ดังนั้น..ในเบื้องต้นของการปฏิบัติ ความมีสัมปชัญญะเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เราจะได้ตามดูตามรู้ตัวเอง เพื่อจะได้รู้ถึงความขาดตกบกพร่องของเราว่าเป็นอย่างไร แล้วจะได้เสริมสร้างให้ครบถ้วนสมบูรณ์
ในเรื่องของการปฏิบัตินั้น จำเป็นต้องอยู่ในลักษณะของ อัตตนา โจทยัตตานัง กล่าวโทษโจทย์ตนเองไว้เสมอ อย่าหลงผิดคิดว่าเราดีแล้ว ขณะเดียวกันก็อย่าประณามว่าเราหาความดีไม่ได้ เพราะจะทำให้กำลังใจของเราท้อถอย
ให้เราเปรียบเทียบการปฏิบัติแต่แรกเริ่มกับในปัจจุบันนี้ เราก็จะเห็นความก้าวหน้าอย่างน้อยระดับหนึ่ง อย่างเช่น จากเป็นบุคคลที่ไม่มีศีลเลย ก็เริ่มรักษาศีลได้บ้าง หลายท่านก็รักษาศีลได้ครบถ้วนบริสุทธิ์บริบูรณ์ จากบุคคลที่ไม่เคยหัดปฏิบัติสมาธิภาวนา ก็เริ่มปฏิบัติรักษากำลังใจให้ทรงตัวได้บ้าง
บางท่านก็สามารถทรงตัวจนเป็นอัปปนาสมาธิ คือตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปได้ ถ้าดูอย่างนี้เราจะเห็นความก้าวหน้าของตน ทำให้มีกำลังใจในการปฏิบัติให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
โดยเฉพาะหลักสำคัญที่สุดคือลมหายใจเข้าออก เราไม่สามารถที่จะทิ้งได้ ทิ้งลมหายใจเข้าออกเมื่อไรความฟุ้งซ่านจะมาเยือนทันที แล้วกิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรมทั้งหลายก็จะกระหน่ำซ้ำเติมเรา
การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกจึงเป็นพื้นฐานที่ใหญ่ยิ่ง สามารถสร้างความมั่นคงให้เกิดแก่ใจของเราได้ แล้วสามารถที่จะใช้กำลังนั้น ไปช่วยในการใช้ปัญญาพิจารณาตัดกิเลส
การปฏิบัติของพวกเราทุกคน จึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก จะใช้คำภาวนาหรือพิจารณาอย่างไรก็ได้ตามอัธยาศัย หายใจเข้ากำหนดรู้ตามไปตั้งแต่ต้นจนปลาย หายใจออกกำหนดรู้ตามไปตั้งแต่ต้นจนปลาย ถ้าคิดถึงเรื่องอื่นเมื่อไร ให้ดึงกำลังใจกลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออกใหม่
ให้ทุกท่านรักษาอานาปานสติคือ การกำหนดสติรับรู้ ตามรู้ถึงลมหายใจเข้าออกเอาไว้ดังนี้ พร้อมกับใช้คำภาวนาหรือพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินเสียงสัญญานบอกว่าหมดเวลา
พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันศุกร์ที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-10-2010 เมื่อ 01:10
|