"มีโยมลืมหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการไว้ที่บ้านวิริยบารมี เรื่องนี้อาตมาอ่านมาตั้งแต่สมัยยังลุยห้องสมุดอยู่ ชอบใจมากเพราะว่านางเอกใจถึง นางเอกสมัยก่อนมักจะนุ่มนิ่ม อยู่ในลักษณะรอพระเอกขี่ม้าขาวมารับตัวไป แต่นางเอกเรื่องนี้ไล่ยิงผู้ชายเลย..! ถูกใจมากเพราะมาผิดยุค ยุคสมัยรัชกาลที่ ๗ - ๘ นั้นส่วนใหญ่เขารอคุณชายมาบ้านทรายทอง อันนี้ไม่ต้องรอคุณชายหรอก แล้วที่ชอบใจก็คือเขาตั้งชื่อตัวละครว่า เมตตา กรุณา มุทิตา ปราณี ไมตรี เอ็นดู ได้ยินชื่อก็เข้าท่าแล้ว
หนังสือของหลวงวิจิตรวาทการเป็นหนังสือที่น่าอ่านมาก รู้สึกว่าเรื่องที่ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จน่าจะเป็นเรื่องศึกบางระจัน เพราะเขียนให้พม่าเป็นพระเอก ขอบอกว่าในหมู่คนเลวก็มีคนดี ในหมู่คนดียิ่งมากไปด้วยคนเลว ดีชั่วไม่สามารถที่จะระบุได้ชัดเจนเพราะเป็นการกระทำที่เป็นไปตามกรรมเท่านั้น คำว่าดีชั่วเป็นสิ่งที่สมมติขึ้นมา เพื่อสามารถระบุได้ว่าการกระทำเหล่านั้นเป็นไปในลักษณะไหน
ถ้าในสายตาของบุคคลที่เข้าถึงธรรมจริง ๆ จะไม่มีคนดี ไม่มีคนเลว มีแต่คนที่กำลังเป็นไปตามกรรม สามารถสงเคราะห์ได้ก็สงเคราะห์ สงเคราะห์ไม่ได้ก็ปล่อยวาง นี่คือพรหมวิหาร ส่วนใหญ่พวกเราเมตตากรุณาล้นเกิน แต่ดันไปขาดตัวอุเบกขา อุเบกขาพระพุทธเจ้าให้พวกเราไว้เพื่อป้องกันไม่ให้บ้า พอเมตตาเกินประมาณอยากจะไปช่วยเขา แต่ช่วยไม่ได้ก็คลุ้มคลั่งเอง กลายเป็นไปแบกเรื่องคนอื่นมาไว้เต็มบ่า
ที่ขำที่สุดมีคุณมหาประโยค ๙ รูปหนึ่งได้รับการอนุเคราะห์สงเคราะห์จากญาติโยมในลักษณะคอยอุปัฏฐากให้ความช่วยเหลือ จนกระทั่งเรียนจบเปรียญธรรม ๙ ประโยคก็ถือว่าสูงสุดในยุคนั้น วันหนึ่งญาติโยมที่เคยให้การสงเคราะห์ก็มานั่งบ่นว่าสามีตายแล้ว ตัวเองต้องเลี้ยงลูกเล็ก ๆ อยู่ ไม่มีใครช่วยเหลือกิจการ บ่นไปบ่นมาคุณมหาก็เลยสึกไปช่วยเลี้ยงลูก
แค่ช่วยเลี้ยงแต่ลูกจริง ๆ ไม่ได้ยุ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรเลย พูดง่าย ๆ ก็คือไปเลี้ยงลูกเพื่อให้เขาทำงาน พอลูกโตเริ่มเข้าเรียนมหาวิทยาลัยคุณมหาก็กลับมาบวชใหม่ คนอย่างนี้ก็มีด้วย..! สุดยอดมนุษย์จริง ๆ เขาดีจนอาตมาอายเลย เขาไม่รู้หรอกว่าที่คุณผู้หญิงเธอไปพิไลรำพัน เธอต้องการให้ไปทำหน้าที่อื่นด้วย คุณมหาอยู่แต่ในวัด ด้วยความพาซื่อก็ไปช่วยเลี้ยงลูกอย่างเดียวจริง ๆ"
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 19-08-2012 เมื่อ 02:43
|