เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๓
ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า กำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกของเรา หายใจเข้า..กำหนดความรู้สึกไหลตามลมเข้าไป..พร้อมกับคำภาวนา หายใจออก..กำหนดความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา..พร้อมกับคำภาวนา ถ้าหากไปนึกคิดถึงเรื่องอื่น รู้ตัวเมื่อไรให้ดึงกลับเข้ามาอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกของเราทันที
วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๓ เป็นวันแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงการปฏิบัติธรรมของเราทางเว็บไซต์วัดท่าขนุน เพื่อเป็นโอกาสแก่ญาติโยมทั้งหลายที่อยู่ทางบ้าน จะได้ปฏิบัติพร้อมกันไปด้วย
เมื่อครู่นี้ได้กล่าวแล้วว่า ในสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่สงบเรียบร้อยนี้ สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่เท่าไร เรายิ่งจำเป็นต้องมีสติสัมปชัญญะมากเท่านั้น ยิ่งจำเป็นต้องมีกำลังใจที่เข้มเข็งมากเท่านั้น การที่เราจะสร้างสติสัมปชัญญะและสร้างกำลังใจให้เข้มแข็งนั้น ที่สำคัญที่สุดก็คือการระลึกถึงลมหายใจเข้าออก หรือว่าอานาปานสติ การตามรู้ลมหายใจเข้าออกนั่นเอง
การที่เรากำหนดความรู้สึกอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกนั้น เป็นการผูกจิตของเราเอาไว้ ไม่ให้ส่งส่ายไปในเรื่องอื่น ท่านเปรียบไว้ว่า จิตของเรานั้นซนมากเหมือนกับลิงตัวหนึ่ง ถ้าเราปล่อยโดยปราศจากการผูกมัด ลิงตัวนี้ก็จะกระโดดโลดเต้นไปในสถานที่ที่มันชอบใจ ไม่ยอมอยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่ยอมรับการฝึกหัดต่าง ๆ จึงจำเป็นที่เราจะต้องผูกมัดเอาไว้กับหลัก หลักและเส้นเชือกนั้นก็คือลมหายใจเข้าออก คืออานาปานสตินี่เอง
อานาปานสติ หรือว่าลมหายใจเข้าออกนี้เป็นกรรมฐานใหญ่ เป็นพื้นฐานของกรรมฐานทั้งปวง บุคคลที่จะฝึกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นสมถกรรมฐานหรือว่าวิปัสสนากรรมฐานก็ตาม ถ้าหากว่าขาดอานาปานสติ จะไม่มีทางประสบความสำเร็จในการปฏิบัติได้เลย อารมณ์ปฏิบัติของเขา อย่างเก่งก็จะสุดอยู่แค่อุปจารสมาธิ อุปจารฌาน หรือว่าปฐมฌานอย่างหยาบเท่านั้น แล้วก็จะสลายคลายตัวไปโดยง่าย
ดังนั้น..จึงจำเป็นที่ทุกท่านจะต้องสละเวลาในแต่ละวัน จะเป็นเวลาเช้าหลังจากตื่นนอนแล้วก็ดี หรือว่าเวลาค่ำหลังจากเสร็จธุระกิจการงานต่าง ๆ แล้วก็ดี มาประพฤติปฏิบัติโดยการนั่งสมาธิภาวนา กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกของตนเอง เพื่อสร้างสติสมาธิของเราให้มั่นคงให้แนบแน่นยิ่งขึ้น จนกระทั่งสามารถทรงเป็นอัปปนาสมาธิ คือตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป แล้วพยายามรักษาอารมณ์ฌานนั้นไว้ ซักซ้อมการเข้าออกให้คล่องตัว เพื่อที่เราจะได้อาศัยกำลังของฌานสมาบัตินั้น ส่งผลให้เราเป็นผู้ที่มีสติสมาธิที่ทรงตัว มีกำลังใจที่เข้มแข็ง สามารถใช้งานได้ทั้งในทางโลกและทางธรรม
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 20-04-2010 เมื่อ 03:36
|