"คำว่า ลักขี หรือ ลักขัง ภาษาบาลีแปลว่าหนึ่งแสน จะใช้คำว่า สะตะสะหัสสา ก็ได้ แต่ว่าศัพท์บาลีตัวนี้จะมีศัพท์เฉพาะต่างหาก คือลักขัง เพราะฉะนั้น..ในทำเนียบสมณศักดิ์จะมีพระครูปราการลักษาภิบาล ลักษา ล.ลิงเลย แต่คนที่ไม่เข้าใจชื่อนี้จะพยายามพิมพ์เป็นปราการรักษาให้ได้ เพราะปราการก็คือกำแพง รักษาตามความหมายของเขาคือดูแล ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอกำแพงแสน ปราการลักษาเขาบอกตรง ๆ เลยว่ากำแพงแสน เพราะปราการคือกำแพง ลักษาหรือลักขาก็คือแสน
เมื่อมีพิธีสวดลักขีและบวชชีพราหมณ์หมื่นรูป โยมแม่ก็ไปบวชเป็นประจำ ปีละ ๑๐ วัน อาตมาตามไปดูแลแม่ จริง ๆ ไม่ได้ไปดูแลอะไรหรอก ตามไปเป็นเพื่อน ด้วยความที่เป็นเด็กวัยรุ่นวิ่งง่ายใช้สะดวก หลวงปู่หลวงพ่อสายหลวงปู่มั่นท่านมารวมกันอยู่ บางทีเป็นร้อยรูป อย่างน้อยก็ ๕๐-๖๐ รูป ท่านก็เรียกใช้งาน
สมัยนั้นครูบาอาจารย์ที่ท่านมีชื่อเสียงคับบ้านคับเมือง อย่างหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ขาว หลวงปู่อ่อน หลวงปู่บัว พอท่านเรียกใช้ไปเรียกใช้มา เกิดความสนิทชิดใกล้ไปเรื่อย ๆ อาตมาก็ถามนั่นถามนี่ ศึกษาการปฏิบัติของท่าน ชอบใจอยู่..แต่แปลก ๆ อย่างไรไม่รู้ แปลกตรงที่ว่าอาตมาไม่คุ้นชินกับระบบของท่าน ก็คือ ระบบของท่านเหมือนกับว่าชี้ให้ดูว่าข้าวสารอยู่ในถัง ผักอยู่ในสวน ไปหุงเอา ไปเก็บมาผัดมาต้มมาแกงเอา เป็นในลักษณะที่บอกว่าให้ไปทำเอา ให้ไปภาวนา ไม่ได้สอนอะไรมากมาย
อาตมาก็..เฮ้อ..ทำแบบไหนล่ะ ? ภาวนาก็ได้ แต่ทำแบบไหนล่ะ ? ต้องมางมโข่งกันเอง ทั้ง ๆ ที่เคารพเลื่อมใสท่านสุดจิตสุดใจ แต่ว่าแนวการปฏิบัติจะว่าไปก็ยังขัด ๆ กับความรู้สึกของตัวเองอยู่"
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 20-02-2012 เมื่อ 13:39
|