เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๔
ให้ทุกท่านขยับนั่งในท่าที่สบายของตัว ตั้งกายให้ตรง กำหนดสติทั้งหมดไว้เฉพาะหน้า หายใจเข้าออกยาว ๆ สักสองสามครั้ง เพื่อระบายลมหยาบออกให้หมด แล้วหลังจากนั้นปล่อยลมหายใจให้เป็นไปตามปกติของร่างกาย
หายใจเข้ากำหนดความรู้สึกทั้งหมดไหลตามเข้าไป หายใจออกกำหนดความรู้สึกทั้งหมดไหลตามออกมา จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ตามแต่ที่เราเคยถนัด วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานวันสุดท้ายของเดือนสิงหาคมนี้
ในวันนี้มีญาติโยมหลายท่านมาสอบถามปัญหาการปฏิบัติ ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นมีผลหรือไม่ ? หรือมีผลเพียงใด ? ซึ่งจะว่าไปแล้วผลการปฏิบัติของเรานั้น มีเครื่องวัดที่ง่ายที่สุด ก็คือ นิวรณ์ ๕
ถ้ากำลังใจของเราทรงตัว นิวรณ์ คือกิเลสหยาบที่เป็นเครื่องกั้นความดีทั้ง ๕ ได้แก่ กามฉันทะ ความพอใจในระหว่างเพศ พยาบาท ความโกรธเกลียดอาฆาตแค้นคนอื่น ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ชวนให้ขี้เกียจปฏิบัติ อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ และวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยหรือในผลของการปฏิบัติธรรม ว่าจะมีจริงหรือไม่
ถ้ากำลังใจของเรามีความก้าวหน้า มีความทรงตัว นิวรณ์ทั้ง ๕ อย่างนี้จะกินใจของเราไม่ได้ หรือถ้าหากจะวัดด้วยศีล ตราบใดที่ท่านยังอยู่ในกรอบของศีล จะศีลห้าหรือศีลแปดสำหรับฆราวาส ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร หรือศีล ๒๒๗ สำหรับพระ
ตราบใดที่เรายังอยู่ในกรอบของศีล ตราบนั้นการปฏิบัติของเรายังไม่ผิดทาง หรือถ้าวัดยิ่งไปกว่านั้นก็วัดจากสังโยชน์ ๑๐ ที่ร้อยรัดเราให้อยู่กับวัฏสงสารนี้ เริ่มตั้งแต่สักกายทิฐิ การยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขา วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย ไม่เคารพเชื่อมั่น สีลัพพตปรามาส การรักษาศีลแบบลูบ ๆ คลำ ๆ ไม่เอาจริงเอาจังเป็นต้น
ไปจนท้ายสุด อวิชชา ความเขลาเป็นเหตุให้ไม่รู้จริง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ใช้เป็นเครื่องวัดอารมณ์ในการปฏิบัติได้ทั้งสิ้น
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-08-2011 เมื่อ 09:17
|