มีโยมถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องกสิณ พระอาจารย์กล่าวว่า " เรื่องการฝึกกสิณเป็นพื้นฐานที่ง่ายมาก ๆ เพราะกสิณเป็นของหยาบ มีวัตถุเป็นเครื่องเพ่ง ยกเว้นกสิณแสงสว่างและอากาสกสิณเท่านั้น
ในเมื่อมีวัตถุให้ยึด อารมณ์ใจก็ทรงตัวได้ง่าย สำคัญตรงที่ทำแล้วต้องประคองดวงกสิณไว้ให้ได้ ถ้าประคองไว้ไม่ได้ ปล่อยให้นิวรณ์ ๕ เข้ามา ก็กลับมามืดบอดใหม่ ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่
ดังนั้น..การฝึกกสิณ ถ้าตั้งใจทำตามพระพุทธเจ้าท่านกล่าว รัก โลภ โกรธ หลง จะเกิดไม่ได้เลย เพราะใจเราต้องจดจ่อต่อเนื่องอยู่กับองค์กสิณอยู่ตลอดเวลา เคยใช้คำเปรียบเทียบว่า เหมือนกับเราเลี้ยงลูกแก้วที่ตั้งอยู่บนปลายเข็ม เผลอเมื่อไรลูกแก้วก็ตกแตก เพราะฉะนั้น..ต้องมุ่งมั่นประคับประคองสุดชีวิต ทำให้อารมณ์ที่จะไปปรุงแต่งเป็นรัก โลภ โกรธ หลงก็ไม่มี
ดังนั้น..ในเรื่องของสมาธิหรือกสิณไม่ต้องมาถาม ไปหาตำรามา ชอบกองไหนก็ลุยไปเลย ส่วนใหญ่พวกเราหลายใจ พอใครว่าอะไรดีก็เปลี่ยนไปทำอย่างนั้น การปฏิบัติกรรมฐานต้องทำของเดิมให้ถึงที่สุดก่อน
คำว่า "ถึงที่สุด" ก็คือ ถ้าเป็นในเรื่องของสมถภาวนาต้องได้ฌานสี่ คล่องตัวในกองกรรมฐานนั้น ๆ แล้วจึงเปลี่ยนกองใหม่ ไม่อย่างนั้นจะเกิดเหตุการณ์ที่อาตมาเคยเปรียบว่า ขุดบ่อแล้วไม่ได้น้ำ เราตั้งใจจะขุดบ่อ ขุดไปได้ ๓-๔ วา จวนจะถึงน้ำแล้ว เขาบอกว่าตรงนั้นน่าจะดีกว่า ก็ย้ายไปขุดตรงนั้น ขุดได้สักวาสองวา เขาบอกทางด้านนี้ดีกว่า เราก็ย้ายมาขุดด้านนี้ อีกกี่ชาติถึงจะได้น้ำ?
เราต้องขุดให้ถึงน้ำไปเลย แล้วค่อยเปลี่ยนที่ อย่าหลายใจ มุ่งมั่นกรรมฐานเดิมของตนเองให้ทะลุปรุโปร่งก่อน แล้วค่อยเริ่มต้นกองอื่นใหม่"
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-06-2011 เมื่อ 02:56
|