เรื่องของการปฏิบัติธรรม ถ้าเราคลายอารมณ์มาพิจารณาไม่เป็น จะเหมือนกับเราเป่าลูกโป่ง มีแต่จะตึงมากขึ้น ๆ จนท้ายที่สุดใครซวยมาสะกิดในจังหวะสุดท้าย ก็ระเบิดตูมใส่เขา เป็นเรื่องที่นักปฏิบัติในระยะต้น ๆ ต้องระมัดระวังให้ดี ไม่อย่างนั้นแล้วคนเขาจะดูถูกดูแคลนว่า "เป็นนักปฏิบัติภาษาอะไร ทำไมระงับอารมณ์ไม่เป็น ?"
เนื่องเพราะว่าสมาธิภาวนาเมื่อทำไปจนสุดแล้ว จะเหมือนชาร์จแบตเตอรี่เต็ม สภาพจิตจะถอยออกมาเองโดยอัตโนมัติ เราต้องหาวิปัสสนาญาณมาให้พินิจพิจารณา เป็นการใช้กำลังสมาธิที่เราสั่งสมไว้ให้เป็นประโยชน์ เมื่อพิจารณาไปจนกำลังหมด จิตเราก็จะวิ่งไปหาการภาวนา เราก็ภาวนาไปจนเต็มที่ แล้วคลายมาพิจารณาใหม่ ทำสลับไปสลับมาอย่างนี้จึงจะมีความก้าวหน้า
ถ้าเราภาวนาอย่างเดียวแล้วพิจารณาไม่เป็น ถึงเวลาสภาพจิตคลายออกมาเมื่อไร เราจะโดนกิเลสขโมยกำลังไปใช้ ก็คือจะไปฟุ้งซ่านกับรัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งจะฟุ้งได้แรงมากเพราะว่ามีกำลังดี ที่ได้จากที่เราทำสมาธิมา แล้วก็อยู่ในลักษณะเอาไม่อยู่ ก็คือฟุ้งซ่านจนกระทั่งบางคนหงุดหงิดรำคาญเลิกปฏิบัติธรรมไปเลย
จึงเป็นเรื่องที่นักปฏิบัติธรรมต้องสังวรระวังไว้ว่า ภาวนาแล้วต้องพิจารณา พิจารณาแล้วต้องภาวนา จะทำเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ เพราะว่าเราไม่เก่งพอ
เมื่อประมาณสองอาทิตย์ที่ผ่านมา มีโยมท่านหนึ่งบอกว่า "ตอนนี้สมาธิแย่มาก ไม่สามารถที่จะพิจารณาอะไรได้เลย ฟุ้งซ่านตลอด" จึงได้ถามไปว่า "คุณปฏิบัติแบบไหน ?" เขาบอกว่า "จับลมหายใจ ๒ - ๓ ครั้งแล้วก็พิจารณา" จึงตอบเขาไปว่า "คุณทำแบบนั้นก็ฟุ้งซ่านทั้งชาติ เพราะว่ากำลังสมาธิไม่พอ เหมือนคนหาเงินได้ ๒๐ บาท แล้วกูก็ใช้เสีย ๕๐๐ หรือ ๑,๐๐๐ บาท มีแต่เจ๊งตลอด..!"
เพราะลักษณะแบบนั้นก็คือการใช้วิปัสสนาญาณเป็นหลัก ถ้าปัญญาเราไม่มากพอจริง ๆ จนสภาพจิตยอมรับในสิ่งที่พิจารณาไปเลย ก็จะออกอาการฟุ้งซ่านแบบนั้น หรือถ้าหากว่าเราเอาแต่ภาวนาอย่างเดียว แล้วกำลังไม่สามารถจะยั่งยืนถึงขนาดกดกิเลสไว้เป็น ๑๐ เป็น ๑๐๐ ปี กิเลสก็ไม่ตาย กิเลสรอเวลา เราเผลอหลุดออกมาเมื่อไรก็โดนกิเลสตีอีก
ก็แปลว่าที่พวกเราทำมาทั้งหมด ถูกบ้างผิดบ้าง ตามแต่ความเชื่อถือของตน บางคนครูบาอาจารย์บอกก็ไม่เชื่อ..ขอทำเอง..ลักษณะแบบนี้ดีมาก คือให้โดนให้เข็ดจะได้จำ..!
ลำดับต่อไปพวกเราก็ตั้งใจสมาทานพระกรรมฐานจะได้เข้าสู่การปฏิบัติธรรมต่อไป
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
|