ระบุที่มาและตำราพระเวทพิสดาร ตำราทั้งสองกล่าวถึงพิธีสองแบบค่ะ คือพิธีโดยย่อ (หรือพิธีย่อ) และพิธีใหญ่ พิธีการนี้มีจุดประสงค์เพื่อบูชาท่านทิศาปาโมกข์ (ท่านผู้ผูกหรือสร้างแบบยันต์) และบูชาพระรัตนตรัย

พิธีโดยย่อ
ฤกษ์
เอกสารที่ไม่ได้ระบุที่มากล่าวไว้ว่า ต้องเป็นวันพฤหัสบดีข้างขึ้น ๔ ค่ำ ๗ ค่ำ และ ๙ ค่ำ หรือที่ทางโหราศาตร์เรียกว่า วันสิทธิโชค มหาสิทธิโชค และอมฤตโชค
ตำราพระเวทพิสดารกล่าวไว้แค่ว่า ต้องเป็นวันพฤหัสบดีข้างขึ้น ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นข้างขึ้นที่เท่าใด

เครื่องบูชา
เอกสารไม่ระบุที่มาระบุว่า ให้ปูผ้าขาวไว้หน้าพระประธานในโบสถ์ เครื่องบูชาต้องมีหัวหมู บายศรีซ้ายขวา แจกันดอกไมู้คู่ เชิงเทียนคู่ เทียนเงินคู่ เทียนทองคู่ กระถางธูป พร้อมทั้งจุดธูปปักเครื่องบูชาดังกล่าวเพื่อบูชาท่านทิศาปาโมกข์ และเครื่องขันธ์ ๕ ขันธ์ ๘ บูชาคุณพระรัตนตรัย

ตำราพระเวทพิสดารระบุว่า ต้องมีหัวหมู บายศรีซ้ายขวา และธูป-เทียนอย่างละ ๑๐๘ (ธูป-เทียนอย่างละ ๕๖ บูชาท่านทิศาปาโมกข์ผู้ร้อยกรองพระพุทธคุณทั้ง ๕๖ ห้อง ธูป-เทียนอย่างละ ๓๘ บูชาพระธรรม และ ธูป-เทียนอย่างละ ๑๔ บูชาพระสงฆ์) ทั้งหมดนี้สำหรับบูชาท่านทิศาปาโมกข์ แล้วบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และขันธ์ ๕ ขันธ์ ๘

บูชากันเสร็จสรรพแล้วก็ลงยันต์ได้เลยค่ะ ในการลงแต่ละยันต์ก็ท่องบทอิติปิโสรัตนมาลาไปด้วยค่ะ เป็นต้นว่าเขียน "อิ" ก็ท่องบท "อิฎโฐ สัพพัญญุตะญาณัง อิจฉันโต อาสะวักขะยัง อิฎฐัง ธัมมัง อนุปปัตโต อิทธิมันตัง นะมามิหัง" แล้วก็ว่าเรื่อยไปจนครบ ๑๐๘ ค่ะ


พิธีใหญ่
เอกสารไม่ระบุที่มาระบุว่านิมนต์พระเถราจารย์ให้ได้ ๑๐๘ องค์

ตำราพระเวทพิสดารกล่าวไว้ว่า ควรชุมนุมพระเถราจารย์ให้ได้ ๑๐๘ องค์ โดยสมมุติให้พระเถราจารย์ ๘๐ องค์ เท่ากับพระอสีติมหาสาวกทั้ง ๘๐ องค์ พระเถราจารย์อีก ๒๘ องค์นั้น เท่ากับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๒๘ พระองค์

ฤกษ์
ทั้งสองตำรากล่าวตรงกันว่า ต้องเป็นวันพฤหัสบดีข้างขึ้น ๔ ค่ำ ๗ ค่ำ และ ๙ ค่ำ หรือที่ทางโหราศาตร์เรียกว่าวันสิทธิโชค มหาสิทธิโชค และ อมฤตโชค

สถานที่
มีเพียงแต่เอกสารไม่ระบุที่มาที่กล่าวถึงสถานที่ว่า ต้องเป็นพระวิหารหรือโบสถ์ค่ะ แต่ว่าตำราพระเวทพิสดารบอกแค่ว่าโรงพิธี ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงว่าต้องเป็นพระวิหารหรือโบสถ์แต่อย่างใดค่ะ

ส่วนในเรื่องของการตกแต่งสถานที่นั้น ตำราทั้งสองระบุไว้ดังนี้ค่ะ
เอกสารไม่ระบุที่มาระบุว่า ต้องจัดตั้งราชวัตรฉัตรธงทั้ง ๔ ทิศ พร้อมทั้งต้นกล้วย ต้นอ้อย และต้นมะพร้าวทั้ง ๔ ทิศ ในโรงพิธี (ส่วนที่ทำพิธีการ) ปูด้วยผ้าขาวบริสุทธิ์ตลอดโรงพิธี และใช้ผ้าขาวดาดทำเป็นเพดาน ใต้เพดานผ้าขาวให้จัดเดินสายสิญจน์เป็นรูปแบบเดียวกับเส้นยันต์มหาจักรพัตราธิราช แล้วจึงนิมนต์พระเถราจารย์-พระคณาจารย์ทั้ง ๑๐๘ องค์เข้าร่วมในพิธี

ตำราพระเวทพิสดารบอกว่า ควรจะสร้างโรงพิธีประกอบด้วยราชวัตรฉัตรธง ต้นกล้วย ต้นอ้อย ปูลาดด้วยผ้าขาวบริสุทธิ์ตลอดโรงพิธี แล้วนำผ้าขาวบริสุทธิ์มาดาดทำเป็นเพดาน

เครื่องบูชา
เอกสารไม่ระบุที่มากล่าวไว้ว่าเครื่องบูชาต้องประกอบไปด้วย โต๊ะหมู่บูชา พระพุทธรูป แจกันดอกไม้ เชิงเทียนคู่ เทียนเงินคู่ เทียนทองคู่ กระถางธูป ตู้เทียนชัย เทียนชัยหนัก ๑๐๘ บาท ไส้ ๑๐๘ เส้น ส่วนสูงของเทียนเท่ากับตัวประธานในพิธี เทียนมงคลพร้อมขันหรือโอ่งน้ำมนต์ (เทียนมงคลหนัก ๓๒ บาท) ความสูงเท่ากับรอบศีรษะประธาน และจัดศาลเพียงตา ๑ ที่ พร้อมกับเครื่องสังเวย เครื่องกระยาบวช บูชาเทพยดาทั้ง ๘ ทิศ บูชาฤกษ์ บูชาครูอาจารย์ เจ้ากรุงพาลี และเจ้าที่เจ้าทาง

ตำราพระเวทพิสดารระบุว่า ให้ตั้งพิธีโดยมีเทียนชัย เทียนมงคล ตั้งเครื่องกระยาบวชบูชาเทพยดา ครูบาอาจารย์

การลงยันต์
เอกสารไม่ระบุที่มาบอกว่า คัดเอาพระเถราจารย์-พระคณาจารย์องค์ที่ท่านลงยันต์นี้ได้ หรือองค์ที่ท่านปฏิบัติทางธรรมได้ห้องธรรมสูง ได้กสิณฌานด้วยก็จะยิ่งดี ให้องค์นี้นั่งตรงกลางซึ่งตรงกับกึ่งกลางของยันต์ในโรงพิธี แวดล้อมด้วยองค์อื่น ๆ พระเถราจารย์ที่นั่งตรงกลางองค์นี้จะทำหน้าที่ลงยันต์

ตำราพระเวทพิสดารกล่าวว่า เมื่อจะเริ่มลงยันต์นั้น ต้องให้พระเถราจารย์องค์ใดองค์หนึ่งใน ๑๐๘ องค์นั่งตรงกลาง แวดล้อมด้วยหมู่สงฆ์ พระเถราจารย์ผู้ที่นั่งตรงกลางเป็นผู้ลงยันต์

ลำดับการลงยันต์มีดังนี้ค่ะ
๑. สวดมนต์ ชุมนุมเทวดา แล้วสวดพระพุทธมนต์จนจบบทมงคลสูตร
๒. เริ่มสวดพระคาถารัตนมาลาและเริ่มลงอักระในยันต์ (ยันต์นี้ต้องตีเส้นมาก่อนพิธีการลงยันต์ค่ะ) สวดตั้งแต่บท "อิ" จนถึงบท "โล" รวม ๒๗ พระคาถา
๓. ขั้นด้วยสวดพระปริตร บทโมรปริตร วัฏฏกปริตร อภยปริตร และกรณียเมตตาสูตร
๔. สวดพระคาถารัตนมาลาและลงอักขระต่อ ตั้งแต่บท "กะ" จนถึงบท "คะ" รวม ๒๗ พระคาถา
๕. ขั้นด้วยสวดขันธปริตร ฉัททันตปริตร องคุลิมาลปริตร โพชฌังคปริตร และรตนสูตร
๖. สวดพระคาถารัตนมาลาและลงอักขระต่อ ตั้งแต่บท "วา" จนถึงบท "นะ" รวม ๒๗ พระคาถา
๗. ขั้นด้วยสวดอาฏานาฏิยปริตร ธชัคคสูตร และชัยปริตร
๘. สวดพระคาถารัตนมาลาและลงอักขระต่อ ตั้งแต่บท "ยิ" จนถึงบท "โฆ" รวม ๒๗ พระคาถา
๙. จบด้วยการสวดคาถามงคลจักรวาลใหญ่ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร คาุถาพระอสีติมหาสาวก และมงคลจักรวาลน้อย

สำเร็จจบ ๑๐๘ พระคาถาค่ะ
เกี่ยวกับอานุภาพของยันต์ตามที่ตำราได้กล่าวไว้ หยาดฝนขอลงในโอกาสต่อไปนะคะ

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย หยาดฝน : 16-12-2010 เมื่อ 23:14 เหตุผล: ลบสระอิที่อยู่บนสระเอ ของคำว่า "เกี่ยว" ที่บรรทัดสุดท้าย
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 127 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา