เมื่อก้าวเข้าไปถึงในส่วนอัปปนาสมาธิขั้นปฐมฌาน สิ่งที่มากระทบอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะไม่ได้รับความสนใจ เห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน สมาธิจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้า พอไปถึงอัปปนาสมาธิขั้นที่ ๒ ก็คือทุติยฌาน ความรู้สึกผูกแน่นอยู่กับลมหายใจเข้า รู้สึกว่าลมละเอียดขึ้น บางทีคำภาวนาก็หายไป หรือท่านที่กำลังใจหยาบหน่อยก็ไม่รู้สึกถึงลมหายใจเลยก็มี แต่ว่าความรู้สึกยังคงจดจ่อแน่วนิ่งอยู่เฉพาะภายในเท่านั้น
พอไปถึงอัปปนาสมาธิขั้นที่ ๓ ที่เรียกว่าตติยฌาน ความรู้สึกทั้งหมดจะค่อย ๆ รวบเข้ามา บางทีจะรู้สึกเย็นจากปลายมือปลายเท้าเข้ามา บางทีจะรู้สึกเย็นจากปลายจมูก หรือริมฝีปาก หรือคาง แล้วขยายตัวออกไป ความเย็นที่ขยายตัวออกไปนั้นบางทีก็รู้สึกเหมือนกับว่าตัวเราแข็งเป็นหิน หรือกลายเป็นก้อนน้ำแข็งไปแล้วก็มี บางทีก็รู้สึกว่าตึงแน่นเหมือนกับโดนมัดศีรษะจรดปลายเท้าเลยก็มี อาจจะเปรียบเทียบง่าย ๆ ว่าเหมือนโดนสาปเป็นหินไปเลยก็มี แต่ว่าความรู้สึกทั้งหมดก็ยังจดจ่อมั่นคง แน่วนิ่งอยู่ภายในเหมือนเดิม อันนี้เป็นลักษณะของอัปปนาสมาธิขั้นที่ ๓ หรือตติยฌาน
แล้วความรู้สึกทั้งหมดก็จะรวบมาอยู่จุดใดจุดหนึ่งภายในร่างกายของเรา อาจจะเป็นตรงหน้าก็ดี ในศีรษะก็ดี หรืออาจจะเป็นในอกในท้องก็ตาม จะสว่างไสว สว่างโพลงอยู่ตรงนั้น ความรู้สึกทั้งหมดจดจ่อแน่วนิ่งอยู่ภายใน ไม่ส่งออกมาภายนอกเลย อะไรเกิดขึ้นภายนอกไม่รับรู้โดยสิ้นเชิง อันนี้เป็นอัปปนาสมาธิขั้นสุดท้ายคือขั้นที่ ๔ คือจตุถฌาน
สรุปว่าไม่ว่าจะเป็นฌานขั้นไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิก็ตาม ใจจะจดจ่ออยู่ภายใน ไม่ได้ส่งออกนอก ส่งออกนอกเมื่อไร ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น สมาธิก็จะไม่ทรงตัว
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 01-05-2012 เมื่อ 04:37
|