เมื่อท่านทั้งหลายเห็นแล้วว่า เรื่องของสมาธิสมาบัตินั้น สำคัญต่อการปฏิบัติอย่างไร ก็ขอให้พวกเราทุ่มเทให้กับการปฏิบัติ อย่างน้อย ๆ ก็ให้ทรงฌานในระดับใดระดับหนึ่งให้ได้ เพื่อที่จะได้เหมือนดังคำพิจารณาของพระที่ว่า บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า คุณวิเศษของเรามีอยู่บ้างหรือไม่ เพื่อที่จะได้ไม่เก้อเขิน เมื่อเพื่อนสหธรรมิกไต่ถามในภายหลัง
ถ้าเราสามารถทรงฌานระดับหนึ่งได้ ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป กำลังก็เพียงพอที่จะละกิเลสได้ในบางส่วน จะทำให้เราสามารถต่อสู้กับกิเลสได้ง่ายยิ่งขึ้น
เมื่อท่านทั้งหลายเห็นคุณค่าของการทรงสมาธิภาวนาแล้ว ก็ขอให้ทุ่มเทปฏิบัติอย่างจริงจัง และสม่ำเสมอ เพื่อที่ผลจะได้เกิดกับเราอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เนื่องจากว่ากาลเวลาล่วงไป ๆ เราเองอาจจะหมดอายุขัย สิ้นชีวิตลงไปเมื่อใดก็ไม่แน่ จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบในการปฏิบัติ ศีล สมาธิ และปัญญาของเราให้สมบูรณ์บริบูรณ์ เพื่อเป้าหมายคือการหลุดพ้นไปสู่พระนิพพานของเรา
ลำดับต่อจากนี้ไป ก็ขอให้ทุกท่านกำหนดภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย ท่านใดที่กำลังใจทรงตัวแล้ว ให้พยายามกำหนดดูในเรื่องของไตรลักษณ์ คือสภาพความไม่เที่ยงของร่างกายนี้ สภาพของการดำรงชีวิตอยู่บนกองทุกข์ของร่างกายนี้ และท้ายสุดความไม่สามารถยึดถือเป็นตัวเป็นตนของร่างกายนี้ ให้เห็นจริงและจิตยอมรับให้ได้ ขอให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติไปตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา
พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันอาทิตย์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 03-01-2011 เมื่อ 15:25
|