๑๐. “พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ตรัสสอนไว้ถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เมื่อย่อแล้วเหลือประโยคเดียว มีความสำคัญสรุปว่า “จงพร้อมอยู่ในความไม่ประมาทเถิด” หรือ จงอย่าประมาทนั่นเอง ดังนั้น ใครจักประมาทก็เรื่องของเขา จงอย่าสนใจปฏิกิริยาหรือจริยาของผู้อื่น เราอย่าประมาทเท่านั้นเป็นพอ ไม่ใช่หน้าที่ของเราจักไปตักเตือนเขา ให้เตือนจิตของเราเองดีกว่า ท่องคาถาบทหนึ่งว่า ช่างมัน ทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าพระหรือฆราวาส ถ้ายังตัดสังโยชน์ ๑๐ ไม่หมด ก็จักต้องมีความประมาททุกคน ภิกษุที่ละเมิดศีลก็มาจากความประมาท คิดว่าอาบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่เป็นไร ความชั่วเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจักเป็นมโนกรรม วจีกรรม กายกรรมก็ดี เนื่องมาจากความประมาททั้งสิ้น ประมาทเพราะขาดเทวธรรมหรือหิริ โอตตัปปะ ประมาทเพราะขาดนิสัมมะ กรณัง โสยโย ประมาทเพราะคิดว่ากรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่มีผล นี่เป็นหนทางแห่งความชั่ว อีกทั้งประมาทเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำอะไรก็คิดว่าดีแล้วอยู่เสมอ มีความหลงเป็นที่ตั้ง คิดเข้าข้างต้นเอง หลอกตนเอง ยึดทิฏฐิคือ ความคิดของตนเองเป็นใหญ่ เป็นเอกาธิปไตย (ยอมหักไม่ยอมงอ หมายความว่า ไม่ยอมแพ้ความชั่วของผู้อื่นเพื่อที่จะชนะความชั่วของตนเอง โลกวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ก็ด้วยเหตุนี้เอง)
๑๑. “อย่าลืมนะเจ้า ถ้าหากความคิดประเภทนี้เกิดขึ้นเมื่อไร ก็หันมาจับสังโยชน์ ๑๐ เป็นเครื่องวัดใจ เพื่อเตือนสติของตนให้มีสัมปชัญญะ กำหนดรู้ว่าสังโยชน์ ๑๐ ยังไม่ขาดหมดทุกข้อ คำว่าถูกต้องโดยไม่ผิดพลาดนั้นยังไม่มี ยังมีความประมาทอยู่ อย่าหลงคำว่าตนเองดีเป็นอันขาด แม้พระอริยเจ้าเบื้องสูงท่านตัดสังโยชน์ ๑๐ ได้หมดแล้ว แต่ขันธ์ ๕ ยังอยู่ (ยังไม่ตาย) ท่านก็ยังไม่คิดว่าตนเองดี เพราะยังมีร่างกายเป็นเครื่องจองจำ มีภาระที่จักต้องเลี้ยงดูร่างกาย ท่านจึงอยู่ในความไม่ประมาท โดยเฉพาะความตาย มีอานาปานุสติ มรณาและอุปสมานุสติอยู่ทุกขณะจิตด้วยความไม่ประมาทในธรรม ท่านทราบดีว่าผู้ที่ไม่ผิดพลาดเลย คือ รอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่ผิดพลาดมีแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ให้พวกเจ้าศึกษาจุดนี้ให้ดี ๆ ถ้าทำได้ความประมาทก็จักลดน้อยลงไป การตัดสังโยชน์ที่เหลืออยู่ก็เป็นของไม่ยาก”
๑๒. “สมเด็จพระพุทธกัสสป ทรงพระเมตตาตรัสสอนอุบายในการละขันธ์ ๕ โดยเฉพาะราคะจริต ทรงให้หลักโดยย่อว่า หากเห็นสิ่งใดว่าสวยสดงดงาม ให้เห็นเป็นนิมิตว่ามันไม่สวย โดยทำให้สิ่งนั้นหายไปหรือชำรุด แหว่ง หลุด ขาด ขนาดเล็กไป ใหญ่ไป ความสวยงามก็จะหมดไปทันที เช่น ตาสวย หากเอาลูกตานั้นออกไปเสียจะเป็นอย่างไร? ผมสวย ก็ให้ผมหลุด หัวโล้นเป็นอย่างไร? ฟันสวย ก็ให้ฟันหลุด ฟันหลอ ฟันหัก ฟันผุ ไม่มีฟันจะเป็นอย่างไร? ผิวสวย ก็ลอกผิวนั้นออกจะเป็นอย่างไร? ปากสวย ก็ให้ปากแหว่ง ปากกว้าง ปากจู๋จะเป็นอย่างไร? จมูกสวย ก็ให้จมูกโหว่ จมูกหัก จมูกรูปชมพู่จะเป็นอย่างไร? แม้ดูร่างกายทรวดทรงสมส่วน ก็ให้มันใหญ่โตมโหฬาร หรือผอมแห้งจะเป็นอย่างไร? หรือลอกหนังเนื้อออกให้หมด เหลือแต่โครงกระดูกแล้วจะเป็นอย่างไร? แม้อวัยวะเพศ และแขน ขา หากมันขาด ด้วน หงิกงอ ผิดรูปไป ขนาดมันใหญ่ไป เล็กไป จะเป็นอย่างไร? เป็นต้น ในอาการ ๓๒ นี้ หากมันขาดไปหรือเล็กไปใหญ่ไปเกินพอดี ล้วนทำให้หมดความสวยงามลงทันที ทั้งหมดล้วนเป็นอุบายในการตัดอารมณ์ราคะได้ทั้งสิ้น แต่จงอย่าลืมว่า ให้ใช้อุบายนี้ด้วยนิมิต ใช้ปัญญาเป็นนิมิตเห็นเท่านั้น”
ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน
|