"เรื่องนี้โยงกับประวัติศาสตร์ทิเบตโบราณ เกี่ยวกับวิหารพาลาปา ที่เชื่อกันว่าในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม บรรดาลามะชุดดำขนเอาทรัพย์สมบัติไปซ่อนไว้ที่นั่น แล้วให้กิเลนม่วงเฝ้าไว้ ต้องสืบไปทีละเปลาะ ๆ แล้วก็ไปเจอเป้าหมายน่าสงสัยทีละนิดทีละหน่อย ขยับใกล้เข้าไปเรื่อย แล้วก็มีคู่แข่งจากสารพัดประเทศ จ่อมาที่เป้าหมายเดียวกัน
คราวนี้ก็ต้องมาดวลกันว่า ใครฝีมือดีกว่า ใครปัญญาดีกว่า เพราะว่าจะเข้าไปแต่ละที่มีแต่สารพัดกับดัก กับดักบางอย่างก็คำนวณจากจิตใจคน คำนวณความโลภ ความโกรธ ความหลงของคนไว้ก่อนแล้วถึงทำ เขาบอกว่าหนังสือเล่มนี้ทำลายสถิติด้วยยอดจำหน่ายเกินกว่า ๓ ล้านเล่ม อาตมาอ่านเล่มนี้แล้วการสอนวิชาพระพุทธศาสนากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาในทิเบต มีรสชาติขึ้นอีกเยอะ เพราะมีรายละเอียดบางส่วนที่ก่อนนี้รู้ไม่ชัดเจน แล้วชัดเจนขึ้นมาตอนนี้
อย่างเช่น ทำไมพระทิเบตถึงมีการเต้นรำ การเต้นรำของทิเบตเป็นการเต้นรำในลักษณะขับไล่สิ่งชั่วร้าย แล้วก็อัญเชิญสิ่งที่เป็นมงคลเข้ามา พระพุทธศาสนาในทิเบตรุ่งเรืองขึ้นมาโดยท่านปัทมสัมภวะ ภาษาทิเบตเขาเรียก คุรุรินโปเช่ ก็คืออยู่ในลักษณะของท่านอาจารย์ใหญ่
ท่านปัทมสัมภวะเข้าไปตอนที่ทิเบตยังนับถือผีอยู่ ก็คือลัทธิบอน ก็เลยมีการต่อสู้กันระหว่างพระพุทธศาสนากับลัทธิบอน ท่านปัทมสัมภวะชนะทุกยก จึงทำให้คนทิเบตส่วนหนึ่งหันมานับถือพุทธศาสนา พอดีพระเจ้าซองซันกัมโปเสด็จขึ้นครองราชย์ แล้วได้รับการสนับสนุนจากทั้งจีนและเนปาล
จีนก็ตรงกับสมัยพระเจ้าถังไท่จงฮ่องเต้ ก็ส่งเจ้าหญิงเหวินเฉิงให้ไปแต่งงานด้วย ทางด้านเนปาลก็ส่งเจ้าหญิงภริคุติเทวีไปแต่งงานด้วย เจ้าหญิงทั้งสองพระองค์นับถือศาสนาพุทธ ก็เลยขนพระพุทธรูปและทรัพย์สมบัติสารพัดที่เป็นพุทธบูชาเข้าไปด้วย พระเจ้าซองซันกัมโปก็เลยถามว่า จะให้สร้างสถานบูชาหรือว่าวัดที่ไหนบ้าง
เจ้าหญิงเหวินเฉิงปรึกษากับท่านปัทมสัมภวะแล้วว่า รูปทรงของประเทศทิเบตเป็นรูปยักษ์ เพราะฉะนั้น..จะต้องทำการสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์สะกดยักษ์ตัวนี้ไว้ ทิเบตถึงจะเจริญ ก็เลยสร้างวิหาร ๕ แห่ง เป็นการตรึงมือเท้าและร่างกายของยักษ์เอาไว้ อย่างวัดโจคัง วัดเดรปุง เป็นต้น แล้วเจ้าหญิงทั้งสองพระองค์ก็ช่วยกันผลักดันจนพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในทิเบต"
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 23-06-2011 เมื่อ 10:29
|