๙. การพ้นสุขหรือทุกข์ในโลกียวิสัย จักต้องเน้นที่จิตให้ทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นสำคัญ รักษาจิตเข้าไว้ด้วยเมตตา กรุณา คือ รัก สงสารจิตของตนเองก่อน มุทิตา มีความอ่อนโยนให้แก่จิตของตนเอง ไม่สร้างความเร่าร้อนให้แก่จิต มีอุเบกขา คือ ความสงบ วางเฉยในสิ่งที่มากระทบอารมณ์ของจิตทั้งปวง ทั้ง ๔ ประการนี้ต้องพยายามทรงไว้เป็นอารมณ์ทั้งวัน แต่จำไว้ว่าให้ทำแบบสบาย ๆ ทำด้วยความพอใจ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา มีความรักในพรหมวิหาร ๔ มีความเพียรที่จักรักษาพรหมวิหาร ๔ และใช้ปัญญาใคร่ครวญพรหมวิหาร ๔ อยู่เสมอ ๆ การตัดอารมณ์ที่จักติดในปฏิกิริยาของบุคคลอื่นก็เป็นของไม่ยาก หรือตัดวางอารมณ์ปฏิกิริยาของตนเองที่ไหวไปด้วยความโกรธ โลภ หลง ก็เป็นของไม่ยาก ขอให้จงใคร่ครวญพิจารณาตามนี้ให้ดี ๆ
ก) ธรรมของพระพุทธเจ้า สอนให้เราเห็นทุกข์ตามความเป็นจริงของการเกิดมามีร่างกาย (ทุกขสัจ)
ข) ให้เห็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ อยู่ที่ใจ (สมุทัย) มีตัณหา ๓ ประการ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภาวตัณหา ใจยึดมั่นถือมั่นเป็นอุปาทาน ไม่ยอมวาง
ค) ให้เห็นผลของการปล่อย ละ วาง สมุทัยได้แล้ว หรือดับต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ได้แล้วมีผลอย่างไร (นิโรธ)
ง) แนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อให้ถึงความพ้นทุกข์ได้ ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา คือ ดับการเกิดมีร่างกายได้อย่างถาวรเด็ดขาดตลอดกาล หรือพ้นทุกข์อย่างถาวร คือ ต้องเข้าสู่แดนพระนิพพานด้วยอริยสัจ ๔ เท่านั้น ทรงตรัสเน้นให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยอริยสัจ ๔ เหมือนกันหมดทุก ๆ พระองค์ และพระอริยสาวกของพระองค์ทุกองค์ ต่างก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ด้วยอริยสัจ ๔ ด้วยกันทั้งสิ้น มีทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี
|