ดูแบบคำตอบเดียว
  #12  
เก่า 06-12-2021, 21:10
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,488
ได้ให้อนุโมทนา: 151,147
ได้รับอนุโมทนา 4,405,241 ครั้ง ใน 34,077 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ตรงจุดนี้มีคนเขาถามว่า การฝึกอรูปฌานสำคัญที่สุดตรงไหน ? สำคัญที่สุดตรงที่ท่านต้องได้กสิณข้อใดข้อหนึ่งมาก่อนครับ เพราะว่ากสิณเป็นรูปกรรมฐาน ท่านจะฝึกอรูป คือความไม่มีรูป ท่านต้องตั้งรูปขึ้นมาก่อน หลังจากตั้งรูปขึ้นมาแล้ว ค่อยทิ้งรูปนั้น ซึ่งภาษาโบราณในวิสุทธิมรรคเขาใช้คำว่า "เพิกเสีย" ก็คือไม่สนใจ ทิ้งไปก่อน แล้วมาจับความว่างของอากาศแทน แต่ว่ากำลังทั้งหมดก็เต็มที่แค่ฌาน ๔ ครับ ต่อให้เขาเรียกว่าฌาน ๕ - ๖ - ๗ - ๘ กำลังก็เต็มที่แค่ฌาน ๔ เท่านั้น

หลังจากนั้นเมื่อได้เรียบร้อย ซักซ้อมมั่นคงแล้วว่าเราได้แน่ ก็ขยับไปอีก ก็คือวิญญาณัญจายตนฌาน ในส่วนของอรูปฌานต่อไป เปลี่ยนจากการจับความว่างของอากาศ โดยที่คิดว่าแม้อากาศนี้จะว่างอยู่ แต่ยังสามารถใช้ความรู้สึกกำหนดได้ ดังนั้น..เราไม่เอาแม้แต่ความรู้สึกคือวิญญาณนี้ คำภาวนาคือ "วิญญาณัง อนันตัง..วิญญาณัง อนันตัง" ว่าไปเรื่อย ๆ ครับ จนกระทั่งรู้สึกว่าไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่เลย ว่างสว่างขาวโล่งไปหมด ทรงฌาน ๔ ได้เต็มระดับ ท่านก็จะได้อรูปฌานที่ ๒ หรือว่าสมาบัติที่ ๖ คือวิญญาณัญจายตนฌาน

หลังจากนั้นถ้ายังคิดว่าไม่พอ ก็ไปต่อได้ครับ อุทกดาบสรามบุตรยังสอนต่อได้ครับ สมาบัติที่ ๗ เขาเรียกว่า อากิญจัญญายตนฌาน ก็คือ แม้แต่วิญญาณความรู้สึกนี้ เราก็ไม่ต้องการ เราไม่ยึดมั่นถือมั่นในอะไรเลยแม้แต่น้อยหนึ่ง ตั้งภาพกสิณขึ้นมา เพิกภาพกสิณนั้นทิ้งเสีย เข้าอรูปฌานที่ ๑ อากาสานัญจายตนฌาน ทบทวนให้มั่นคง ถอนออกมา ตั้งรูปกสิณขึ้นมาใหม่ เพิกรูปกสิณเสีย เข้าวิญญาณัญจายตนฌาน สมาบัติที่ ๖ จนกระทั่งมั่นคงแล้วก็คลายออกมา ตั้งภาพกสิณขึ้นมาใหม่ ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างหมดเกลี้ยง ไม่เอาอะไรเลย ถ้ามีความสามารถจะพิจารณาร่วมไปด้วยว่า ทุกสิ่งเสื่อมสลายไปหมดก็ยิ่งดี ภาวนาว่า "นัตถิ กิญจิ..นัตถิ กิญจิ" ไปเรื่อย ๆ ทรงฌาน ๔ ได้เมื่อไร ท่านจะได้สมาบัติที่ ๗ เรียกว่า อากิญจัญญายตนฌาน

หลังจากนั้นก็ไปสุดท้ายเลยครับ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อันนี้ไม่ใช่การภาวนาแล้ว เป็นการใช้ผลของฌานครับ ร้อนก็ทำเป็นไม่ร้อน หนาวก็ทำเป็นไม่หนาว หิวก็ทำเป็นไม่หิว กระหายก็ทำเป็นไม่กระหาย ไม่รับรู้อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายนี้ครับ เขาเรียกว่าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็คือสมาบัติที่ ๘ ที่แปลว่า มีสัญญาก็ทำเหมือนกับไม่มีสัญญา

ถ้ากำลังสมาธิเราไม่คล่องตัว ไปไม่รอดนะครับ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ครูบาเจ้าเกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์ จังหวัดลำปางครับ นั่งตากแดดอยู่เป็นเดือน ๆ จนผิวลอกเป็นแผ่น ๆ เลย หรือไม่ก็อย่างสมัยก่อนหลวงพ่อกบ วัดเขาสาลิกาครับ พอถึงเวลาก็ชักจีวรคลุมโปง นอนเงียบไปเลย ๗ วัน ลูกศิษย์ไปเขย่าตัว "หลวงตา..หลวงตา" ท่านก็ "อือ..อือ" แล้วก็เฉย ไม่ครบ ๗ วันกูไม่ลุก..! นี่คือลักษณะของบุคคลที่เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานครับ ตรงส่วนนี้เขาเรียกว่าอรุปปนิเทส ก็คือปริจเฉทที่ ๑๐ กล่าวถึงวิธีการฝึกในอรูปฌาน
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 08-12-2021 เมื่อ 05:40
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 14 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา