ดูแบบคำตอบเดียว
  #42  
เก่า 08-03-2009, 11:30
วาโยรัตนะ วาโยรัตนะ is offline
สมาชิก VIP - ผู้ได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 550
ได้ให้อนุโมทนา: 13,972
ได้รับอนุโมทนา 45,909 ครั้ง ใน 953 โพสต์
วาโยรัตนะ is on a distinguished road
Default

ความงามในชาดก

ชาดกนั้นนำเสนอวิถีชีวิตของบุคคลในอดีตที่ผ่านมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ ปี ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากยุคนี้ ยังตกอยู่ในอำนาจของความรัก ความชัง ความโกรธ ความหลง หรือถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องคนในยุคนี้ก็แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างจากคนในอดีตแต่อย่างใด ในเรื่องความรัก ความชัง ความหลงและแนวการดำเนินชีวิต ผู้ที่พัฒนาตนเองได้ ห้ามตนจากความชั่วได้ย่อมประสบกับความเจริญ ส่วนผู้ที่อ่อนแอกว่า โง่เขลากว่า ก็ยังลำบากอยู่เสมอ ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข ส่วนผู้ประพฤติอธรรมย่อมอยู่เป็นทุกข์อยู่เสมอเช่นกัน สิ่งเหล่านี้เราหาได้ในชาดก
แม้วิถีชีวิตไทยแท้ก็ยังดำเนินตามแนวทางที่ปรากฏในชาดก เช่นศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี วิถีชีวิตไทยที่มีใจเมตตา กรุณา ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ล้วนได้จากชาดก เราจะมาดูลีลาชีวิตในชาดกที่เป็นเครื่องสอนใจในหลายรูป ดังนี้

ลีลาชีวิตที่แตกต่าง

๑. ตายเพราะปาก การพูด เป็นการสื่อสารที่สำคัญที่จะทำให้มนุษย์เรารู้เรื่องที่ประสงค์ได้ แต่การพูดมากไปก็ไม่ดี ไม่พูดก็ไม่รู้เรื่อง พูดกันคนละทีก็ทะเลาะกัน เรื่องการพูดท่านจึงว่า ต้องพูดให้ถูกกาล พูดคำสัตย์คำจริง คำอิงประโยชน์ อ่อนหวาน และมีเมตตา คนที่พูดไม่ถูกกาล ถึงตายมีมาแล้วมิใช่น้อย
ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บวชเป็นฤๅษีมีศิษย์ ๕๐๐ ล้วนแต่เก่งในการเข้าฌาน แต่มีศิษย์ขี้โรคอยู่คนหนึ่งยังไม่ได้ฌานอะไร วันหนึ่งกำลังผ่าฟืนอยู่ เพื่อนดาบสอีกคนก็มายืนสั่งการว่า “ฟันอย่างนี้ซิ ผ่าอย่างนี้ ซิท่าน” เธอโกรธจึงพูดว่า “เดี๋ยวนี้ แกไม่ใช่อาจารย์สั่งสอนศิลปะในการผ่าฟืนแก่ฉันหรอกนะ” พูดจบก็เอาขวานฟันก้านคอคนช่างพูดนั้นถึงแก่ความตาย
ที่ใกล้ ๆ อาศรมของพวกดาบส มีนกกระทาตัวหนึ่งขันอยู่ทุกวัน ต่อมาเงียบเสียงไป พระโพธิสัตว์จึงถามพวกศิษย์ว่า “นกกระทาที่เคยขันอยู่ทุกวันไปไหน” ฟังว่าถูกนายพรานนกมาดักจับไปกินแล้ว เพราะขันดังเกินไป อาจารย์จึงกล่าวว่า
“คำพูดที่ดังเกินไป รุนแรงเกินไป และพูดเกินเวลา ย่อมฆ่าคนโง่ เหมือนเสียงฆ่านกกระทาที่ขันดังเกินไป”
(ติตติรชาดก ชาดก เรื่องที่ ๑๑๗ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๓๙ เล่มที่ ๒๗ หน้า ๔๘)๒

๒. ชื่อนั้นสำคัญไฉน หลายคนไม่เข้าใจความจริงของชีวิตว่าความสุขและความทุกข์มีสาเหตุมาจากการกระทำของตนเอง ไม่ได้พิจารณา แต่กลับไปเที่ยวโทษสิ่งภายนอกว่าเป็นเหตุให้ตนลำบาก หาอะไรโทษไม่ได้ก็มาโทษชื่อของตนเองว่าเป็นกาลกิณี เลยยอมเสียเงินทองเสียเวลาเพื่อให้หมอเปลี่ยนชื่อ จนเกิดเป็นอาชีพรับตั้งชื่อกันก็มีอยู่มากมาย
ในอดีตกาล ลูกศิษย์ของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ชื่อนายบาป ไม่ชอบใจชื่อของตน จึงไปขอให้อาจารย์ตั้งชื่อให้ใหม่ อาจารย์จึงให้เขาออกเที่ยวหาชื่อเอาเองตามชอบใจ เมื่อได้กลับมาแล้วจะตั้งให้ เขาจึงออกเดินทางหาชื่อที่เหมาะสม เดินไปไม่นานเห็นคนหามศพผ่านไป ถามทราบความว่า คนตายชื่อนายเป็น ถามเขาว่า ชื่อเป็นทำไมถึงตาย ได้รับคำตอบว่า จะชื่ออะไรก็ตายทั้งนั้น เพราะชื่อเป็นสิ่งสมมติเพื่อรู้กันเท่านั้น
เขาเดินทางต่อไป เห็นเศรษฐีเจ้าหนี้กำลังทุบตีลูกหนี้ที่ไม่ยอมจ่ายดอกเบี้ยเสียที ถามเขาว่าคนถูกตีชื่ออะไร ทราบว่า ชื่อนางรวย คนชื่อรวยกลับจนด้วยหรือ ได้รับคำตอบว่า จะชื่ออะไร ไม่สำคัญ ถ้าไม่ขยันทำงานหาเงินก็จนได้ทั้งนั้นเเหละ ชื่อมันเป็นสิ่งสมมติเท่านั้น
เขาจึงเดินทางต่อไป เดินผ่านดงใหญ่ได้ยินเสียงคนร้องไห้อยู่ จึงเข้าไปสอบถาม ได้ความว่า เจ้าคนนั้นเดินหลงทางอยู่ในป่าหลายวันแล้วหาทางออกจากป่าไม่ได้ ถามเขาว่าชื่ออะไร ได้ฟังว่า ชื่อนายชำนาญทาง จึงถามต่อว่า ทำไมชื่อชำนาญ
ทางแต่หลงทาง ได้ฟังคำตอบว่า มันเป็นแต่เพียงชื่อที่สมมติเพื่อรู้กันเท่านั้น ไม่ใช่ชำนาญจริงอย่างชื่อเมื่อไร
นายบาปจึงเดินทางกลับสำนัก ไปบอกอาจารย์ว่า หาชื่อถูกใจไม่ได้ขอใช้ชื่อเดิม อาจารย์จึงกล่าวว่า
“เพราะเห็นคนชื่อเป็นแต่ตาย เห็นหญิงชื่อรวยแต่ยากจน เห็นนายชำนาญทางแต่หลงทางในป่า นายบาปจึงได้กลับมา”
(นามสิทธิชาดก ชาดก เรื่องที่ ๙๗ หน้า ๔๐ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๓๙ เล่มที่ ๒๗ หน้า ๔๐)

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย วาโยรัตนะ : 15-03-2009 เมื่อ 07:53
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 6 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน
นาย หวังดี (27-05-2022), สุธรรม (10-06-2009)