สำหรับวันนี้ก็ขอกล่าวถึงสังโยชน์อีก ๒ ข้อต่อไป ก็คือ กามราคะและปฏิฆะ ในตัวกามราคะนั้น ดังที่กล่าวแล้วว่าเป็นตัวเดียวกับกามฉันทะของนิวรณ์ ๕ นั่นเอง แต่ในที่นี้เราหมายเอาชัดเจนว่าเป็นอารมณ์ทางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มีขึ้น ที่เกิดขึ้นกับตัวเรา
เพราะว่าราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นสมบัติของร่างกาย ตราบใดที่เรายังอาศัยร่างกายนี้อยู่ ก็จะมีพวกนี้เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยเป็นปกติ เพียงแต่ว่าในเบื้องต้นนั้น เราต้องใช้กำลังของสมาธิกดราคะ กดโลภะ กดโทสะ กดโมหะให้สงบลงชั่วคราว แล้วเราจะเห็นหนทางว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้จิตของเราผ่องใส ปราศจากสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ได้
อย่างเช่นถ้าปัญญาเกิด มองเห็นแล้ว ไม่ไปนึกคิดปรุงแต่งต่อ เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่น ได้รสสักแต่ว่าได้รส สัมผัสสักแต่ว่าสัมผัส ไม่เอาใจไปครุ่นคิด รัก โลภ โกรธ หลง ก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้
ดังนั้น ในการที่เราจะละตัวกามราคะ อันดับแรก สมาธิต้องทรงตัว อย่างน้อยต้องทรงตัวในระดับปฐมฌานละเอียด เพื่อที่จะได้กดสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ให้ดับลงชั่วคราว แล้วหลังจากนั้นค่อยมาพิจารณาให้เห็นทุกข์เห็นโทษในเรื่องของกามราคะ เกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ถอนความยินดีและพอใจออกเสีย
เพราะว่าตัวกามราคะนั้นเป็นตัวก่อให้เกิดขึ้นมา การเกิดขึ้นมาไม่ว่าจะเกิดในลักษณะใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ จะเป็นหญิงเป็นชายก็ตาม ล้วนแล้วแต่เกิดมาบนกองทุกข์ทั้งสิ้น เมื่อเราเห็นโทษ ตั้งใจจะละ จะวาง ก็ต้องพยายามสร้างกำลังใจของเราให้เข้มแข็งยิ่่งขึ้น ให้สมาธิทรงตัวยิ่งขึ้น เพื่อจะได้ระงับยับยั้งกำลังของราคะได้ทันท่วงที
หาไม่แล้วราคะที่มีกำลังมากกว่า ก็จะท่วมทับจิตใจของเรา จนกระทั่งไม่สามารถที่จะปฏิบัติภาวนาอย่างที่้้ต้องการได้
เคยมีพระเณรถามอาตมาว่า ทำไมต้องรีบตื่นขึ้นมาภาวนาตั้งแต่ตีสองตีสาม ก็บอกกับท่านว่าให้เราตื่นก่อนกิเลส ถ้ากิเลสตื่นก่อนเราจะเดือดร้อนทั้งวัน คำว่ากิเลสในที่นี้แทบจะหมายเอากามราคะเป็นใหญ่
ถ้าเราสามารถลุกขึ้นมาภาวนาจนอารมณ์ใจทรงตัวเสียก่อน ตัวกามราคะก็จะโดนอำนาจของสมาธิกด..ยับยั้ง..ให้โทรม..ให้ดับลงไปชั่วคราว เราก็จะมีความสุขเยือกเย็นได้ทั้งวัน
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 10-08-2010 เมื่อ 16:51
|