๔. สำหรับปัญหาของคุณหมอนั้น คำว่าสันตติมี ๒ อย่าง ใช่ไหม? ตถาคตจักตอบว่า ใช่ คือ สันตติภายนอกกับสันตติภายใน ขันธ์ ๕ ไม่ว่าของตน ของบุคคล ของสัตว์ วัตถุธาตุใด ๆ นี่จัดว่าเป็นสันตติภายนอก ซึ่งทำงานสืบเนื่องกันอยู่มิได้ขาดสาย เป็นปกติของธรรมสันตติภายนอกนี้ สำหรับสันตติภายในคือ อารมณ์ของจิต ซึ่งเกิดดับอยู่ตลอดเวลา
เนื่องด้วยปุถุชนคนหนาแน่นไปด้วยกิเลส ไม่รู้การเกิดดับของอารมณ์ เนื่องด้วยประมาทในอารมณ์ ขาดสติ-สัมปชัญญะ กำหนดรู้อารมณ์ที่เกิด ๆ ดับ ๆ นั้น โดยมีความหลงเป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องมาจากความประมาทในชีวิต คิดว่าตนเองจักไม่ตาย
คำว่าตายในที่นี้หมายถึงความยึดมั่นถือมั่นว่า ร่างกายนี้มีในตน ตนมีในร่างกาย จึงแยกจิตกับร่างกายให้ออกจากกันมิได้ มีความใฝ่ฝันว่าร่างกายนั้นไม่ตาย และไม่เชื่อในกฎของกรรมจึงถูกกิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรมเข้าบงการอยู่ในอารมณ์ของจิต ยังอารมณ์ของจิตให้เกิด ๆ ดับ ๆ อยู่ในอาการของโมหะ โทสะ ราคะนั้น ประดุจหนึ่งบุคคลผู้มีร่างกายพลัดตกอยู่ในกระแสน้ำวนนั้น
๕. สันตติภายนอกนั้นแก้ไขไม่ได้ เป็นธรรมปกติของโลก แต่สันตติภายในนั้น แก้ไขได้ด้วยการกำหนดรู้ตามหลักพระธรรมคำสั่งสอนของตถาคต หรือพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ที่สืบพระพุทธศาสนาต่อ ๆ กันมา โดยการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ให้จิตมีสติ สัมปชัญญะระลึกได้อยู่ถึงมรณสัญญาอยู่เสมอ รู้ถึงทุกข์อันเกิดเนื่องมาจากสันตติภายนอก รู้ทุกข์อันจิตเสวยอารมณ์ อันเป็นสันตติภายใน เห็นอารมณ์ในขณะจิตนั้น ๆ ด้วยฐานอันมีสติ-สัมปชัญญะ ที่เกิดจากอานาปานั้น และรู้ด้วยมีสติ-สัมปชัญญะ ที่เกิดจากการพิจารณาสันตติภายนอกนั้น ปัญญาเกิดจากจุดนี้
๖. ที่ว่า ปัญญาเกิดจากจุดนี้ กล่าวคือ รู้แยกร่างกายที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลาว่าไม่ใช่มีในตน ตนไม่มีในร่างกาย ความทุกข์จากสันตติภายนอกไม่มีผู้ใดบังคับได้ สันตตินั้นเที่ยงอยู่เยี่ยงนั้นเป็นปกติ เมื่อรู้ว่าร่างกายไม่ใช่ตน ไม่มีในตน ตนไม่มีในร่างกาย ก็สามารถแยกจิตออกมาโดยปัญญานั้น
๗. จิตนี่แหละที่เป็นตน มีในตน จึงสามารถแยกเวทนาที่เกิดกับจิต หรือสันตติภายในได้โดยแยบยล เป็นทางลัดตัดตรงชำระอารมณ์ของจิตให้ผ่องใส นำให้หลุดจากอาสวะกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน เข้าถึงมรรคผลนิพพานได้ในที่สุด
|