โลกทั้งโลกไม่มีอะไรสุข มีแต่ทุกข์ นี่คืออริยสัจ
โลกทั้งโลกไม่มีอะไรสุข มีแต่ทุกข์ นี่คืออริยสัจ
สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ มีความสำคัญ ดังนี้
๑. “พิจารณาไปเถิด วงจรชีวิตของบุคคลทั่วไป จักเห็นทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่เที่ยง โลกทั้งโลกไม่มีอะไรสุข มีแต่ความทุกข์เป็นที่รับรอง นี่คืออริยสัจ เห็นธรรมภายนอกแล้วจงน้อมเข้ามาถึงธรรมภายใน แม้จักวางจิตให้คลายจากการเกาะติดอกุศลกรรม ยังไม่ได้สนิทเลยทีเดียว ก็จักเข้าใจในกฎของกรรมของการกระทำทั้งความดีและความชั่ว”
๒. “การพิจารณาจักมีเหตุ มีผลให้เห็นกฎของกรรม ก็จักเป็นปัจจัยให้เกิดเบื่อหน่ายการมีร่างกายได้เช่นกัน และเข้าใจในกรรมใครกรรมมันได้ชัดเจนจนลงตัวธรรมดา หรือเข้าหาอริยสัจหรือกฎของกรรมได้ดีขึ้น แต่จักให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ก็พึงศึกษากฎของกรรมของตนเองเป็นดีที่สุด เช่น สัทธรรม ๕, โลกธรรม ๘ เป็นต้น”
๓. “หากศึกษากรรมของตนจนเป็นที่เข้าใจ จิตจักมีหิริ-โอตตัปปะสูงขึ้น ละอายและเกรงกลัวผลของกรรมชั่ว จักไม่กล้ากระทำกรรมทั้ง ๓ ประการ คือ มโนกรรม วจีกรรม กายกรรมสืบต่อไป อีกทั้งทำให้พรหมวิหาร ๔ ทรงตัว”
๔. “เมื่อเข้าใจกฎของกรรม ก็จักเมตตา-กรุณา รักและสงสารจิตของเราที่โง่มานานแล้ว เพราะตกอยู่ภายใต้อกุศลกรรม ทำให้ต้องมาเกิดมีร่างกายให้พบกับกฎของกรรมอยู่ทุกวันนี้ ความรักและสงสารนี้หากมีกำลังให้ตนเองทรงตัวแล้ว ก็จักเผื่อแผ่ไปยังบุคคลอื่นด้วย ยิ่งเห็นใครทำชั่วมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งสงสารมากขึ้นเท่านั้นเพราะจิตมีเมตตา กรุณา เห็นโทษเห็นทุกข์อันจักเบียดเบียนแก่ผู้กระทำกรรมนั้นในที่สุด สำหรับตัวมุทิตาก็มีกำลังมากขึ้น เพราะจิตระงับกรรมที่เป็นอกุศลได้ คือ โกรธ โลภ หลง จิตจึงสงบเยือกเย็น ตัวมุทิตาที่มีในจิตตนย่อมแผ่ไปถึงผู้อื่นด้วย จิตมีแต่ความหวังดี ความหวังร้ายหมดไปเพราะเห็นกฏของกรรม เห็นอริยสัจ เห็นเป็นธรรมดาไปหมด ในที่สุดตัวอุเบกขาเห็นกรรมใครกรรมมันว่า กรรมนั้นไม่ผูกพันหรือผูกพันกับเรา จิตมีปัญญาเป็นผู้รู้ จักเห็นกฎของกรรมได้เด่นชัดมาก”
|