ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 01-12-2022, 00:43
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,507
ได้ให้อนุโมทนา: 151,364
ได้รับอนุโมทนา 4,405,915 ครั้ง ใน 34,096 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๓๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ ภารกิจสำคัญของกระผม/อาตมภาพก็คือได้เดินทางไปยังวัดเขาสามสิบหาบ หมู่ที่ ๔ ตำบลเขาสามสิบหาบ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อทำหน้าที่พระเกจิอาจารย์ในการนั่งปรกคุมธาตุ เพื่อหล่อพระพุทธรูปประจำพระอุโบสถวัดเขาสามสิบหาบ คือสมเด็จพระพุทธติงสบารมี เป็นการฉลองในวาระการตั้งวัดสามสิบหาบมาครบ ๑๓๐ ปี

ดังนั้น..การหล่อพระพุทธรูปก็ดี การฉลอง ๑๓๐ ปีครบรอบการตั้งวัดเขาสามสิบหาบก็ดี ตลอดจนกระทั่งชื่อวัดเขาสามสิบหาบก็ดี จึงมาประมวลรวมกันเป็นพระนามของพระประธาน คือสมเด็จพระพุทธติงสบารมี คำว่า ติงสะ ในภาษาบาลีแปลว่า ๓๐ ก็คือหลวงพ่อบารมี ๓๐ ทัศ เพื่อให้คล้องจองกับชื่อบ้านนามเมืองของวัดเขาสามสิบหาบ และขณะเดียวกันก็ได้ตรงกับวาระมงคลในการตั้งวัดครบ ๑๓๐ ปีดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ความจริงวัดเขาสามสิบหาบนั้น แต่เดิมมีชื่อว่าวัดหนองสามสิบหาบ คาดว่าเป็นเพราะคนโบราณมาวิดปลา แล้วได้ไปจำนวนมากถึง ๓๐ หาบด้วยกัน จึงได้ตั้งชื่อสถานที่นั้นว่าหนองสามสิบหาบ ด้วยความที่อุดมสมบูรณ์ขนาดนั้น เมื่อมีคนอพยพมาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น ๆ ก็กลายเป็นหมู่บ้านหนองสามสิบหาบ แล้วภายหลังเพี้ยนเป็นบ้านเขาสามสิบหาบ ซึ่งเป็นการเรียกกันตามสบายลิ้นก็ว่าได้

ในเรื่องของชื่อบ้านนามเมืองนั้น มักจะมีความเพี้ยนความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยตามยุคตามสมัย เนื่องเพราะว่าคนสมัยหลังบางทีก็ไม่เข้าใจภาษาเก่าดั้งเดิม

อย่างเช่นในเขตของอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี มี "หนองย่างช้าง" ซึ่งความจริงมาจาก "หนองยั้งช้าง" คือเป็นสถานที่ซึ่งบุคคลเดินทางป่าด้วยช้าง ถึงเวลาก็จะพักค้างคืน หุงหาอาหารกินกันที่นั่น แต่คราวนี้คนรุ่นใหม่ไม่เข้าใจว่าคำว่า "ยั้ง" แปลว่า หยุด ไปเข้าใจว่าน่าจะเป็นการ "ย่าง" ก็คือ "ทำให้สุก" ตกลงว่าเขาจะกินช้างกัน ไม่ใช่หยุดพักช้างที่นั่น..!

อีกสถานที่หนึ่งก็คือ "เขานกเจ่า" คำว่า "เจ่า" ในที่นี้ก็คือการลงเกาะเพื่อพักของสัตว์จำพวกนก เป็นสถานที่ฝูงนกมาพักกันอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อนานไปคนไม่เข้าใจ คำว่า เจ่า ที่แปลว่าพักหรือว่าเกาะ ก็เลยเปลี่ยนเป็น "เขานกเจ้า" ทำให้กลายเป็นนกของบรรดาเจ้าป่าเจ้าเขาไปเลย

เรื่องพวกนี้จะมีมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาของบุคคลที่ไม่เข้าใจภาษาโบราณ คนรุ่นเก่าจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบอกเล่าต่อกันไป เพื่อรักษาชื่อบ้านนามเมืองแต่เดิมเอาไว้ ไม่อย่างนั้นแล้ว ถึงเวลา "ของกินไม่กินก็เน่า เรื่องเล่าไม่เล่าก็ลืม" คนรุ่นหลังเมื่อไม่ทราบ เพราะว่าผู้ใหญ่ลืมบอกกล่าวเอาไว้ ก็จะทำให้ชื่อเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาได้
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 01-12-2022 เมื่อ 02:16
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 30 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา