ความหมาย
“เก้าทัพต้องยับย่อย” จึงไม่ได้หมายถึงเพียง สงครามเก้าทัพที่ฝ่ายพม่าต้องถอยทัพกลับไปทั้ง ๆ กำลังพลยังเหนือกว่ามาก แต่ความยับย่อยในความหมายเริ่มต้นจาก"สมรภูมิทุ่งลาดหญ้า
" ที่สร้างความเสื่อมถอยให้กับมหาจักรวรรดิผู้เคยพิชิตกรุงศรีอยุธยาในครั้งต่อ ๆ มา
“ทุ่งลาดหญ้า” ที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงใช้กลศึกและสงครามกองโจร"จรยุทธ์" ตรึง ทัพหน้ากักทัพใหญ่กว่าแสนให้ละลายหายไปในพริบตา ทั้งไพร่พลและขวัญกำลังใจ แม้แต่พระเจ้าปดุงผู้เกรียงไกรยังต้องถอนทัพกลับไปอย่างอดสู ราชวงศ์คองบองสิ้นความอหังการ เสื่อมพระเกียรติยศแห่งราชาเหนือราชา จนต้องหันไปพึ่งพระพุทธศาสนา ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยให้พระเจ้าปดุงเข้าใจในโลกแห่งความเป็นจริง นอกจากการสร้างตนเป็นราชาเหนือพระพุทธเจ้าและราชาเหนือโลกในฐานะพระโพธิสัตว์เท่านั้น
ซึ่งนั่นก็ได้นำไปสู่ "ความยับย่อย"ของพม่า เมื่อไม่สามารถเอาชนะใจประเทศราชและแว่นแคว้นที่เคยยึดครอง ปวงประชาราษฎร์ของพม่าก็เดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า
"เก้าทัพต้องยับย่อย" คือจุดเริ่มต้นที่ไปสู่การย่อยยับในเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของพระเจ้าปดุง พ่วงไปถึงความเสื่อมถอยของพม่าในทุก ๆ ด้าน ถือเป็นสัญญาณครั้งสำคัญของจุดเริ่มต้นแห่งการสิ้นสุดราชวงศ์คองบองในเวลาต่อมา
พระเจ้าปดุง เสด็จสวรรคตในปีพ.ศ. ๒๓๖๒ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๒ ของราชอาณาจักรสยาม รวมระยะเวลาการครองราชย์นานถึง ๓๗ ปี !!!
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้าพระยาเสือ) ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดตองปุแล้วถวายเป็นพระอารามหลวง โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า
“วัดชนะสงคราม” เพื่อเป็นพุทธบูชาในการพระราชสงครามที่พระองค์ทรงมีชัยชนะต่อพม่าในการรบทั้ง ๓ ครั้ง ทั้งในสงครามเก้าทัพ ปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ศึกท่าดินแดงและสามสบ ปี พ.ศ. ๒๓๒๙ และสงครามที่นครลำปางป่าซาง ในปี พ.ศ. ๒๓๓๐ และได้โปรดให้บรรจุพระเนื้อดินดิบ"วัดชนะสงคราม" ไว้ในกรุพระเจดีย์เพื่อถวายเป็นเครื่องพุทธบูชาหลังจากที่ต้องสังเวยชีวิตผู้คนมากมายเพื่อปกปักษ์รักษาแผ่นดินเอาไว้
ขอบคุณที่มา :
http://www.oknation.net/blog/vorana