นอกจากกองกรรมฐานก็คืออานาปานุสติและพุทธานุสติที่เราจะทิ้งไม่ได้แล้ว ในระหว่างที่เราปฏิบัติสมาธิภาวนา ก็ยังต้องทบทวนอยู่เสมอว่า ศีลทุกสิกขาบทของเราบริสุทธิ์บริบูรณ์หรือไม่ ?
เรายังละเมิดศีลด้วยตัวเองหรือไม่ ? ถ้าเราไม่ละเมิดศีลด้วยตนเองแล้ว เรายุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นเขาละเมิดศีลหรือไม่ ? ถ้าเราไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีลแล้ว เห็นผู้อื่นละเมิดศีลเรามีความยินดีด้วยหรือไม่ ?
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในวันก่อนว่า ในเรื่องของศีลนั้น ต้องปฏิบัติอยู่ในลักษณะที่ว่า ตัวตายดีกว่าศีลขาด นั่นเป็นความเด็ดขาดที่จะทำให้เกิดผลขึ้นมาได้ ในขณะเดียวกัน การปฏิบัติในศีลของพวกเรา นอกจากต้องระมัดระวังแล้ว เรายังต้องรู้ด้วยว่า แรก ๆ นั้นเราเป็นผู้รักษาศีล แต่เมื่อสติสมาธิและปัญญา เริ่มสมบูรณ์บริบูรณ์ เราขยับตัวเมื่อไร ก็รู้ว่าศีลจะขาดหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้น ศีลก็จะเริ่มรักษาเรา
คุณของศีล จะช่วยคุ้มครองป้องกันไม่ให้เราตกไปสู่อบายภูมิ ดังนั้น..การที่เรารักษาศีล เพื่อท้ายสุดศีลก็กลับมารักษาเรา การที่เราใช้สติสมาธิระมัดระวังในศีล ไม่ให้สิกขาบทบกพร่องก็ทำให้เกิดสมาธิ ดังนั้น..บุคคลที่เจริญสมาธิทุกคน ถ้าพยายามรักษาศีลพร้อมกับการเจริญสมาธิ สมาธิก็จะทรงตัวได้ง่าย
เมื่อสมาธิทรงตัวตั้งมั่น สภาพจิตมีความนิ่ง มีความสงบ การรู้เห็นต่าง ๆ ก็จะเริ่มปรากฏขึ้น ขอบอกว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นของแถมของนักปฏิบัติ ถ้ามีพื้นฐานเก่าอยู่ เราจะต้องการหรือไม่ต้องการก็ตาม เมื่อจิตสงบได้ระดับ การรู้เห็นจะปรากฏขึ้นทันที แต่ว่านั่นไม่ใช่จุดมุ่งหมายของเรา
เพราะว่าจิตที่สงบนั้น นอกจากเราจะเข้าถึงความดับกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ชั่วคราวแล้ว เรายังต้องอาศัยกำลังสมาธินั้น ในการขุดรากถอนโคน รัก โลภ โกรธ หลง ที่เป็นกิเลสใหญ่ให้หมดไปจากใจของเราด้วย ถ้ายังไม่สามารถที่จะทำหน้าที่การงานนี้ได้สำเร็จ ก็แปลว่าการปฏิบัติในศีล สมาธิของเราที่ผ่านมายังไม่เพียงพอที่จะใช้งาน จำเป็นที่เราจะต้องขวนขวายให้มากขึ้น
สรุปว่า การที่เราเป็นผู้ปฏิบัตินั้นต้องทำตัวเป็นผู้ใหม่อยู่เสมอ ไม่ใช่ว่าใหม่แต่สถานที่ ใหม่แต่ตัวบุคคล การเป็นผู้ใหม่อยู่เสมอนั้นก็คือ พยายามสร้างสภาพจิตของเราให้มีความกระตือรือร้น มีความตื่นรู้ มีความใฝ่ดี แสวงหาความก้าวหน้า แล้วก็ขวนขวายปฏิบัติเพื่อก้าวไปสู่จุดหมายที่เราตั้งเอาไว้คือพระนิพพาน
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 24-04-2011 เมื่อ 14:22
|