ฌาน คือ เพ่งเอาแต่อารมณ์ของจิตดังกล่าวแล้ว
บางท่านเพ่งเอาแต่อารมณ์ของรูปเลยเข้าใจว่าเป็นรูป
เช่น เพ่งเอาดวงแก้วหรือพระไว้ที่หน้าอก
แล้วสังขารออกไปปรุงแต่งให้เป็นไปตามความต้องการของตน
เช่น ให้รูปใหญ่ขึ้นหรือเล็กลง จนเพ่งให้เป็นรูปต่าง ๆ นานา สารพัดที่จะเกิดขึ้น
แล้วเอาอาการของรูปนั้นว่าเป็นมรรคเป็นผลตามความต้องการของตน
แท้ที่จริงแล้วมิใช่มรรคผลหรอก มรรคผลไม่มีภาพ ภาพเป็นเรื่องของฌาน
อภิญญา ๕ ก็เป็นเรื่องของฌานทั้งนั้น มรรคไม่มีภาพ และอภิญญาต่าง ๆ
มีแต่พิจารณาเห็นชัดตามความเป็นจริง แล้วแสดงความจริงอันนั้นให้เกิดขึ้นในใจล้วน ๆ
เช่น เห็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ เห็นสมุทัยว่าเป็นสมุทัย นิโรธและมรรคเห็นเป็นนิโรธและมรรค ตามความเป็นจริง
ซึ่งใคร ๆ จะคัดค้านไม่ได้ ว่าทุกข์ไม่เป็นทุกข์ สมุทัยไม่ใช่สมุทัย นิโรธมิใช่นิโรธ มรรคไม่ใช่มรรค
ปราชญ์ในโลกนี้ทั้งหมดไม่มีใครจะคัดค้านเช่นว่านี้ เพราะเห็นจริงทุกสิ่งที่ตนเห็นแล้ว
มรรคที่พระองค์แสดงไว้เบื้องต้น คือ โสดาบันบุคคลท่านละสักกายทิฏฐิ
คือความถือตนถือตัวว่าเป็นตนเป็นตัวจนเป็นอัตตา
แล้วก็ละความเห็นอันนั้นพร้อมทั้งละรูปที่ถือนั้นด้วย วิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาสก็เช่นเดียวกัน
มรรคคือการละสิ่งที่ตนถือ คือรูปนั้นเองและละความถือของรูปนั้นคือจิตตนเอง
สมกับที่พุทธศาสนาสอนว่า
เมื่อยังเป็นตนเป็นตัวอยู่ แล้วเห็นสิ่งที่ตนยึดถืออยู่นั้นว่าไม่ใช่ตนไม่ใช่ตัว
แล้วก็ละพร้อมทั้งความถือด้วย เรียกง่าย ๆ ว่าละรูปละนามจนหมดกิเลส
__________________
การรักษากำลังใจสำคัญที่สุด...ได้ดีอย่าฟู แล้วขณะเดียวกันว่า ถ้าได้ร้ายก็อย่าฟุบ ให้เห็นว่ามันเป็นปกติของมัน เรื่องของมัน
ถ้ามันดีมาพออาศัยได้ก็ดีกับมันไป ถ้าหากว่ามันไม่ดีมา เราอยู่กับมันก็ให้รู้อยู่มีสติอยู่ ถึงเวลาก็ต่างคนต่างไปอยู่แล้ว...
กำลังใจของเราพลาดแม้แค่วินาทีเดียวนี่ อาจจะหมายถึงแพ้ทั้งกระดาน
อะไรมันก็ไม่เจ็บปวดเท่ากับต้องเกิดใหม่ มันเป็นทุกข์ เป็นโทษสุด ๆ จริง ๆ
กระโถนข้างธรรมาสน์ ฉบับที่ ๕๑
|