ถ้าบุคคลใดสามารถก้าวขึ้นสู่ระดับสูงกว่านั้น คือความเป็นพระอนาคามี การพิจารณาในเบื้องต้นก็เหมือนกัน เพียงแต่ว่าสมาธิจะต้องเข้มข้นมากขึ้น ต้องทรงได้ถึงระดับฌาน ๔ คล่องตัว ถึงจะมีกำลังพอที่จะใช้ในการตัดราคะและโทสะได้ทันท่วงที
พระอนาคามีนั้นไม่เห็นความสวยความงามในร่างกายนี้เลย เห็นแต่ความสกปรกโสโครก เห็นแต่ความเป็นจักรกล เห็นความเป็นชิ้น เป็นแท่ง เป็นก้อน เป็นอัน ไม่ได้โดนเนื้อหนังมังสาภายนอกหลอกลวงได้ สามารถที่จะตัดราคะ อารมณ์ระหว่างเพศ โทสะ ความโกรธความเกลียดคนอื่น ลงได้อย่างเด็ดขาด
โดยเฉพาะในส่วนละเอียดก็คือรูปราคะและอรูปราคะ ความยินดีในรูปซึ่งหมายถึงรูปฌาน ความยินดีในอรูปหมายถึงอรูปฌาน ซึ่งเป็นอารมณ์ละเอียด ปฏิบัติได้แล้วมีความสุข ไปเพลิดเพลินหลงติดอยู่ ผู้ที่เป็นพระอนาคามีนั้น ท่านยังคงใช้รูปฌานและอรูปฌานเป็นปกติตามที่ตนทำได้ แต่ส่งกำลังใจนั้นไปเกาะพระนิพพานแทน ก็แปลว่าท่านไม่ได้ติดในรูปฌานและอรูปฌาน แต่อาศัยฌานทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นบันไดก้าวไปสู่พระนิพพาน
ถ้าผู้ใดสามารถทำได้สูงกว่านั้นอีก ก็ตัดมานะ ความถือตัวถือตนว่าดีกว่าเขา เลวกว่าเขา หรือเสมอเขาลงได้ เห็นว่าทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นรูปเป็นนาม หรือสักแต่ว่าเป็นธาตุประกอบกันขึ้นมา ไม่มีสิ่งใดที่แตกต่างกันไปเลย ท้ายสุดก็เสื่อมสลายตายพังไปเช่นกัน เมื่อเห็นชัดเจนดังนั้นก็จะหมดมานะ ไม่มีความถือเนื้อถือตัวอยู่ กำลังใจมุ่งตรงจดจ่อแน่วแน่อยู่ที่เป้าหมายคือพระนิพพานแห่งเดียว ไม่ฟุ้งไปสู่อารมณ์อื่น เท่ากับตัดตัวอุทธัจจะความฟุ้งซ่านไปได้
ก็เหลือเพียงลำดับสุดท้ายคืออวิชชา ซึ่งถ้าแยกออกแล้วเป็น ๒ ศัพท์ คือฉันทะความยินดีและพอใจในสิ่งต่าง ๆ แล้วก็ราคะ ความอยากมีอยากได้ เพราะฉะนั้น..เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ก็ให้หยุดเอาไว้แค่ตรงนั้น เพียงสักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้กลิ่น สักแต่ว่าได้รส สักแต่ว่าสัมผัส ไม่ครุ่นคิด ไม่นำเข้ามาสู่ใจ
ถ้าเราหยุดอยู่ตรงนั้นได้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็ไม่สามารถที่จะทำอันตรายเราได้ อวิชชาทั้งหลายก็ไม่สามารถจะร้อยรัดเราอยู่ได้ เพราะเราไม่ยินดียินร้ายด้วย ถ้าท่านทำดังนี้ได้ ก็สามารถที่จะก้าวเข้าสู่พระนิพพานได้อย่างเต็มภาคภูมิ
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-05-2011 เมื่อ 02:37
|