ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 01-08-2023, 01:13
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,596
ได้ให้อนุโมทนา: 151,775
ได้รับอนุโมทนา 4,412,078 ครั้ง ใน 34,186 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

เรื่องของการรับของพระราชทานแล้วต้องใช้เพื่อฉลองพระเดชพระคุณนั้น เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตั้งแต่โบราณ แม้กระทั่งผู้ใหญ่ให้ของมา ก็ต้องใช้ให้ท่านเห็น สมัยก่อนเวลาผู้ใหญ่ประทานของให้ บางทีก็ถามว่า "รับหรือไม่ ?" ผู้ที่ได้รับก็จะตอบว่า "รับประทานขอรับ" แล้วส่วนใหญ่ที่ได้รับในสมัยนั้นก็คือ สำรับกับข้าวที่ผู้ใหญ่ท่านกินไปแล้ว อยู่ในลักษณะที่ว่าเป็นของดี ซึ่งข้าทาสบริวารไม่ค่อยจะได้พบได้เห็น

เมื่อยกสำรับลงมา ทางผู้ดูแลก็จะจัดการปาดเช็ดปากจานชามให้เรียบร้อย คือไม่ให้ดูเลอะเทอะว่าคนกินมาแล้ว ถ้าหากว่าเป็นกับข้าวที่พร่อง ก็พยายามเกลี่ยให้ดูเต็ม แล้วค่อยประทานคือมอบให้กับข้าทาสบริวาร เมื่อข้าทาสบริวารรับไป เขาถึงได้ใช้เรียกอาการนั้นว่า "รับประทาน"

ในเมื่อส่วนใหญ่ได้เป็นอาหาร พวกเราก็เลยใช้คำว่า "รับประทาน" แทนคำว่า "กิน" ไปอีกคำหนึ่ง ส่วนทุกวันนี้ที่เราใช้คำว่า "ทาน" นั้นใช้ผิด เพราะคำว่า "ทาน" ภาษาบาลีแปลว่า ให้ กินก็คือกิน ถ้าจะเอาคำสุภาพก็ "รับประทาน" ไม่ใช่ "ทาน" ใครรู้ตัวว่าใช้ผิด ขอให้แก้ไขด้วย

ดังนั้น..เมื่อรับพระราชทานมาแล้ว กระผม/อาตมภาพก็ต้องใช้ฉลอง อย่างที่เห็นครองอยู่นี่ ก็คือผ้าไตรพระราชทาน แม้กระทั่งอาสนะ พัดลมและนาฬิกาเรือนนี้ก็ใช่ แล้วก็ยังมีของที่อยู่ในย่ามอีก แต่ไม่บอกว่าเป็นอะไร เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีก็ดี เสด็จในกรมหลวงราชสาริณีฯ ก็ตาม หรือแม้กระทั่งท่านเจ้าคุณพระสินีนาฏฯ ต่างก็ต้องการในส่วนของบุญกุศล ถึงได้เจาะจงพระราชทานลงมา เราจะเสียดายของไม่ได้..!

อยากจะเก็บขึ้นหิ้งบูชาขนาดไหน ก็ต้องใช้ฉลองพระเดชพระคุณไปก่อน หลังจากนั้นใช้ไปจนช้ำ ๆ สักหน่อยหนึ่ง ถ้าอยากจะเก็บจริง ๆ แล้วค่อยว่ากัน แต่อาตมภาพไม่เคยเสียดายของ ใช้กันจนกระทั่งพังไปข้างหนึ่ง หรือไม่ก็ได้รับพระราชทานใหม่นั่นแหละ..!

อีกส่วนหนึ่งก็คือในเรื่องของการศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากจะศึกษาพระกรรมฐานแล้ว ยังศึกษาภาษาบาลีด้วย เห็นความสำคัญของการแปลบาลีให้ถูกต้อง เพราะว่าภาษาบาลีเป็น "ภาษาตาย" ก็คือไม่มีคนใช้แล้ว การเปลี่ยนแปลงความหมายจึงไม่เกิดขึ้น

ยกเว้นแต่ว่าภาษาปัจจุบันที่แปล ๆ มาจึงจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย บาลีถ้า "กัตฺวา" เมื่อไรก็ "ไป" ถ้า "ภุญฺชติ" เมื่อไรก็กิน ของเรากินไหม ? บางทีไปต่างจังหวัด เจอเสียงตวาดจากผู้ใหญ่ "จะแดกหรือไม่แดก..!" ก็กินเหมือนกันใช่ไหม ? ไม่ว่าจะเสวย กิน รับประทาน ยัดห่า สวาปาม ก็กินเหมือนกันหมดนั่นแหละ..! นั่นคือความหมายที่เปลี่ยนไปมากในภาษาของเรา แต่บาลีใช้คำเดียว จึงเป็นภาษาที่รักษาพระไตรปิฎก คำว่า บาลี มาจาก ปาลธาตุ ในความรักษา อยู่แล้ว แปลชัด ๆ เลยว่า รักษาไว้ซึ่งพระไตรปิฎก
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 01-08-2023 เมื่อ 01:32
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 29 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา