ธรรมในโลกเที่ยงมีไหม
สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้
๑. ทรงตรัสถามว่า “ธรรมในโลกเที่ยงมีไหม”
(ตอบว่า ไม่มี)
๒. ทรงตรัสว่า “มี
ความเที่ยงในโลกก็คือธรรมไม่เที่ยงนั้นเป็นปกติธรรม เช่น ขันธโลกของคน ซึ่งมีความแปรปรวนอยู่เป็นปกติตามนั้น เราไม่อยากเจ็บ ไม่อยากป่วย แต่มันก็ต้องเจ็บต้องป่วยอยู่ตามธรรมนั้น ธาตุ ๔ ที่ประชุมกันขึ้นมาเป็นร่างกายนี้ มันก็ต้องมีการแปรปรวนอยู่เป็นธรรมดา การเจ็บป่วยก็เพราะกรรมปาณาติบาตอันตนทำไว้เองแต่ในอดีตหนหลัง บางท่านไม่เจ็บไม่ป่วยเพราะกรรมปาณาติบาตน้อย อย่างท่านพระสีวลีในกัปนี้ แต่ท่านก็เป็นโรคธาตุ ๔ พร่องอยู่เป็นนิจ ให้เป็นภาระที่ต้องรักษาทุกวันเหมือนกัน คือ โรคชิคัจฉา ปรมาโรคา (โรคหิว) จึงจักเห็นได้ว่าทุกคนที่มีร่างกายหนีโรคกันไปไม่พ้น ตั้งแต่พระบรมศาสดาลงมายันยาจกเข็ญใจ มีโรคเนื่องด้วยกายเหมือนกันหมด (ดังนั้น
อโรคยา ปรมาลาภา การไม่มีโรคทางร่างกายจึงไม่มีใครหนีพ้น เพราะเป็นสัจธรรม ทรงหมายถึงโรคทางใจเป็นสำคัญ)
๓. “เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น กรรมเหล่านี้ใครทำ เราต่างเป็นผู้กระทำเอาไว้เอง
กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เหตุที่ทำให้เกิดกรรมตัวนี้ คือ จิตของตนมีความทะยานอยาก อยากในการมีร่างกาย นิวรณ์ ๕ คือ กิเลสหยาบที่ทำปัญญาให้ถอยหลัง จิตโง่หลงผิดคิดอยากในการมีร่างกาย กามคุณ ๕ จึงเกิดขึ้นได้ตามอายตนะสัมผัส จิตติดในสัมผัสอันเป็นกามคุณนั้น ๆ รูปดี เสียงดี รสดี กลิ่นดี สัมผัสระหว่างเพศดี จุดนี้เป็นเหตุให้จิตมีกามเป็นเครื่องนำโคจรจุติหาภพหาชาติไม่มีที่สิ้นสุด และขณะเดียวกัน รูปไม่ดี รสไม่ดี กลิ่นไม่ดี เสียงไม่ดี สัมผัสระหว่างเพศไม่ดี จุดนี้เป็นเหตุให้จิตมีปฏิฆะ เป็นเครื่องนำโคจรจุติหาภพหาชาติไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน”
๔. “ถีนมิทธะ เกิดขึ้นก็เนื่องด้วยร่างกายเช่นกัน นั่นเป็นธรรมเบื้องสูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง จึงยังไม่ขอกล่าวให้ละเอียดในที่นี้ อุทธัจจะ อารมณ์ฟุ้งก็เช่นกัน ความสงสัย (วิจิกิจฉา) ในธรรมก็เช่นกัน จักยังไม่กล่าวในที่นี้ จะ
เอาแค่นิวรณ์เบื้องต้น ๒ ข้อเป็นเกณฑ์ที่พวกเจ้าจักต้องพิจารณา พยายามนำจิตให้หลุดจากนิวรณ์ (กามคุณ ๕) คือหลุดจากราคะและปฏิฆะ อันเป็นตัวนำจิตให้ต้องจุตินั้น”
๕. “และเป็นการถูกต้อง ที่เจ้าคิดว่า
การสอนให้พิจารณาพรหมวิหาร ๔ ควบกับอายตนะสัมผัสภายในและภายนอก ก็คือการสอนเทียบเคียงกับมหาสติปัฏฐานสูตร ว่ากันตั้งแต่อานาปาบรรพ กายบรรพ การรู้ทุก ๆ อายตนะสัมผัส ก็รวมหมายถึงรู้อิริยาบถบรรพไปด้วย และรู้เวทนาบรรพ คือสัมผัสภายในทั้งหมด ไม่ว่าอะไรเกิดแก่ร่างกาย จิตจักต้องรู้ธรรมนั้น รู้สัมผัสภายนอก เช่น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ก็รู้ด้วย”
๖. “
การเห็นปกติธรรมในธรรม คือจิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน เมื่อรู้ทั้งธรรมภายในและธรรมภายนอก รู้อย่างมีสติสัมปชัญญะพร้อม ก็เป็นธรรมานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน สอนไปสอนมาก็วนอยู่ตรงนี้ เป็นกรรมฐาน ๔๐ ด้วย เป็นมหาสติปัฏฐานสูตรด้วย ก็ธรรมอันเดียวกันนั่นแหละ”
๗. “เมื่อเจ้าเข้าใจแล้ว ทำได้หรือยัง”
(ตอบว่า ยังทำไม่ได้) “ก็ใช่ เพราะถ้าทำได้ครบและตลอดเวลา พวกเจ้าก็เป็นพระอรหันต์ เลยไม่ต้องสอนกันอีก นี่เพราะทำกันยังไม่จบ ก็ต้องสอนกันอยู่ต่อไปจนกว่าจักจบ แต่ถ้าผู้รับฟังแล้วไม่นำไปปฏิบัติ ผู้สอนก็จักไม่สอนอีก เพราะสอนเท่าไหร่ก็ไม่มีผล
อย่าลืมนะฟังแล้วจำ จำแล้วนำไปปฏิบัติด้วย”
ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน
ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่
www.tangnipparn.com