ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 22-11-2009, 07:13
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,474
ได้ให้อนุโมทนา: 151,107
ได้รับอนุโมทนา 4,404,002 ครั้ง ใน 34,063 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐานวันอาทิตย์ที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

เมื่อทุกคนนั่งในท่าสบายของเราแล้ว อย่าลืมหายใจเข้าออกยาว ๆ สัก ๒ - ๓ ครั้ง ระบายลมหยาบออกให้หมด แล้วกำหนดความรู้สึกตามลมหายใจเข้าไป ตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาหรือไม่ใช้คำภาวนา ตามรู้ลมอย่างเดียวก็ได้ เรื่องของการปฏิบัตินั้น ลมหายใจเข้าออกเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทุกครั้งก็จะย้ำว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อให้พวกเราได้ตระหนักว่า ถ้าสติและสมาธิของเรา หลุดจากลมหายใจเข้าออกไปเมื่อใด รัก โลภ โกรธ หลง ต่าง ๆ ก็แทรกสิงเข้ามากินใจของเราได้ง่าย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตามดู ตามรู้ลมหายใจเข้าออกของเราให้ได้

โดยเฉพาะถ้าหากสามารถรู้ลมหายใจเข้าออกในลักษณะเป็นปัจจุบันอยู่ได้ ความทุกข์ต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากการคิดฟุ้งซ่าน ไม่ว่าจะฟุ้งไปในอดีตหรือฟุ้งไปในอนาคตก็ตาม ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความทุกข์ให้แก่เรานั้น ความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้ จะโดนอำนาจของอานาปานสติกรรมฐาน กดลงให้ดับก่อนลงไปชั่วคราว ถ้าหากเราสร้างสติและสมาธิให้เข้มแข็งได้จากการตามดูลมหายใจเข้าออกแล้ว การที่จะเอากำลังนั้นไปใช้ในการพิจารณาตัดกิเลสก็จะเป็นไปได้โดยง่าย

แต่ส่วนใหญ่แล้ว พวกเรามักจะพิจารณากันไม่เป็น หรือถึงจะพิจารณาบ้างก็ทำแบบไม่ละเอียด เราต้องพิจารณาจริง ๆ ให้เห็นว่าร่างกายนี้มันไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง และสลายไปในที่สุด ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา มันเสริมสร้างมาจากดิน น้ำ ลม ไฟ อันเป็นสมบัติของโลก ให้เราได้อาศัยอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว แล้วท้ายสุดก็ต้องคืนให้แก่โลกไปตามเดิม

แรก ๆ ของการพิจารณา สภาพจิตยังไม่เคยชินก็จะทำได้ไม่มาก ทำได้ไม่ละเอียด แต่ถ้าหากว่าเราซ้อมบ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ ก็จะพิจารณาได้ละเอียดขึ้น ถ้าหากเราสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ตลอดเวลาที่เราอาศัยอยู่ มันก็ก่อแต่ความทุกข์ให้ ถ้าเห็นชัดอย่างนี้ จิตก็จะค่อย ๆ ปลดออกมาจากการยึดเกาะในร่างกายนี้ จิตยิ่งยึดเกาะร่างกายน้อยลงเท่าไร ความผ่องใสของจิตก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น สติ สมาธิและปัญญา ก็จะทรงตัวมากขึ้นเท่านั้น จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จำเป็นต้องรักษาสติ ให้เกาะยึดมั่นอยู่กับลมหายใจเข้าออกของเรา

เมื่อภาวนาจนอารมณ์ใจทรงตัวแล้ว ถ้าหากเราไม่หาวิปัสสนาญาณให้คิด จิตใจก็จะเอากำลังจากการภาวนานั้นไปฟุ้งซ่าน และดึงกลับได้ยาก เพราะมันเข้มแข็ง มันแข็งแรง มันใช้กำลังจากการภาวนาของเราเอาไปฟุ้งซ่านแทน จึงเป็นหน้าที่ของเราทั้งหลาย ทุกครั้งที่ภาวนา เมื่ออารมณ์ใจทรงตัวดีแล้ว ให้ค่อย ๆ คลายออกมา เพื่อพิจารณาอารมณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณ ได้แก่ดูทุกข์ให้เห็น หาสาเหตุของทุกข์ให้เจอ เมื่อเราไม่สร้างเหตุ ความทุกข์ก็เกิดไม่ได้

หรือว่าพิจารณาให้เห็นไตรลักษณ์ คือลักษณะธรรมดา ที่เป็นไปโดยธรรมชาติทั้งสามอย่าง ของร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี ของสัตว์อื่นก็ดี ว่ามีความอนิจจัง คือ ไม่เที่ยง ขณะดำรงชีวิตอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ คือทุกขัง ท้ายสุดก็เสื่อมสลายตายพัง คืนสมบัติให้แก่โลกไปตามเดิม เรียกว่าอนัตตา หรือจะพิจารณาตามนัยของวิปัสสนาญาณ ๙ อย่าง เริ่มตั้งแต่ดูการเกิดดับไล่ไปเรื่อย จนกระทั่งท้ายสุดก็ไปถึงสังขารุเปกขาญาณ คือ สามารถที่จะวางเฉยในร่างกายของเราได้ ถ้าหากว่าทุกท่านทำอย่างนั้นได้ เห็นธรรมดาของร่างกาย การก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้าก็ไม่ยาก
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 23-11-2009 เมื่อ 15:15
สมาชิก 72 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา