กิจภายนอกกับกิจภายใน
สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ ดังนี้
๑. “สำหรับการสังเกตอารมณ์ที่กระทบงาน พึงแยกงานออกเป็น ๒ ประเภท คือ
- ก) กิจภายนอก อันเป็นหน้าที่ของงานภายนอก
- ข) กิจภายใน คือ งานอันเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องบริหารเพื่อขันธ์ ๕ คือ งานที่จำเป็นต้องทำให้แก่ร่างกาย (ภาราหะเว ปัญจักขันธา) เช่น ตื่นมาต้องอาบน้ำ แปรงฟัน บริโภคอาหาร ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น”
๒. “
ดูงานกระทบจิตเหล่านี้ด้วย คือ ดูทั้งงานทางโลกและขันธโลกด้วยว่า อารมณ์ใจขณะนั้นเป็นอย่างไร เรียกว่าตรวจสอบอารมณ์จิตอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่ายามหลับ ยามตื่น ยืนอยู่ ทำภารกิจใด ๆ อยู่
รู้ให้ตลอดเวลาเป็นอกาลิโกในการรู้อารมณ์ แล้วจักแก้ไขอารมณ์ได้ง่ายในวาระต่อ ๆ ไป”
๓. “จุดนี้บอกให้พวกเจ้าทำกันไปก่อน
อย่าคิดว่าง่ายนะ และอย่าคิดว่ายากด้วย ให้ถือว่าเป็นคำสั่งที่ต้องทำให้ได้ด้วย”
๔.
(ขณะที่เพื่อนของผมกำลังถ่ายหนักอยู่) ทรงตรัสว่า “งานทางกาย (กิจภายใน หรือโลกภายใน หรือขันธโลก) ให้สังเกตอารมณ์กระทบ อย่างกำลังถ่ายอยู่นี่ก็
สังเกตอารมณ์จิตว่าเกาะทุกขเวทนาของร่างกายหรือเปล่า หรือสักแต่ว่าดูร่างกายถ่ายของทิ้งตามธรรมชาติ หรือดังกับกำลังกินอาหารอยู่ ลิ้นทำหน้าที่ตามธรรมชาติบ่งบอกรสอาหาร
ก็ดูอารมณ์ของจิตไปเกาะอยู่กับรสของอาหารหรือไม่ มีอารมณ์ชอบใจหรือไม่ชอบใจหรือไม่ หรืองานนั้นเป็นหน้าที่ของร่างกาย จิตไปเกาะติดงานนั้นหรือไม่ นี่คือตัวอย่างของการสังเกตจิตเกาะงานภายใน คือ หน้าที่อันเป็นภาระของร่างกาย”
ขอสรุปว่า
พระองค์ตรัสสอนเรื่องนี้ก็คือ อินทรีย์สังวรหรือการสำรวมอายตนะ ๖ นั่นเอง และให้ทำอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นจริยาของพระอริยเจ้าขั้นสูง ท่านปฏิบัติอยู่เป็นปกติเป็นหนึ่งในจรณะ ๑๕ ที่ท่านทำอยู่เป็นจริยาวัตรของท่าน คือ
- ก) ศีลสังวร, อินทรียสังวร, โภชเนมัตตัญญุตา, ชาคริยานุโยค (๔ หมวด)
- ข) ศรัทธา, หิริโอตตัปปะ, พาหุสัจจะ, วิริยะ, สติ, ปัญญา, (๗ หมวด)
- ค) ปฐมฌาน, ทุติยฌาน, ตติยฌาน, จตุตถฌาน (คือ ฌานที่ ๑-๔) (๔ หมวด)
ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน
ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่
www.tangnipparn.com