ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 13-02-2009, 13:42
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,459
ได้ให้อนุโมทนา: 151,110
ได้รับอนุโมทนา 4,400,256 ครั้ง ใน 34,048 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

บารมีทั้งสิบนั้นประกอบด้วย ทานบารมี ต้องรู้จักเสียสละให้ปัน เพื่อเป็นการตัดความโลภซึ่งเป็นกิเลสใหญ่ในใจเรา ให้สังเกตดูว่าในแต่ละวัน เรามีโอกาสที่จะให้ปันแก่คนอื่นได้หรือไม่ ถ้ามีโอกาสแล้วเราได้กระทำหรือเปล่า ถ้าเราได้ทำ สามารถที่จะสละออกแบ่งปันแก่คนอื่นได้ทันที ถือว่าบารมีข้อนี้ของเราใช้ได้ แต่ถ้าเรายังมีความหวง มีความห่วง สละออกได้ยาก แปลว่าบารมีข้อนี้ของเราบกพร่องต้องเน้นให้มากขึ้น โดยเฉพาะการสละออกซึ่งทรัพย์สินสิ่งของ สิ่งที่เราหามาได้โดยยาก เรายังยอมสละออก เพื่อเป็นการสร้างความดีตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องใช้กำลังใจในการสละออกอย่างแรงกล้าถึงจะสำเร็จ เราต้องทบทวนดูว่า ทานบารมีของเราในแต่ละวันยังบกพร่องอยู่หรือไม่ ถ้ายังบกพร่องอยู่ให้ตั้งใจไว้ว่าพรุ่งนี้เราต้องทำให้ได้ และเราจะทำ

ข้อสอง คือ ศีลบารมี กำลังใจในด้านงดเว้น ระมัดระวังไม่ให้กายวาจาของเรา คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว การงดเว้นนอกจากตัวเราเองงดเว้นแล้ว ยังไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นเขาละเมิด และไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นละเมิดศีล เราต้องทบทวนในแต่ละวันว่าศีลบารมีของเราบกพร่องหรือไม่ เรามีโอกาสฆ่าสัตว์...เราได้ฆ่าสัตว์หรือไม่ เรามีโอกาสลักทรัพย์...เราได้ลักทรัพย์หรือไม่ มีโอกาสประพฤติผิดในกาม...เราได้ประพฤติผิดหรือไม่ มีโอกาสโกหก....เราได้กระทำหรือไม่ มีโอกาสที่จะดื่มสุราและเสพยาเสพติด...เราได้กระทำหรือไม่ ถ้าหากว่าส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่อง ให้ตั้งใจว่าตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ศีลบารมีของเราจะต้องสมบูรณ์และบริบูรณ์แล้วระมัดระวังรักษาเอาไว้

ข้อที่สาม เนกขัมมะบารมี ถ้าว่ากันตามตรงคือการสละออกจากกาม เว้นจากการครองคู่ ถ้าสำหรับพวกเราที่เป็นปุถุชน โยคาวจรทั่วไป บางทีจะเป็นการงดเว้นได้ยาก ดังนั้นเราก็พยายามรักษาศีลในข้อที่สามให้สมบูรณ์ให้บริบูรณ์ไว้ ก็คือให้ยินดีเฉพาะคู่ครองของตน ไม่ไปล่วงละเมิดของรักหรือคนรักของผู้อื่นเขา แต่ถ้าผู้ใดสามารถทรงฌานสมาบัติได้ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป แล้วรักษาอารมณ์นั้นเอาไว้ได้ จะสามารถทรงตัวเนกขัมมบารมีนั้นได้ง่าย เนื่องจากว่ากำลังของฌานสมาบัติสามารถปลดกามราคะให้ดับลงได้ชั่วคราว ดังนั้นผู้ที่จะทรงเนกขัมมะบารมีอย่างต่ำสุดต้องได้ปฐมฌานขึ้นไป ถ้าจะเอาให้ปลอดภัยทีเดียวต้องทรงฌานสี่ให้คล่องตัว ชนิดที่นึกเมื่อไรก็ทรงฌานได้เมื่อนั้น ไม่อย่างนั้นแล้วไม่สามารถจะต่อสู้กับมันได้

ข้อที่สี่ คือ ปัญญาบารมี ในแต่ละวันเราใช้ปัญญาในการละกิเลสอย่างไรบ้าง อย่างหยาบ ๆ ก็เปรียบจากศีลทั้งห้าข้อ ลองทบทวนดูว่าเราได้ละเมิดศีลหรือไม่ ? อย่างกลางก็คือทบทวนว่า นิวรณ์ห้ากินใจเราได้หรือไม่ ? อย่างละเอียดก็คือ รัก โลภ โกรธ หลง ที่เข้ามาสารพัดรูปแบบ สามารถเข้ามาแทรกแซงยึดครองพื้นที่ในใจเราได้หรือไม่ ? ถ้าหากว่าส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่อง ให้ตั้งใจปฏิบัติให้บริบูรณ์สมบูรณ์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จึงจะเรียกว่าเป็น การใช้ปัญญาในการตัดกิเลส และโดยเฉพาะต้องรู้จักใช้ปัญญาในการเสาะหาสาเหตุว่ากำลังใจของเราสะอาด สงบผ่องใส เกิดจากการที่เราคิด เราพูด เราทำอย่างไร ? เกิดจากสาเหตุอะไร ? แล้วเราก็คิดอย่างนั้นพูดอย่างนั้น ทำอย่างนั้น สร้างสาเหตุนั้น ๆ กำลังใจของเราก็จะทรงตัวสะอาดผ่องใสได้นาน ถ้าพิจารณารู้ว่า กำลังใจของเราขุ่นมัว ด้วยกาย วาจา หรือใจ ในสภาพไหน ? เรากระทำอะไร ? ถึงเป็นเช่นนั้น เราก็ละเว้น งดเว้นเสียซึ่งกายวาจาและใจแบบนั้น หยุดสร้างสาเหตุแบบนั้น ความขุ่นมัวเศร้าหมองก็จะไม่เกิดขึ้นกับใจของเรา นี่จึงจะเรียกว่า เป็นการใช้ปัญญาบารมีอย่างแท้จริง

ข้อที่ห้า วิริยบารมี เรามีความพากเพียรพอหรือไม่ ? ถ้าหากว่าความพากเพียรของเราเพียงพอ อุปสรรคต่าง ๆ ไม่สามารถจะขวางกั้นเราได้ แต่ถ้าความเพียรในการกระทำไม่พอ นิดนึงก็ท้อ หน่อยนึงก็ถอย ชีวิตนี้เอาดีได้ยาก หรือไม่สามารถจะเอาดีได้เลย ดังนั้นเราต้องรู้จักพิจารณาทุกวัน
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย วสันต์วิษุวัต : 11-01-2011 เมื่อ 11:54 เหตุผล: แก้ รึ-หรือ, ไม้.ๆ
สมาชิก 35 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา