แม้กระทั่งศาสนาเชนที่ถือว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของศาสนาพุทธ ศาสดามหาวีระก็เป็นต้นบัญญัติของศีล ๕ มาก่อน เป็นต้นบัญญัติของการฟังธรรมวันพระ เป็นต้นบัญญัติของการจำพรรษาในฤดูฝน เพราะฉะนั้น..สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะว่าไปแล้วคนสมัยนั้นเขาเก่ง เพียงแต่ว่าเขาหาเพชรยอดมงกุฏคืออริยสัจไม่เจอ อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าศึกษาตามพวกเขาจนถึงสมาบัติ ๘ เลยนะ ท่านเหล่านั้นเก่งขนาดไหนล่ะ ? พวกเราได้สักเสี้ยวหนึ่งไหม ?
ถ้าไม่ได้ปัญญาขนาดพระพุทธเจ้าก็จะไม่เห็นว่านั่นไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ แต่เขาเองเห็นว่าการที่ได้ไปอยู่กับปรมาตมัน ก็คือพระผู้เป็นใหญ่ ถือว่าเป็นที่สุดของเขาแล้ว เป็นโมกษะคือความหลุดพ้นแล้ว แต่พระพุทธเจ้าท่านมั่นใจว่าไม่พ้น
แม้กระทั่งท้าวพกพรหมที่จุติแล้วเป็นพรหม จุติแล้วเป็นพรหมไม่รู้ตั้งกี่ครั้ง เพราะท่านสร้างบุญไว้เยอะ ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงไปที่อื่นสักที ท่านก็เลยมั่นใจว่าเป็นอมตะแล้ว แต่ความจริง แล้วเกิด ๆ ตาย ๆ อยู่ตลอด แต่ตนเองไม่ได้สังเกตว่านี่เป็นการตายแล้วเกิดใหม่
จนกระทั่งพอแข่งกัน พระพุทธเจ้าท่านแสดงอายตนะนิพพาน คือความละเอียดที่เหนือกว่าพรหม ยืนอยู่ตรงหน้าแต่ท้าวพกพรหมมองไม่เห็น ท่านถึงจะยอมรับ ส่วนท้าวพกพรหมไม่ว่าจะไปหลบไปซ่อนอยู่ที่ไหน ก็ไม่สามารถที่จะพ้นสายพระเนตรได้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนทิฐิของท่านได้
ดังนั้น..ถกเถียงไปก็เสียเวลาเปล่า สมัยก่อนเขาเถียงกันไม่รู้จบ จนกระทั่งปัจจุบันนี้แม้กระทั่งสายวัชรยานก็มีตรรกวิภาษณ์ คือการถกเถียงในเรื่องของหัวข้อธรรมต่าง ๆ ในลักษณะเอาชนะกัน ตั้งหัวข้อธรรมขึ้นมา แล้วก็หาเหตุหาผลมาว่าของใครเหนือกว่า
โดยเฉพาะทางด้านทิเบต บางทีเราจะเห็นพวกนักท่องเที่ยวเขาถ่ายภาพมาให้ มีอาการเหมือนจะลงไม้ลงมือกัน เถียงกันดังลั่นเลย เราก็นึกว่าเขาตีกัน ไม่ใช่หรอก..เขากำลังโต้วาที ถามว่าดีไหม ? ก็ดี..เพื่อให้เกิดความแตกฉานในธรรม แต่เป็นการแตกฉานในจินตมยปัญญา ขบคิดแล้วเข้าใจ ยังไม่ใช่ภาวนามยปัญญา คือสภาพจิตไม่ได้เห็นธรรมที่แท้จริง
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-01-2012 เมื่อ 14:11
|