พรหมวิหาร ๔ คือ ตัวใจเย็น
สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ ดังนี้
๑. “อย่าใจเย็น จนกระทั่งการปฏิบัติธรรมแชเชือนมากเกินไปก็แล้วกัน
ความใจเย็นจักต้องมีความเหมาะสมในมัชฌิมาปฏิปทา คือ พอดี ๆ ในสภาวะของธรรมปัจจุบัน เดินสายกลางเข้าไว้ อย่าตึงเกินไป อย่าหย่อนเกินควรจักไม่ได้ผล”
๒. “
บุคคลผู้ปฏิบัติธรรมด้วยความฉลาด จักรู้จักหยิบยกทุกสิ่งทุกอย่างที่กระทบอายตนะสัมผัส เข้ามาเป็นธรรมในปัจจุบัน กระทบมากเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งเห็นมรรคเห็นผลมากเท่านั้น เสมือนหนึ่งนักรบผู้ขยันรบ กระทบกับข้าศึกมากเท่าไหร่ ยิ่งแกล้วกล้าองอาจมากขึ้นเท่านั้น รู้ชั้นรู้เชิงในการสัประยุทธิ์ชิงชัย การจักเอาชนะกิเลสก็เช่นกัน จักต้องแกล้วกล้า รู้ชั้นรู้เชิงในการต่อสู้ชิงชัย การรบกับข้าศึกผู้ฉลาด จักต้องศึกษาปูมหลัง ลีลาการรบของข้าศึก รบทุกครั้งก็ชนะทุกครั้ง”
๓. “การรบกับกิเลสก็เช่นกัน จักต้องศึกษาปูมหลัง คือ ข้อเท็จจริงลีลาของกิเลสเข้าไว้ คือ รู้อารมณ์นี้คือ อารมณ์อะไร? รู้สมุทัย ต้นเหตุที่ทำให้เกิดกิเลสนั้น ๆ รู้ทุกข์ว่าจริงหรือไม่ รู้สุขว่าจริงหรือไม่ กล่าวคือ
จักต้องรู้อริยสัจเข้าไว้ การรบทุกครั้งจึงจักชนะได้”
๔. “ทำจิตให้พร้อมรบเข้าไว้ ถ้าเย็นใจก็เท่ากับป้อแป้อ่อนแอ กองทัพไม่มีแรง กิเลสจู่โจมมาก็สู้ไม่ได้ทุกครั้ง
คำว่าใจเย็นคือสงบ เหมือนกองทัพที่มีกำลังตั้งมั่นอยู่ ข้าศึกจู่โจมมาเมื่อใด ก็พร้อมที่จักรบเมื่อนั้น”
๕.
“อานาปานุสติกรรมฐาน คือ ฐานกำลังใหญ่ของจิต เป็นความสงบตั้งมั่น พรหมวิหาร ๔ คือตัวใจเย็น อุเบกขาเป็นตัวเพิ่มความสงบด้วยปัญญายิ่ง ๆ ขึ้นไป ตัวมุทิตาจิตอ่อนโยนไม่หยาบกระด้าง รัก สงสารในจิตของตนเอง ถ้าทรงอยู่ได้อย่างนี้ ไฟคือกิเลสที่ไหนก็มาเผาจิตไม่ได้”
๖.
“อย่าลืม ตั้งใจให้มั่นเข้าไว้ อย่าให้จิตคลาดจากการปฏิบัติธรรมตามแนวนี้ และจงอย่ากลัวการกระทบกระทั่ง เมื่อกระทบแล้วให้พิจารณาเข้าสู่อริยสัจเข้าไว้เสมอ คอยระมัดระวังจิต ที่จักปรุงแต่งธรรมที่กระทบนั้นไปในทางที่มีกิเลสเจือปนอยู่”
๗. “
อารมณ์ของจิตตนจักต้องรู้ด้วยตนเอง ถ้าไม่โกหกตนเองเสียอย่างเดียว จักรู้อารมณ์จิตของตนได้อย่างไม่ยากเย็น
ต้องรู้ให้จริง จึงจักแก้ไขอารมณ์ได้”
ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน
ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่
www.tangnipparn.com