เห็นกระทู้ "พุทธคุณ ๕๖ ห้อง" ที่พี่วาโยรัตนะตั้งไว้ หยาดฝนเลยนึกถึงยันต์จักรพัตราธิราชขึ้นมา จึงกราบขออาราธนาบารมีพระรัตนตรัย ครูบาอาจารย์ และท่านเทวดาทั้งหลาย ขออนุญาตแกะลำดับการลงยันต์ในตัวยันต์จักรพัตราธิราช
(เนื่องจากลำดับเลขในตำราไม่ชัดเจน และเอกสารอ้างอิงก็ไม่ได้กล่าวถึงลำดับการลงยันต์ไว้) และนำมาลงไว้ที่เว็บวัดท่าขนุน โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และเป็นเครื่องสักการะบูชาแด่ครูบาอาจารย์ บุพการี พรหมและเทวดาทั้งหลาย
ความดีอันใดที่เกิดจากการเผยแพร่ตำรานี้ หยาดฝนขอน้อมถวายแด่สมเด็จองค์ปฐม พระผู้มีพระภาคเจ้าทุกพระองค์ พระธรรม พระอริยสงฆ์ พระอริยบุคคล ครูบาอาจารย์ บุพการี พรหม และเทวดาทั้งหลาย หากก่อให้เกิดโทษแต่อย่างใด หยาดฝนกราบขออภัยและขออโหสิกรรมค่ะ
เรียนท่านผู้นำรูปจากเว็บวัดท่าขนุนไปใช้ รบกวนขออนุญาตหรือบอกกล่าวกันก่อนนะคะ ตาม "
กฎ กติกา มารยาท" ระบุไว้ในกระทู้ โพสต์ที่ ๑ ข้อ ๗
อ้างอิง:
ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ มัคคนายก
...
๗. ห้ามนำข้อความ และ รูปภาพ ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ
...
|
"ยันต์จักรพัตราธิราช"
"ยันต์จักรพัตราธิราช" หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "พระยันต์ตำรับวัดประดู่โรงธรรม" (ในเอกสารบางฉบับใช้อ้างอิงว่า "วัดประดู่ทรงธรรม") ที่หยาดฝนได้รับต่อมาเป็นเอกสารที่อ้างอิงจากตำราของอาจารย์เทพ สาริกบุตร (ชื่ออาจารย์สะกดตามเอกสารต้นฉบับค่ะ) อีกตำราหนึ่งที่หยาดฝนใช้อ้างอิง ณ ที่นี้คือ "ตำราพระเวทพิสดาร ภาค ๒" โดยอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร
เนื่องจากภาพยันต์ต้นฉบับทั้งตำราและเอกสารนั้นไม่ค่อยชัดเจนนัก หยาดฝนจึงคัดลอกใหม่เพื่อความชัดเจน เผื่อว่าท่านใดปรารถนาจะศึกษา จะได้ง่ายขึ้นในการฝึกเขียน
ภาพยันต์ค่ะ
ตำราได้กล่าวถึงพิธีการลงยันต์ไว้ด้วย หยาดฝนจะนำมาลงไว้ให้ในโอกาสต่อไปนะคะ ในครั้งนี้หยาดฝนขอกล่าวคร่าว ๆ เกี่ยวกับยันต์จักรพัตราธิราชก่อนค่ะ
ยันต์นี้ใช้บทอิติปิโสรัตนมาลาเป็นบทหลักในการลงยันต์ การชักยันต์อาจจะซับซ้อนสักหน่อย แต่ไม่ยากค่ะ เขียนบ่อย ๆ เดี๋ยวก็ไม่รู้สึกซับซ้อนแล้วค่ะ ตำราระบุไว้ว่าลงยันต์ตามตารางหมากรุก พอถึงข้างในให้ถอดแบบตรีนิสิงเห โดยส่วนตัวแล้วเล่นหมากรุกไม่เป็น จึงไม่มั่นใจว่าท่านที่เล่นหมากรุกจะเห็นว่าง่ายหรือเปล่าค่ะ
ตัวยันต์ประกอบด้วย ๑๐๘ อักขระ โดยแต่ละอักขระคือ ๑ พระคาถา ซึ่งแจกแจงได้ดังนี้ค่ะ พระพุทธคุณ ๕๖ พระคาถา พระธรรมคุณ ๓๘ พระคาถา และพระสังฆคุณ ๑๔ พระคาถา รวมเป็น ๑๐๘ พระคาถา
ภาพยันต์พร้อมลำดับการลงอักขระค่ะ
สีแดง - พระพุทธคุณ ๕๖ อักขระ / พระคาถา
สีส้ม - พระธรรมคุณ ๓๘ อักขระ / พระคาถา
สีน้ำเงิน - พระสังฆคุณ ๑๔ อักขระ / พระคาถา
คำแนะนำส่วนตัวในการลงยันต์จักรพัตราธิราชคือ
เนื่องจากลำดับในการลงอาจจะซับซ้อนหน่อย ดังนั้น..ความกังวลในการลงยันต์อาจเกิดขึ้นได้ง่าย คำแนะนำคือไม่ต้องกังวลว่าต้องลงที่ไหนก่อน หรือลงอักขระไหนก่อน สิ่งที่ต้องทำก็แค่ตั้งใจท่องพระคาถาไปเรื่อย ๆ มือก็เขียนไปเรื่อย ๆ ที่สำคัญก็คือจับภาพพระให้ชัดเจน และตั้งจิตให้นิ่ง เดี๋ยวมือก็เขียนไปตามลำดับเองค่ะ ถ้ายังกังวลอยู่และตัดไม่ได้
ก็ฝึกเขียนไปเรื่อย ๆ ฝึกพร่ำบ่นคาถาไปเรื่อย ๆ ค่ะ จับภาพพระไปเรื่อย ๆ นี่เป็นคำแนะนำส่วนตัวจริง ๆ ค่ะ เพราะไม่ทราบว่าท่านอื่นจะสะดวกเหมือนกันหรือไม่
แต่ถ้ากล่าวโดยทั่วไปแล้ว ท่านก็ทำในสิ่งที่ทำให้สมาธิท่านทรงอยู่ได้ แล้วก็เขียนยันต์ไปเรื่อย ๆ พยายามตัดความกังวลต่าง ๆ เสียให้หมด รวมถึงความกังวลในการลงยันต์ด้วย การที่เราใคร่ครวญว่าต้องลงอักขระใดต่อไป คาถาใดต่อไป หรือต้องท่องพระคาถาไหนนั้น ควรจะดำรงสติและสมาธิไว้ในระดับที่พอดี กล่าวคือความใคร่ครวญจะอยู่ในระดับธรรมดา ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความกังวลแก่จิตใจค่ะ ถ้ามากเกินไปจะกลายเป็นความรู้สึกกังวล กลายเป็นนิวรณ์ไป และไม่สามารถที่จะตั้งสมาธิไว้ได้ กลายเป็นว่าเราเหมือนจะฝืน ๆ และต้องบังคับให้ตัวเองจำว่าต้องลงยันต์ไหนต่อไป จะรู้สึกหนัก กังวล มืด และมึนค่ะ ให้ฝึกไปเรื่อย ๆ ปรับอารมณ์ไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็ไม่กังวลค่ะ
วันนี้ขออนุญาตพักไว้เท่านี้ก่อน จะลงรายละเอียดเพิ่มเติมในโอกาสต่อไปค่ะ