๘. สันตติภายนอกก็ดี สันตติภายในก็ดี จักต้องอาศัยจิตมีสติ-สัมปชัญญะ กำหนดรู้ว่าเหตุใดเป็นปัจจัยให้เกิด เหตุใดเป็นปัจจัยให้ดับ มิฉะนั้นก็จักตัดสันตติเหล่านั้นมิได้ อย่างเช่น การเคลื่อนไหวในอิริยาบถ ๔ เจ้าก็พึงกำหนดรู้ว่า การเคลื่อนไหวนั้น ๆ จักต้องมีเป็นปกติของอิริยาบถทั้ง ๔ จักยืน เดิน นั่ง นอนด้วยอิริยาบถเดียวมิได้ ร่างกายหรือสันตติภายนอก จักต้องทำงานตามสันตติของโลก หรือเมื่อขันธ์ ๕ คน สัตว์ วัตถุธาตุเกิดขึ้นมาแล้ว จักห้ามไม่ให้เสื่อม-ดับตามสันตติก็ห้ามไม่ได้ ฉันนี้ฉันใด สันตติภายในก็เช่นกัน
๙. หากจิตยังมีการเสวยอารมณ์อยู่ จักต้องรู้เหตุที่ทำให้เสวยอารมณ์นั้น โมหะ โทสะ ราคะจรเข้ามาในจิต จักต้องกำหนดรู้ และอารมณ์เหล่านั้นย่อมเกิด ๆ ดับ ๆ หากไม่กำหนดรู้จิตก็จักทำงานต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสาย ความคิดที่จักหยุดยั้งอารมณ์ที่เบียดเบียนจิตอยู่นั้นก็ไม่มี เพราะไม่รู้เท่าทันกิเลส คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์ จิตจึงทำร้ายตนเองไปในสันตติภายในนั้นอย่างไม่รู้เท่าทัน
๑๐. การเจริญอานาปานุสติ ทำให้จิตมีกำลัง การกำหนดรู้สภาวะของร่างกายให้อยู่ในมรณะสัญญา กายคตาธาตุ ๔ หรืออสุภสัญญา จึงยังให้สติ-สัมปชัญญะสมบูรณ์ เท่ากับสร้างความไม่ประมาทให้เกิดแก่จิต เพราะทราบชัดว่าร่างกายนี้ตายแน่ จึงเท่ากับเห็นสันตติภายนอก และจากการศึกษาโทษของการละเมิดศีล กรรมบถ ๑๐ ประการ เห็นโทษของกฎของกรรม อันเมื่อร่างกายตายแล้วกฎของกรรมเหล่านั้น จักส่งผลให้จิตที่เสวยอารมณ์โมหะ โทสะ ราคะนั้นไปไหน จุดนี้ตถาคตจักไม่แยกกรรมดีหรือกรรมชั่ว เพราะอารมณ์ติดดีหรือติดเลว ก็ล้วนแต่ส่งผลให้จิตต้องโคจรไปตามภพภูมิที่ต้องจุติอยู่เสมอ กล่าวคือไตรภูมินั้นไม่เที่ยง ยังตกอยู่ในสันตติ คือ เคลื่อนไปมิได้ขาดสาย จึงจักขอกล่าวรวมเป็นอาการของความไม่รู้เท่าทันในสันตติภายใน คือ จิตไม่รู้เท่าทันในอารมณ์โมหะ โทสะ ราคะ ที่เกิดดับอยู่ในจิตนี้
|