ดังนั้น..ในเรื่องของการปฏิบัติ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ว่า เมื่ออารมณ์ใจของเราเริ่มทรงตัวเป็นสมาธิระดับใดระดับหนึ่งแล้ว เราต้องประคับประคองรักษาความทรงตัวของอารมณ์นั้นเอาไว้ ให้อยู่กับเราให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เพื่อที่ถึงเวลาแล้ว กำลังใจของเราที่ค่อย ๆ เคยชินกับความไม่มีกิเลส เกิดความผ่องใสมากขึ้น ก็จะมีดวงปัญญาที่ชัดเจนแจ่มใส มองตลอดไปถึงความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราให้ยึดถือมั่นหมายในร่างกายนี้ แล้วถอนจิตออกมาจากการยึดมั่นถือมั่น เราก็จะสามารถหลุดพ้นไปพระนิพพานได้
การที่เราจะอาศัยช่วงเวลาของการเข้าพรรษา ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติความดีนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประกอบไปด้วยบารมี ก็คือสัจจบารมี ความมั่นคงแน่วแน่ เมื่อกำหนดใจลงไปแล้วว่าเราจะทำอะไร ก็ทำตามนั้นอย่างจริงจัง ต้องอาศัยวิริยบารมี คือความพากเพียร ทำไปให้ได้ตามเป้าหมายที่ตนเองกำหนดไว้
ต้องอาศัยขันติบารมี คือความอดทนอดกลั้น ที่จะต่อสู้กับความเหนื่อย ความหิว และสิ่งที่มายั่วยุ เพื่อให้เราเลิกละการปฏิบัตินั้น อย่างน้อย ๆ บารมีทั้ง ๓ ข้อนี้ เราจะต้องมีทรงเอาไว้ในใจ ไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะมีกำลังไม่พอในการสู้กับกิเลส
จึงขอให้ญาติโยมทั้งหลายฉวยโอกาสในวาระที่เป็นบุญ เป็นกุศลนี้ พยายามสร้างเสริมความดีให้แก่ตัวเรา ตลอดระยะเวลา ๓ เดือนในช่วงเข้าพรรษา ให้ทุกคนตั้งความหวังไว้ว่า จะปรารถนาสิ่งหนึ่งประการใดในการปฏิบัติธรรมของเรา อย่างเช่นว่า จะพยายามภาวนาให้ทรงอัปปนาสมาธิขั้นใดขั้นหนึ่ง อย่างเช่น ฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔
หรือท่านใดกำลังใจเข้มข้นมาก ตั้งใจว่าพรรษานี้ เราจะทรงสมาบัติ ๘ ให้ได้ ก็เป็นได้ หรือท่านทั้งหลายที่ไม่นิยมการเกิดแล้ว ตั้งใจว่าในพรรษานี้ เราจะพากเพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความเป็นพระโสดาบันให้ได้ เป็นต้น
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 09-08-2012 เมื่อ 11:08
|