พระใบลานเปล่า
พระใบลานเปล่า
กับสันตติภายนอกและสันตติภายใน
เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ ต.ค. ๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปฐมทรงพระเมตตาตรัสสอนไว้ ดังนี้
๑. “เรื่องท่านพระใบลานเปล่า ท่านละมานะกิเลสได้ก่อน จึงจะบรรลุมรรคผล เพราะมานะกิเลสคือตัวยึดมั่นถือมั่น คิดหลงผิดว่าตนเองดีแล้ว รอบรู้ในพระไตรปิฏก อารมณ์นี้คือสักกายทิฏฐิ คิดทะนงตนว่ารู้มาก จึงเสมือนหนึ่งจิตที่ลืมตัวลืมตน คิดว่าตนเองดีแล้ว จุดนี้แหละที่บดบังความดีให้สูญหาย เป็นเหตุให้บรรลุมรรคผลมิได้”
๒. “บุคคลผู้ติดในสัญญา คือ ความจำอันเป็นปัญญาทางโลก มีความประมาทหลงคิดว่ามีปัญญาเป็นเลิศ สัญญาจึงบดบังปัญญา แต่เมื่อสมเด็จองค์ปัจจุบันทรงสะกิดให้ ท่านทราบว่าความดีของท่านนั้นเป็นเพียงแค่สัญญา ความจำในพระไตรปิฏก หาใช่ความดีอันเป็นปัญญาในธรรมวินัยไม่ อาศัยท่านมีสัมมาทิฏฐิอยู่บ้าง กล่าวคือ ไม่ดัดแปลงพระไตรปิฏก จึงฉุกคิดถึงข้อเสียแห่งตนได้ เมื่อจิตมุ่งดีตั้งใจหาผู้ช่วยชี้แนะให้ทำลายกิเลสคือ ความยึดมั่นถือมั่นว่าตนเองดีแล้วนั้น จนสักกายทิฏฐิผ่อนคลายลงแล้วคือ ตัวถือดีหายไป จิตมีกำลังแล้ว เณรผู้เป็นพระมหาเถระจึงเทศน์โดยอรรถอุปมาอุปไมย (สอนวิธีจับเหี้ยให้ว่า เหี้ยมันเข้าออกรูอยู่ ๖ รู ถ้าจะจับมันให้อุดรูเสีย ๕ รู เหลือไว้แค่รูเดียวก็จะจับเหี้ยได้ ท่านเคยเก่งปริยัติ ก็เข้าใจในความหมายเจริญกรรมฐานที่ทวารใจอย่างเดียว พระพุทธเจ้าก็ทรงสงเคราะห์โดยส่งฉัพพรรณรังสีมาปรากฏตรงหน้า สอนว่าปิดอายตนะ ๕ เสีย เหลือแต่ทวารใจ แล้วพิจารณากายคตานุสติ ท่านก็ปฏิบัติตาม จึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุด) พระใบลานเปล่าท่านเก่งปริยัติอยู่แล้ว ก็เข้าใจในอรรถนั้น จึงพิจารณาเป็นปัญญาเข้าถึงธรรมวิมุติได้”
๓. “จุดนี้แหละเจ้า จงอย่าลืมตน หากผู้ปฏิบัติธรรมยังไม่ถึงที่สุดของความดี คือ พระนิพพาน จงอย่าคิดว่าตนเองมีความดี จักเป็นมานะกิเลสคือ จิตเต็มไปด้วยการยึดในสักกายทิฏฐินั่นเอง”
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2010 เมื่อ 12:40
|